Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 1เม.ย.48 "มหกกรรมห้องเรียนชุมชน" จัดโดยวิทยาลัยการจัดการทางสังคม(วจส.) ได้ฤกษ์เปิดตัวเป็นวันแรก พร้อมจัดเวทีเสวนา "การศึกษาไทยตายแล้ว?" ณ สำนักพิพิธภัณฑ์และวัฒนธรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ศ. เสน่ห์ จามริก ชี้ว่า การศึกษาในระบบปัจจุบันกำลังเดินมาอย่างผิดทางจากเป้าหมายและความคาดหวังในอดีต ช่วงยุคก่อน 14 ตุลา 2516 นั้น การศึกษาเป็นสิ่งที่นักวิชาการการศึกษากลุ่มหนึ่งตั้งใจที่ปฏิรูปให้เป็นการศึกษา "เพื่อชีวิตและสังคม" แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา ระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจแบบเสรีนิยม หรือจักรวรรดินิยมในอีกรูปแบบหนึ่ง การศึกษาก็ได้รับผลกระทบด้วย

"ช่วงเวลานี้เองสิ่งที่นักวิชาการปัญญาชนคิดเพื่อเป็นเศรษฐกิจที่เขายัดเยียดมาให้ ไม่ได้เป็นการศึกษาที่สร้างขึ้นเพื่อชีวิตหรือสังคมอีกแล้ว การศึกษาเหมือนกับได้ตายไปจากชีวิต ตายไปจากการเป็นสถาบันของสังคมและ กำลังจะกลายเป็นองค์กรธุรกิจ ความเจริญทางเทคโนโลยีทำให้เกิดความเจริญเติบโตของกลุ่มธุรกิจข้ามชาติ เข้าสู่กระแสโลกาภิวัตรเต็มตัว การศึกษาปัจจุบันเป็นการทำลายฐานภูมิปัญญาของเรา" ศ.เสน่ห์กล่าว

ด้าน รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม ขยายความต่อว่า คนที่ทำให้การศึกษาตายก็คือพวกนักการศึกษา รวมทั้งกระทรวงศึกษาเอง เพราะไม่มีการกล่าวถึงมุมมองเรื่องของมนุษย์ ทั้งที่การศึกษาต้องเป็นสิ่งที่นำมารักษาความเป็นกลุ่มของมนุษย์ ต้องปล่อยให้ท้องถิ่นเข้มแข็งและดูแลตัวเอง แต่ปัจจุบันท้องถิ่นดูแลตัวเองไม่ได้เลย การศึกษาปัจจุบันเน้นไปทางการรองรับเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเพียงด้านเดียว ในอนาคตถ้ไม่ฟื้นการศึกษา คนไทยจะกลายเป็นทาส การศึกษาจะผลิตคนเพื่อรับใช้อุตสาหกรรม

"ภูมิปัญญาชาวบ้านมีเบื้องหลัง มีการถ่ายทอด ความรู้ปัจจุบันทำให้โง่ อัตตาแรง ดูถูกคนอื่น คนโบราณเขาจะสร้างความรู้จนเป็นอัตลักษณ์ อัตตากับอัตลักษณ์ต่างกัน อย่ามองว่าเด็กหรือครูเป็นศูนย์กลาง ต้องมองว่ามีวัตถุประสงค์ร่วมกัน เพื่อศึกษาร่วมกัน เป็นการสร้างกลุ่มที่เรียกว่าบูรณาการ กระทรวงศึกษาทำให้คนมีอัตตา การศึกษาต้องลดอัตตา" รศ. ศรีศักรกล่าว

ดร.เสรี พงศ์พิศ มองว่า การศึกษาไทยไม่ได้สอนให้ภูมิใจในรากเหง้าของตนเอง ไม่ภูมิใจในท้องถิ่น ซึ่งปัญหานี้สามารถเชื่อมร้อยไปได้ถึงสมัยยุคล่าอาณานิคม เจ้าอาณานิคมจะต้องทำลายอดีตของคนที่จะเข้าไปยึดครองก่อน เมื่อไม่รู้อดีตก็จะสามารถกำหนดอนาคตให้ใหม่ตามที่เขาอยากให้เป็นได้ง่าย ปัจจุบันทุนก็กำลังเข้ามาทำลายอดีต เพื่อที่เขาจะเข้ามาบอกเราใหม่ได้ว่าเราเป็นใคร และเราควรทำอะไร

ดร.เสรี กล่าวถึงความหลากหลายทางความรู้ว่า การศึกษาปัจจุบันสอนให้คนตอบมากกว่าถาม จำมากกว่าคิด ทำให้เด็กคิดได้แบบเดียว และทำเป็นแบบเดียว ไม่มีความรู้นอกเหนือจากในโรงเรียน เช่นในชุมชนมีความรู้หลากหลาย จึงต้องทำให้ชุมชนกลายเป็นโรงเรียนเพื่อรู้จักกับชีวิตจริงที่หลากหลาย

"ปัจจุบันต้องการแค่ปริญญา ผลิตคนเยอะๆแต่ตกงาน จะกลับมาทำอาชีพแบบพ่อแม่ก็ไม่เป็นเพราะ รู้จักแต่เรียน เหมือนกับไก่ ซีพีที่เลี้ยงมาถึงเวลาก็ให้อาหารตลอด อยู่แต่ในฟาร์ม ไก่พวกนี้หากลองจับมาอยู่ตัวเดียวข้างนอกฟาร์มตัวจะสั่นเพราะทำอะไรไม่ถูก ดูแลตัวเองไม่ได้" ดร.เสรีกล่าว

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net