Skip to main content
sharethis

ทหารและนักวิชาการเตือนรัฐและคนไทยไม่ประมาท ชี้ปัญหาความมั่นคงใช่เพียงแค่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ระบุการปลด "ขิ่นยุนต์"ทำให้ชายแดนไทย-พม่าตึงเครียดอีกแน่ จับตาการหนีภัยสงครามเข้าไทยเพิ่ม และปัญหาเส้นเขตแดนพร้อมปะทุตลอดเวลา เตือนรัฐอย่ามองปัญหาความมั่นคงของชาติแต่ภาคใต้จนลืมพื้นที่อื่น ระวังการรุกคืบของจีนจนภาคเหนือตั้งรับไม่ทัน

ระยะเวลาปีเศษ นับจาก 4 มกราคม 2547 เมื่อเกิดเหตุการณ์ปล้นปืนที่ภาคใต้ ดูเหมือนว่า ปัญหาความมั่นคงในพื้นที่อื่นของประเทศจะหายไปเหลือแต่เพียงภาคใต้แห่งเดียวเท่านั้น นั่นคือ สิ่งที่หลายฝ่ายวิตก และมีคำเตือนจากทหารและนักวิชาการว่า ยังมีอีกหลายภัยที่จะส่งผลถึงความมั่นคง ซึ่งเรากำลังเผชิญหน้าอยู่

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่โรงแรมดิอินเตอร์เนชั่นแนล เชียงใหม่ ซึ่งมูลนิธิวายเอ็มซีเอ เพื่อการพัฒนาภาคเหนือและสมาคมวายเอ็มซีเอเชียงใหม่ ร่วมกับคณะกรรมาธิการการทหาร วุฒิสภา และกองทัพภาคที่ 3 จัดสัมมนาเรื่อง "ความร่วมมือของประชาคมท้องถิ่นในการพัฒนาพื้นที่ชายแดน" โดยมีพล.อ.ดร.ศิริ ทิวะพันธ์ รองประธานคณะกรรมาธิการการทหารวุฒิสภา เป็นประธาน และมีตัวแทนหน่วยทหาร และชุมชนจากเชียงใหม่ เชียงราย น่าน แม่ฮ่องสอน และตากเข้าร่วมเพื่อแลกเปลี่ยนประสพการณ์และหาแนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างความมั่นคงในพื้นที่ชายแดน

โอกาสนี้ พลเอกดร.ศิริ ทิวะพันธ์ รองประธานคณะกรรมาธิการการทหารวุฒิสภา และรศ.ดร.
สุรชาติ บำรุงสุข จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันอภิปรายเรื่องยุทธศาสตร์แนวทางการสร้างความมั่นคงตามแนวชายแดนในทศวรรษใหม่

พลเอกดร.ศิริ กล่าวว่า การพัฒนาประเทศใน 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาลสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้น่าพอใจ แต่ไม่อาจประมาทปัญหาไข้หวัดนก สถานการณ์น้ำมัน และความไม่สงบในชายแดนใต้ได้ ซึ่งปัญหาชายแดนใต้เป็นเรื่องน่าหนักใจ เพราะลึกเกินกว่าที่คาดคิด และการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา ทั้งถูกเร่งรัดเพื่อหวังผลทางการเมืองและสื่อเสนอข่าวโดยไม่รับผิดชอบ จนสถานการณ์เลวร้ายๆลง

อย่างไรก็ตาม การที่นายกรัฐมนตรียอมรับคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ ถือเป็นแนวทางที่จะทำให้มีลู่ทางแก้ไขได้ และควรเดินทางตามแนวพระราชดำรัชของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา และคนทั้งชาติแก้ไขปัญหาที่ท้าทายนี้ร่วมกัน

นอกจากความมั่นคงของภาคใต้แล้ว ไทยยังเผชิญกับปัญหาโรคเอดส์ซึ่งทำลายงบประมาณของประเทศเป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อสังคม เพราะขณะนี้วัยรุ่นคือกลุ่มคนที่เผชิญหน้ากับโรคนี้ ด้านความขัดแย้งทางศาสนาก็ทวีความรุนแรงทำให้สังคมไม่เรียบร้อย เพราะฉะนั้นก็มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องคอยดูแล

