Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ช่วงเวลานี้ นอกจากข่าวเศรษฐกิจแล้ว ประชาชนยังให้ความสนใจข่าวเกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่อาจก่อให้เกิดคลื่นทะเลหรือคลื่นซึนามิ (Tsunami) ในทะเลอันดามันอีกด้วย สังเกตได้จากสื่อต่าง ๆ ที่นำเสนอเรื่องราวดังกล่าวทั่วไป

ผู้เขียนฐานะที่อยู่ในวงการแผ่นดินไหวมาตลอดชีวิตการทำงานของผู้เขียน มีความเห็นอย่างบริสุทธิ์ใจ ว่าข้อมูลที่ท่านสมิทธ ธรรมสโรช นำเสนอในห้วงเวลาที่ผ่านมานั้น ถือว่าเป็นคุณูปการยิ่งต่อสังคมในแง่เป็นการให้ความรู้ (to educate) และให้สติ (to warn) สังคม ว่าปรากฏการณ์ธรรมชาติ ที่เรียกว่าคลื่นทะเลจากแผ่นดินไหว หรือคลื่นซึนามิหรือคลื่นซูนามินั้นมีอยู่ และอาจส่งผลกระทบต่อพี่น้องประชาชนก็ได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ เห็นทีจะต้องนำเสนอข้อมูลทางวิชาการ เพื่อเป็นหลักฐานสนับสนุนความคิดดังกล่าวดังนี้

1. ได้มีนักวิชาการด้านแผ่นดินไหวชื่อ Markus Bath เขียนตำราไว้เมื่อค.ศ. 1979 เรื่อง "Introduction to Seismology" (วิชาแผ่นดินไหวเบื้องต้น) กล่าวไว้ในหน้า 113 ว่า
"Tsunamis or seismic sea waves may arise because of earthquakes near an ocean bottom. It seems probable that only very shallow earthquakes give rise to tsunamis."
ถอดความเป็นภาษาไทยได้ว่า "เจ้าซึนามิ หรือคลื่นทะเลนั้นอาจเกิดขึ้นได้จากแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางใกล้กับพื้นมหาสมุทรหรือกล่าวได้ว่า คลื่นซึนามิอาจเกิดขึ้นได้จากแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางอยู่ในระดับตื้นมากเท่านั้น"

2. ทีนี้เรามาดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น นั่นคือแผ่นดินไหวที่นอกชายฝั่งด้านเหนือของเกาะปาปัวนิวกินีที่ก่อให้เกิดคลื่นมหาประลัยดังกล่าว ทำให้พี่น้องร่วมโลกของเราสังเวยชีวิตไปกับคลื่นยักษ์นั้นนับพันคนโดยเฉพาะเด็ก ๆ ทราบว่ารัฐบาลไทยได้ให้ความช่วยเหลือเพื่อนของเราคิดเป็นมูลค่านับล้านบาท
ข้อมูลทางเทคนิคของเหตุการณ์นี้ สามารถสืบค้นได้จาก web site ของหน่วยสำรวจธรณีวิทยา ประเทศสหรัฐอเมริกา (United States Geological Survey: USGS) ที่http://www.iris.washington.edu/cgi-bin/finger?spyder@iris.washington.edu

ถ่ายทอดข้อมูลภาษาไทยได้ดังนี้
"เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่นอกชายฝั่งประเทศปาปัวนิวกินี เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 เวลา 08.49 น. (เวลาสากล) หรือเวลา 15.49 น. (เวลาประเทศไทย) มีศูนย์กลางอยู่ที่พิกัด 3.08 องศาใต้ 141.76 องศาตะวันออก มีความลึก 33 กิโลเมตร วัดขนาดได้ 7.0 ริคเตอร์"

เห็นได้ว่า แผ่นดินไหวครั้งนั้นจัดเป็นแผ่นดินไหวระดับตื้น (ไม่เกิน 70 กิโลเมตร) จึงก่อให้เกิดคลื่น
ซึนามิขึ้นได้ อันเป็นไปตามคำจำกัดความของ Bath (ข้อ 1)

3. คราวนี้เราวกมาพิจารณาเหตุการณ์บริเวณทะเลอันดามันกันบ้าง ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจก่อนว่า คลื่นซึนามิจะเกิดขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง? คำตอบคือ

ก. ต้องมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในทะเล (ไม่จำเป็นต้องเกิดจากกลไกของรอยเลื่อนแบบปะทะในแนวระนาบ หรือแนวดิ่ง) หมายความว่า ถ้าสั่นสะเทือนพื้นทะเลเป็นอันใช้ได้ เปรียบได้กับยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม ไม่จำเป็นว่าแก้วต้องขนานหรือตั้งฉากกับพื้น เป็นอันว่าน้ำในแก้วกระฉอกแน่นอน

