Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ- 4 เม.ย.48 วันที่ 4 เมษายน 2548 ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ศาลออกนั่งบัลลังก์สืบพยานโจทก์ในคดีนายนัจมุดดีน อูมา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนราธิวาส พรรคไทยรักไทย เป็นจำเลยที่ 1 และนายอารี หรือฮารีฟ โซ๊ะโก เป็นจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานเป็นกบฏแบ่งแยกดินแดน สะสมกำลังพลและอาวุธ ร่วมกันเป็นอั้งยี่ สมคบกันเป็นซ่องโจร และความผิดอื่นรวม 12 ข้อหา สืบเนื่องจากเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายกองพันทหารพัฒนาที่ 4 และเหตุการณ์ก่อความไม่สงบใน 3 จังวัดชายแดนภาคใต้

อัยการได้นำพล.ต.ต.ปัญญา เทียนศาสตร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ สรุปว่า พยานรับราชการในภาคใต้ตั้งแต่ปี 2517 ในการปะทะกับกองกำลังของขบวนการแบ่งแยกดินแดน เจ้าหน้าที่ได้พบเอกสารเกี่ยวกับการก่อการร้ายหลายฉบับ เขียนเป็นภาษายาวี ถึงนักการเมืองท้องถิ่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาในพื้นที่ มีเนื้อหาขอเงินสนับสนุนในการซื้ออาวุธปืน กระสุนปืน วิทยุสื่อสาร เครื่องแบบสีดำ นำไปใช้ในการปฏิบัติการก่อความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อมาขบวนการแบ่งแยกดินแดนได้เปลี่ยนแนวทางใหม่ เข้าไปแทรกแซงแฝงตัวเข้าไปในโรงเรียนตาดีกา โรงเรียนปอเนาะ ชมรมและมูลนิธิต่างๆ มีมูลนิธิเปอร์ซากา เป็นองค์กรนำ โดยมูลนิธิเหล่านี้มีวัตถุประสงค์แอบแฝง ให้ครูและนักเรียนก่อความไม่สงบ โดยมีเงินจากมูลนิธิสนับสนุน

พล.ต.ต.ปัญญา กล่าวต่อว่า จากนั้นขบวนการต่าง ๆ ได้รวมตัวกัน เรียกว่า เบอร์ซาตู มี ดร.กาเดร์ เจ๊ะมา เป็นประธาน ต่อมาขบวนการเบอร์ซาตูได้รวมตัวกับขบวนการมูจาฮีดีน อิสลามปัตตานี ก่อความไม่สงบตั้งแต่ปี 2544 เรื่อยมา และเริ่มปฏิบัติการปล้นอาวุธปืนของทางการเมื่อกลางปี 2545 โดยบุกเข้าปล้นอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่อุทยานบางลาง อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ได้ปืนไปประมาณ 40 กระบอก จากนั้นในเดือนเมษายน 2546 ขบวนการเบอร์ซาตูได้บุกโจมตีชุดทหารพัฒนา ที่อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส และอำเภอธารโต จังหวัดยะลา ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตหลายนาย ได้อาวุธปืนไป 40 กระบอก

พล.ต.ต. กล่าวอีกว่า สำหรับเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายทหารพัฒนาที่ 4 เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จากการสืบสวนทราบว่า กลุ่มที่ก่อเหตุเป็นกำลังผสมหลายกลุ่ม ทั้งจากขบวนการเบอร์ซาตู และกลุ่มเยาวชนกู้ชาติที่เป็นนักเรียนโรงเรียนปอเนาะ ใช้กำลังประมาณ 500 คน แต่งกายชุดดำ สวมหมวกไอ้โม่ง ได้อาวุธปืนไปเกือบ 400 กระบอก ทำให้ทหารเสียชีวิต 4 นาย โดยปฏิบัติการดังกล่าว มีการวางแผนเตรียมการล่วงหน้าเป็นอย่างดี มีการวางตะปูบนถนนหลายเส้นทาง และเผาโรงเรียนเบี่ยงเบนความสนใจ

"จากการเชิญนายมะแซ อุเซ็ง มาซักถาม ถึงความเชื่อมโยงของชมรมและมูลนิธิต่างๆ นายมะแซยอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปล้นปืน และจากการสืบสวนทราบว่า เงินทุนที่ใช้สนับสนุนการปฏิบัติการต่างๆ ได้มาจากการค้ายาเสพติด มีจำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องด้วย โดยมีพฤติการณ์ขนยาเสพติดจากภาคเหนือและภาคกลาง ผ่านภาคใต้ไปขายในมาเลเซีย เพื่อนำเงินมาใช้ก่อความไม่สงบ นอกจากนี้ ยังได้มาจากการขนสินค้าหนีภาษี และการค้าอาวุธสงคราม" พล.ต.ต.ปัญญา กล่าว

พล.ต.ต.ปัญญา กล่าวว่า จากการสืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษพบว่า มีครูของโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ จังหวัดยะลา หลายคนเข้าไปเกี่ยวข้อง จากการสอบสวนนายอนุพงศ์ พันธชยางกูร อดีตกำนันตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส และจำเลยคนอื่นๆ ให้การว่าก่อนปล้นปืนได้ไปประชุมวางแผนกันที่โรงเรียนสัมพันธ์วิทยา และบ้านของจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นประธานการประชุม นายอนุพงศ์ยังบอกอีกว่า หลังจากปล้นปืน มีพวกอีกชุดหนึ่ง นำปืนไปเก็บไว้ แต่ไม่ทราบเป็นใคร ต่อมาปลายปี 2547 เจ้าหน้าที่สามารถตรวจค้นพบปืนที่ถูกปล้นไป ได้ที่หลังบ้านครูสอนศาสนา และล่าสุดในวันเดียวกันนี้ พยานได้รับรายงานทางโทรศัพท์จากตำรวจว่า ยึดปืนได้อีก 2 กระบอก ที่บ้านครูสอนศาสนาในอำเภอเมืองนราธิวาส
สำหรับนายฮารีฟ จำเลยที่ 2 นั้น พล.ต.ต.ปัญญา เบิกความว่า นายฮารีฟมีรายชื่ออยู่ในบัญชีมือปืนที่ทางการจับตามอง และมีประวัติก่อเหตุยิงทหารที่อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และถูกจับกุม ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดนราธิวาสอีกคดีหนึ่ง โดยลูกชายกำนันอนุพงศ์ให้การยืนยันว่า นายฮารีฟนอกจากเป็นมือปืนแล้ว ยังมีส่วนร่วมในการปล้นปืน และนำอาวุธปืนไปเก็บด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net