อย่างไรก็ตาม ในความมั่นคงระดับชาติของไทยกับต่างประเทศ ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ รัฐบาลสามารถที่จะจัดบทบาทของตนเองให้เป็นที่ยอมรับของประเทศได้ แต่ยังต้องระมัดระวังตัว เพราะไทยมีความผูกพันธ์กับไต้หวันในระดับในทางธุรกิจ ระดับส่วนตัว

ขณะเดียวกันจีนก็ประกาศว่าจีนเป็นหนึ่งเดียว ซึ่งอาจทำให้เกิดความขัดแย้ง ณ ขณะนี้มหาอำนาจที่แท้จริงของโลกคืออเมริกา ซึ่งมีอาวุธและเทคโนโลยีชั้นสูง แต่จีนก็เติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว และกำลังขยายอิทธิพลอย่างน่ากลัว

ดังนั้นหากไทยไม่เรียนรู้อะไรก็จะลำบากในการดำเนินนโยบายกับทั้งสหรัฐอเมริกา และจีน โดยไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียจะต้องพัฒนาความสัมพันธ์กับประเทศอินเดียให้มากขึ้น ให้แข็งแรงเพื่อให้มีอำนาจในการต่อรอง นายกรัฐมนตรีไทยเคยพยายามอยู่และกระเตื้องในช่วงต้น แต่ขณะนี่ค่อนข้างเงียบทำให้ไม่ก้าวหน้าไปถึงไหน ควรมีการพัฒนาเพราะ "อาเซียน"จะทำให้สถานการณ์ในภูมิภาคนี้ดีขึ้น

พล.อ. ดร.ศิริ มองถึงปัญหาชายแดนของไทยโดยเฉพาะภาคเหนือว่า ความขัดแย้งภายในของพม่า ไม่เอื้ออำนวยที่จะทำให้เกิดความปลอดภัยของชายแดนไทย โดยเมื่อพลเอกขิ่นยุนต์ถูกปลดทำให้ความแข็งกร้าวของชนกลุ่มน้อยเพิ่มมากขึ้น และตราบใดที่ไม่ลงรอยกัน แม้จะไม่ถึงลงมือฆ่ากัน แต่ย่อมทำให้มีผู้หลบหนีภัยสงครามเข้ามาในไทยมากขึ้น

โดยขณะนี้มีกว่าแสนคนแล้ว ซึ่งเมื่อมาอยู่ในค่ายได้เพิ่มพลเมือง มีเชื้อโรคเข้ามา รวมถึงมีผู้หลบหนีมาขายแรงงานอีกกว่า ล้านคนเข้าไปถึงภายในประเทศ ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงในอนาคต

นอกจากนั้นปัญหายาเสพติดของภาคเหนือก็ยังมีอยู่ แม้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงจะมีความพยายามชักชวนกลุ่มว้าแดงให้ปลูกพืชทดแทนพืชเสพติดมานานแล้วก็ตาม รวมทั้งยังมีปัญหาการตัดไม่ทำลายป่า การขาดการลงทะเบียนที่ถูกต้องของชนกลุ่มน้อยบนพื้นที่สูง

"ความมั่นคงในทศวรรษหน้า ยังถือว่าสถานการณ์ไม่ทำให้ราบรื่นเท่าที่ควรนัก มีเรื่องเร่งด่วนต้องทำหลายประการ คือ 1. สร้างชุมชนให้เข้มแข็งซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายสร้างชาวบ้านที่อยู่ตามแนวชายแดนให้มีความแข็งแกร่งสามารถที่จะพึ่งตนเองได้ และสามารถที่จะเชื่อมต่อกับระบบการปกครองของไทยตามรัฐธรรมนูญของไทยให้ได้

2.จัดระเบียบชายแดนสร้างเครือข่ายคมนาคมให้คุมชายแดนอย่างมีประสิทธิภาพ 3.เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการครองชีวิตของกลุ่มว้าให้เปลี่ยนมาปลูกพืชอื่นแทนยาเสพติด"

พล.อ. ดร.ศิริ เตือนถึงอิทธิพลของประเทศจีน ว่าขยายเข้ามาพม่าและไทยมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ทำสัญญาค้าขายเสรีก็ไม่ได้ พืชผักและผลไม้จากจีนอาจมาทำลายอาชีพพื้นฐานของชาวภาคเหนือได้ สิ่งที่จำเป็นคือต้องเรียนรู้ภาษาจีนให้มากขึ้น ต้องเข้าใจว่าการเป็นเพื่อนและเป็นคู่ค้าจะต้องปฏิบัติอย่างไรไม่ให้เสียเปรียบ

