Skip to main content
sharethis

ชลบุรี- 8 เม.ย.48 วันสุดท้ายของการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA)ไทย-สหรัฐ ในรอบที่ 3 เวลาประมาณ 16.00 น. ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา นายนิตย์ พิบูลสงครามหัวหน้าคณะ เจรจาของไทย และนางบาร์บาร่า ไวเซล (Ms.Barbara Weisel) ผู้ช่วยหัวหน้าคณะเจรจาผู้แทนการค้า สหรัฐฯ ได้ร่วมแถลงผลการประชุมตลอด 5 วันที่ผ่านมา

นายนิตย์เปิดเผยว่าคณะเจรจาได้มีการหารือกันใน 19 ประเด็น โดยการเจรจาครั้งนี้เป็นเพียงการ เสนอแนวคิด และแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อหยั่งท่าทีกัน ยังไม่ได้มีการตกลงหรือยอมรับผูกพันในข้อ ตกลงใด เพราะคณะเจรจาต้องนำเสนอข้อมูลเพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจ คาดว่าต้องหารือกันอีก หลายครั้งและคงสรุปได้ภายในปี 2549

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเรื่องการคุ้มครองสิทธินักลงทุนนั้น นายวีรชัย พลาศรัย รองอธิบดีกรม เศรษฐกิจระหว่างประเทศ ผู้เจรจาในหัวข้อดังกล่าว ระบุว่า ฝ่ายไทยมีความพร้อมต่อเรื่องดังกล่าว เพราะมีกฎหมายที่รองรับเรื่องนี้มากว่า 30 ปีแล้ว อีกทั้งศาลยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เห็น พ้องในเรื่องนี้แล้ว จึงไม่ขัดข้องในการกำหนดให้มีกลไกระงับข้อพิพาท ซึ่งให้สิทธินักลงทุนสามารถ ฟ้องรัฐได้ โดยใช้การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการนอกประเทศ แต่ยังไม่มีการหารือกันในรายละเอียด

น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล คณะทำงานโลกาภิวัตน์ กล่าวว่า เรื่องนี้น่าวิตกอย่างยิ่ง เพราะสิ่งที่สหรัฐ ต้องการนั้นถูกตีความและใช้ในข้อตกลงเขตการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) แล้ว โดยเกิดผลกระทบ ทั้งในแคนาดาและเม็กซิโก ทำให้ประชาชนไม่สามารถปกป้องสิทธิของชุมชน สิ่งแวดล้อม และสังคม ของตนเองได้เลย

"หลังจากทำเอฟทีเอ มาตลอด 10 ปี แคนาดาสามารถออกกฎหมายสิ่งแวดล้อมได้เพียง 2 ฉบับ และกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ถูกฟ้องร้องโดยนักลงทุนเอกชนสหรัฐ ทำให้รัฐบาลแคนาดาจะต้องจ่ายเงิน เป็นค่าชดเชยผลกำไรที่เอกชนคาดว่าจะได้รับ" น.ส.กรรณิการ์กล่าว

ด้านนายเจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า เชื่อว่าเรื่องนี้ผู้พิพากษาไทยคงไม่มีใครยอม เพราะเป็นการสูญเสียอธิปไตยทางการศาล ไทยจะสูญเสีย สิทธิทางการศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพิพาทระหว่างรัฐและเอกชนในเรื่องของบริการสาธารณะ เพราะรัฐต้องทำหน้าที่คุ้มครองประโยชน์ของสาธารณะ ไม่ควรให้ไปอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของ อนุญาโตตุลาการ

นายเจริญตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การทำข้อตกลงเป็นภาษาอังกฤษนั้นเป็นเรื่องอันตรายมาก เพราะต่าง ประเทศจะใช้บริบทและวิธีการของเขาในการตีความ ซึ่งอาจไม่ตรงกับของไทย ส่งผลต่อการแปลความ ของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศด้วย ขณะที่ในอดีตนั้นมีการทำสนธิสัญญา 2 ภาษา และให้ทั้ง 2 ประเทศรับรองความถูต้องร่วมกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net