Skip to main content
sharethis

"อย่ามายุ่งกับพวกเรา" เป็นวลีหนึ่งในบทสนทนาระหว่าง "เจษฎ์ โทณะวณิก" กับผู้แทนการค้าสหรัฐฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญา น่าสังเกตว่าประโยค "สุดโต่ง" แบบนี้ของนักกฎหมายของไทย อาจจะเป็นสัญญาณอันตรายสำหรับสังคมไทย ในการ " แลกเปลี่ยน" ผลประโยชน์กับสหรัฐครั้งนี้ ?

การพูดคุยนี้เกิดขึ้นอย่างไม่เป็นทางการวานนี้ (5 เม.ย.) โดยสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ อเมริกา (USTR) ได้เชิญกลุ่มต่างๆ ทั้งนักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญาและโทรคมนาคม รวมถึงผู้ประ กอบการด้านยา มาหารือเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหรัฐ ที่กำลังดำเนินอยู่ขณะนี้ (4-8 เม.ย.) ที่พัทยา

โดยเฉพาะประเด็นทรัพย์สินทางปัญญานั้นเป็นที่จับตามองอย่างมาก จนวานนี้เช่นกันที่ชาวบ้านจากเครือข่ายต่างๆ กว่า 1,500 คน ต้องยกขบวนมาถึงที่เจรจา เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องกับคณะเจรจาฝ่ายไทยให้นำประเด็นนี้ออกจากการเจรจา เนื่องจากจะกระทบกับราคายาและภาคเกษตรของไทยอย่างรุนแรง

ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา เป็นหนึ่งในบุคคลที่ USTR เชิญไปแสดงความคิดเห็น เขาจำกัดความการพูดคุยที่เกิดขึ้นว่า "คุยกันไม่รู้เรื่อง" เนื่องด้วยตัวแทนสหรัฐไม่ได้สนใจต่อข้อวิตกและข้อเสนอของนักวิชาการไทยอย่างจริงจัง อีกทั้งยังคงยืนยันจุดยืน เหตุผลของตนเอง โดยรายละเอียดที่คุยกันไม่รู้เรื่องมีอยู่หลายประเด็น

เรื่อง "ลิขสิทธิ์" ถือเป็นหนึ่งในความต้องการของสหรัฐในการเจราเอฟทีเอ ตัวแทนของสหรัฐยืนยันว่าการขยายเวลาคุ้มครองลิขสิทธิ์จาก 50 ปีเป็น 70 ปีนั้นจะเป็นผลดี โดยยกการศึกษาวิจัยที่เคยทำว่า การเพิ่มอายุการคุ้มครองทำให้คนทำธุรกิจได้ดีขึ้นและยาวนานขึ้น

"มันเป็นงานวิจัยของสหรัฐ ที่ทำในสหรัฐ ไม่ใช่ในประเทศไทยซึ่งหลายต่อหลายอย่างมันต่างกัน แต่เขาก็ยืนยันอย่างนั้นว่าศึกษาดีแล้ว" ดร.เจษฎ์กล่าว

ส่วนเรื่อง "สิทธิบัตร" ที่สหรัฐต้องการจะให้ขยายความคุ้มครองครอบคลุมถึงพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์นั้น ตัวแทนสหรัฐยืนกรานว่า เรื่องนี้จะทำให้ภาคการเกษตรของไทยก้าวหน้า เพราะเกษตรกรก็ย่อมอยากใช้ของดี ถ้าพัฒนาเองไม่ได้ ก็ต้องกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในประเทศด้วยการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตร

"เราอยากให้มีเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา เท่าที่กฎหมายของเรากำหนด แต่ไม่อยากให้มีสิทธิบัตร เพราะเงื่อนไขมันสูงเกินไป การจะได้สิทธิบัตรต้องมีเทคโนโลยีที่สูงมาก และไม่ต้องฝันว่าเราจะเอาเทคโนโลยีที่ต่ำกว่าไปขอรับความคุ้มครอง มันตามไม่ทันกันอยู่แล้ว" ดร.เจษฎ์ชี้แจงข้อกังวล

อย่างไรก็ดี เมื่อถามถึงความต้องการทั้งหมดของสหรัฐในด้านทรัพย์สินทางปัญญา ผู้แทนการค้าของสหรัฐก็ยืนยันว่ายังไม่ได้ร่างขึ้นมาแต่อย่างใด การมาเจรจาครั้งนี้เป็นการมารับฟังเพียงอย่างเดียว

"ถ้าเป็นแบบนี้ ผู้เจรจาคนไทยก็ไม่ควรจะเจรจากับเขา มันเป็นท่าทีแบบอเมริกัน มาฟังเราพูด เราก็พูดไปถ้าไม่พอใจฟังก็บอกให้เราหยุดพูดหมดเวลาแล้ว ฉันจะเอาแบบนี้" ดร.เจษฎ์กล่าว

เขาเล่าว่าการถกเถียงดำเนินไปโดยตัวแทนจากสหรัฐหยิบยกเหตุผลจากข้อตกลงต่างๆ และกฎหมายของสหรัฐมากมาย

"ผมบอกเขาไปว่า นี่จะบอกอะไรให้ อนุสัญญา ข้อตกลงต่างๆ มันมีเยอะ กฎหมายไทย กฎหมายอเมริกาก็มีเยอะ แต่สมองผมมีน้อย มาไล่เรียงอย่างนี้ผมจำไม่ได้หรอก แต่สิ่งที่อยากบอกคือ อย่ามายุ่งกับพวกเรา ตอนประเทศคุณกำลังพัฒนาไม่มีใครไปยุ่งกับพวกคุณ หรือต่อให้ยุ่ง ไปบอกให้ทำตามข้อตกลงต่างๆ คุณก็ไม่สนใจ ดังนั้น ควรปล่อยให้เรามีโอกาสพัฒนาตัวเราเอง" ดร.เจษฎ์กล่าว

ดร.เจษฎ์กล่าวด้วยว่า เพียงแค่ข้อตกลงทริปส์( TRIPs) ในองค์การการค้าโลก (WTO) นั้นก็เพียง พออยู่แล้วสำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดเรื่องนี้คงต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะตัดสินใจอย่างไร เพราะแม้คณะผู้เจรจาซึ่งเป็นข้าราชการ จะรับฟังความวิตกจากภาคประชาชน และเห็นมุมมองที่ไม่แตกต่างกันมาก แต่พวกเขาก็ชัดเจนว่าต้องทำตามนโยบายรัฐบาล

"แต่ถ้าพูดถึงสหรัฐ เขาไม่พออยู่แล้ว คำพูดของผู้เจรจาสหรัฐชัดเจนมากว่า มาตรฐานข้อตกลง ทริปส์นั้นต่ำไป และต้องการให้ทุกประเทศในโลกยกระดับสู่ ทริปส์พลัส(TRIPs PLUS)" ดร.เจษฎ์กล่าวทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net