นอกจากนั้นกับประเทศลาวที่มีเขตติดต่อกันก็จะต้องผูกสัมพันธ์ให้ดี พร้อมทั้งได้ย้ำให้หน่วยทหารในพื้นที่กระชับไมตรีระหว่างประเทศไว่ให้มั่น

ด้านรศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า นับจาก 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา งานความมั่นคงของไทยหายไปหมดเหลือเพียงที่ภาคใต้อย่างเดียว แต่ปัญหาชายแดนไทยมิใช่มีแค่เรื่องนี้ หากไม่รวมกับปัญหาเก่าเรายังเผชิญกับภัยที่มีผลต่อความมั่นคงหลายประการ เช่น ภัยจากเชื้อโรค คือไข้หวัดนก ภัยจากการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศ นั่นคือ ภัยแล้งเช่นที่ภาคอีสานหนักมากในรอบ 30 ปี ประชาชนรอคอยเพียงฝนหลวง และปัญหาความมั่นคงของพลังงาน ที่จนถึงวันนั้น ยังไม่รู้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะนิ่ง ณ จุดใด

ขณะที่ปัญหาชายแดนได้เปลี่ยนมิติไปมาก หากกรุงเทพเผชิญหน้ากับโลกาภิวัตน์ตะวันตก ภาค
เหนือก็เผชิญทั้งตะวันตกและตะวันออก ขณะที่ภาคใต้เผชิญโลกาภิวัตน์มุสลิม ส่วนของโลกา
ภิวัตน์ตะวันตกเห็นง่าย มาในรูปแบบของการใช้ชีวิตยุคใหม่ แต่ภาคเหนือมีเงื่อนไขสำคัญคือการขยายตัวของอำนาจจีน ที่เคลื่อนตัวเร็ว และคนไทยท้องถิ่นจะต้องเผชิญ และรับมือการเปลี่ยน
แปลง

"เงื่อนไขสำคัญคือความสงบในพื้นที่พม่า เส้นเขตแดนภาคเหนือมีปัญหาไม่มีข้อยุติ โดยเฉพาะกับประเทศพม่า เพราะระยะ 2,401 กม. แนวชายแดนทางบกและแม่น้ำ ตกลงได้กันได้ราว 50 กิโล
เมตรเท่านั้นที่เหลือเป็นปัญหาได้ตลอดแนว

อย่างไรก็ตามหากความสงบเกิดขึ้นได้ ก็จะเกิดเส้นทางคมนาคมใหม่ๆ ที่จะเชื่อม ภาคใต้ของจีนกับภาคเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งภาคเหนือของไทยคือส่วนหนึ่ง คำถามคือพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เชื่อมนั้น จะทำให้เราเป็นภาคใต้ของจีน หรือจีนเป็นตอนเหนือของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

รศ.ดร.สุรชาติกล่าวว่า เส้นทางรถไฟสายเด่นชัย - เชียงรายจะต้องเกิดแน่ ขณะนี้เริ่มมีการเวนคืนแล้ว การค้าในแม่น้ำโขงก็จะต้องเกิด แต่จะสร้างสมดุลย์ได้อย่างไร และเมื่อพื้นที่เหล่านี้เชื่อมกัน 5 สิ่งที่จะตามมาและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงคือ คน สินค้า วัฒธรรม สิ่งผิดกฎหมายและเชื้อโรค

"พื้นที่ภาคเหนือจะถูกเชื่อมต่อกับความเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ เชียงรายจะเป็นพื้นที่น่าจับตา ซึ่งเริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว เช่นสินค้าที่จากจีนที่เข้ามาขายในไทยมากมาย การเกิดขึ้นของบริษัทนำเที่ยวและโรงเรียนสอนภาษาจีนในเชียงราย สิ่งที่น่าจะเตรียมการรับคือเรียนรู้ภาษาจีน และเตรียมรับมือกับผลกระทบเอฟทีเอ และจับตาโรคที่จะมาจากการเคลื่อนย้ายคน เช่นเริ่มมีปัญหาโรคเท้าช้างและมาลาเรียกลับมาแล้วอีกครั้ง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net