ข. แผ่นดินไหวนั้นเป็นแผ่นดินไหวตื้น (ความลึกไม่เกิน 70 กิโลเมตร) ที่ผ่านมาเราพบว่า แผ่น
ดินไหวส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ความลึก 33 กิโลเมตร (เช่น กรณีแผ่นดินไหวที่ปาปัวนิวกินี) จึงทำให้ความลึกระดับนี้มีชื่อทางวิชาการว่า "ความลึกปกติ" (normal depth) ดังนั้น ในกรณีที่สืบค้นข้อมูลย้อนไปในอดีต และไม่ได้ระบุความลึกไว้ จึงอนุมานได้ว่าน่าจะเกิดขึ้นที่ความลึกปกติ อันนี้เป็นข้อตกลงเบื้องต้นเว้นแต่จะระบุเป็นอย่างอื่น จากการสืบค้นข้อมูลแผ่นดินไหว ผู้เขียนพบว่าในเดือนสิงหาคมนี้ ยังมีแผ่นดินไหวรุนแรง (ขนาด 6.0 ริคเตอร์ขึ้นไป) เกิดขึ้นในทะเลอันดามัน ดังมีรายละเอียดดังนี้

"แผ่นดินไหวเกิดขึ้นบริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ (Nicobar Islands) ในทะเลอันดามัน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2541 เวลา 09.52 น. (เวลาสากล) หรือเวลา 16.52 น. (เวลาประเทศไทย) มีศูนย์กลางอยู่ที่พิกัด ละติจูด 7.47 องศาเหนือ ลองจิจูด 93.99 องศาตะวันออก มีความลึก 33 กิโลเมตร วัดขนาดได้ 6.0 ริคเตอร์" ข้อมูลนี้สืบค้นได้จาก web site ที่http://wwwneic.cr.usgs.gov/neis/bulletin/bulletin.html

4. ในการกำหนดระยะเวลาหนีคลื่นยักษ์ เราจำเป็นต้องทราบก่อนว่า แผ่นดินไหวนี้มีศูนย์กลาง อยู่ที่ไหน? (where) เกิดขึ้นเมื่อใด? (when) อันนี้เห็นทีจะต้องประสานกับผู้เขียน หรือสถานีตรวจแผ่น
ดินไหวมาตรฐาน (ตรวจวัดแผ่นดินไหวพร้อมกันทั้งสามมิติ) ซึ่งสามารถให้คำตอบเหล่านี้ได้ เมื่อทราบคำตอบแล้วเราจึงมาดูแผนที่ว่า บริเวณของศูนย์กลางแผ่นดินไหวนั้นน้ำทะเลลึกเท่าใด และจุดอ้างอิงที่ต้องการหานั้นอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวเท่าใด

เช่น สมมุติให้เหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2541 เป็นกรณีตัวอย่าง โดยกำหนดให้เกาะภูเก็ตเป็นจุดอ้างอิง เราได้ว่าเกาะภูเก็ตอยู่ห่างจากศูนย์กลางแผ่นดินไหวประมาณ 500 กิโลเมตร และน้ำทะเลบริเวณศูนย์กลางแผ่นดินไหวนั้นลึกประมาณ 2 กิโลเมตร เราพบว่าถ้าเกิดคลื่นซึนามิขึ้นจากแผ่นดินไหวดังกล่าว คลื่นจะเดินทางด้วยความเร็ว 140 เมตร/วินาที นั่นก็หมายความว่า ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณชายหาดของเกาะภูเก็ตมีเวลาตั้งหลักประมาณ 1 ชั่วโมง หากได้มีการเตรียมการไว้พร้อม

ผู้เขียนเชื่อว่าเราหนีคลื่นยักษ์ได้สบาย ๆ สิ่งนี้เป็นตัวอย่างแสดงให้เห็นว่า การให้ความรู้นั้นมีคุณ
ประโยชน์ต่อเราเพียงใด หากเรามีระบบเตือนภัยที่สมบูรณ์ มีเครื่องมือที่ทันสมัย และให้การศึกษาแก่ประชาชน ทำให้ได้รับความร่วมมือเช่นนี้แล้ว หากเกิดเหตุเภทภัยดังกล่าวขึ้นเมื่อใด ผู้เขียนมั่นใจว่า เราสามารถรักษาชีวิตพี่น้องของเราไว้ได้

อดิศร ฟุ้งขจร
หัวหน้าสถานีตรวจแผ่นดินไหวเชียงใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net