Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 6 เม.ย.48 วานนี้ตัวแทนจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ได้นัดหารือนอกรอบเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ในการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหรัฐ จากทั้งผู้ประกอบการยา นักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญา และกิจการโทรคมนาคม

การหารือนอกรอบดังกล่าว เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่ตัวแทนคณะเจรจาของไทยและสหรัฐกำลังดำเนินการเจรจารอบที่ 3 ที่พัทยาในวันที่ 4-8 เม.ย.นี้ โดยไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเป็นครั้งแรก

น.ส.สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ที่ปรึกษาเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี-เอดส์แห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้ร่วมการหารือนอกรอบกล่าวว่า หัวหน้าฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญาของUSTR ได้ซักถามถึงข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาจากนักวิชาการและภาคประชาชน แต่ยืนยันว่าไม่สามารถรับปากได้ว่าจะไม่นำเรื่องสิทธิบัตรยาเข้าไปคุยในการเจรจาเอฟทีเอที่กำลังดำเนินอยู่ ขณะนี้ที่ช่วงเช้านั้นผู้แทนสหรัฐมีการหารือกับบริษัทยาข้ามชาติ 6 บริษัทในประเทศไทย

"เขาชี้แจงว่าถึงตอนนี้สหรัฐยังไม่มีร่างข้อเสนอเกี่ยวกับสิทธิบัตรเลย แต่ยืนยันว่าจะทำตามคำประกาศที่โดฮา เรื่องการเข้าถึงยาของประชาชน เขาบอกเขาตระหนักถึงเรื่องนี้ แต่ไม่บอกราย
ละเอียดว่าจะทำได้อย่างไร เราจึงยังกังวลใจเหมือนเดิม" น.ส.สุรีรัตน์กล่าว

น.ส.สุรีรัตน์ อธิบายถึงคำประกาศรอบโดฮาขององค์การการค้าโลก (WTO) ว่า คำประกาศดัง
กล่าวเปิดโอกาสให้รัฐและเอกชนของประเทศสมาชิกสามารถบังคับใช้สิทธิ และนำเข้าซ้อนยาที่จำเป็นต่อระบบสาธารณสุขของประเทศนั้นได้ แต่สหรัฐต้องการทำให้ข้อตกลงเอฟทีเอจำกัดสิทธิดังกล่าวให้เหลือเพียงรัฐเท่านั้นที่ทำได้ด้วย 2 เหตุผล คือ เกิดภาวะสงคราม และ เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งในเรื่องหลังนี้มีขั้นตอนพิสูจน์ที่ยุ่งยากมาก ข้อตกลงนี้จึงส่งผลกระทบให้ราคายาในประเทศกำลังพัฒนาสูงขึ้นมาก

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ นักวิชาการจากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) หนึ่งในนักวิชาการที่ร่วมหารือในประเด็นทรัพย์สินทางปัญญากับตัวแทนของสหรัฐกล่าวว่า สหรัฐรู้ว่าเรื่องสิทธิบัตรเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก จึงพยายามไม่ผูกมัดตัวเอง โดยบอกว่าตอนนี้ยังไม่ได้เตรียมข้อเสนออะไร แต่เราดูได้จากเอฟทีเอที่สหรัฐทำกับสิงคโปร์ ชิลี หรือโมร็อคโค ซึ่งมีความคล้ายกันถึง 90% และประเทศเหล่านี้มีการผูกขาดอุตสาหกรรมยา คอมพิวเตอร์ และการเกษตรเกิดขึ้น

"เรื่องสิทธิบัตรถือเป็นหัวใจสำคัญที่ผู้แทนการค้าสหรัฐ ได้รับมอบหมายมาจากรัฐสภาว่าในการเจรจากับประเทศใดก็ตามต้องยกระดับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้ทัดเทียมกับสหรัฐ" ดร.สมเกียรติกล่าว

เมื่อถามถึงเรื่องโทรคมนาคมที่ดร.สมเกียรติ ได้รับเชิญให้ไปแสดงความคิดเห็นต่อผู้แทนการค้าสหรัฐด้วยนั้น ดร.สมเกียรติกล่าวว่า เป็นเพียงการไปซักถามรายละเอียดเชิงเทคนิคที่ปรากฏในเอฟทีเอสหรัฐ-สิงคโปร์

"ที่ผมห่วงคือกลัวเขาจะไม่เปิดเสรีโทรคมนาคม ซึ่งก็น่าจะรู้ว่าเพราะอะไร การเปิดเสรีด้านนี้คนไทยจะได้ประโยชน์" ดร.สมเกียรติกล่าว

ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักกฎหมายด้านทรัพย์สินทางปัญญาอีกคนหนึ่งที่ร่วมหารือกล่าวว่า การพูดคุยครั้งนี้อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเพียงการหยั่งกำลังของกลุ่มคัดค้านในประเทศไทย เนื่องจากนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องเสนอทุกอย่างที่เคยเสนอ แต่ตัวแทนสหรัฐยังคงยืนยันความต้องการต่างๆ ของสหรัฐ อาทิ การเพิ่มเวลาการคุ้มครองลิขสิทธิ์จาก 50 ปีเป็น 70 ปี และขยายความคุ้ม ครองสิทธิบัตรให้ครอบคลุมพืชและสัตว์ เรื่องนี้จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลไทยว่าจะฟังเสียงของประชาชนหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net