Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 11 เม.ย.48 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เตรียมเสนอข้อกำหนดเพิ่มเติมในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป่าชุมชน หลังจากรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันพรุ่งนี้ (12 เม.ย.48) ก่อนยืนยันต่อรัฐสภาว่ารัฐบาลจะเดินหน้าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว

ขณะที่มีกระแสข่าวว่าสมาพันธ์อนุรักษ์ป่าต้นน้ำภาคเหนือ จา กอ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ก็เตรียมเดินทางมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าไม่ควรอนุญาตให้จัดตั้งป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ไม่ว่ากรณีใดๆ

นายเดโช ไชยทัพ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวได้มีการปรับปรุงมาพอสมควรจนน่าจะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายแล้ว ทั้งเรื่องการกำหนดการตั้งป่าชุมชน จากเดิมกำหนดให้ชุมชนที่ดูแลรักษาป่ามา 5 ปีมีสิทธิตั้งป่าชุมชน ก็เปลี่ยนเป็นชุมชนที่ดูแลป่ามาครบ 5 ปีก่อนพ.ร.บ.นี้ประกาศใช้ ซึ่งจะทำให้ลดพื้นที่ป่าชุมชนที่จะเกิดในอนาคต อีกทั้งเรื่องการจัดการดูแลป่าชุมชนก็ไม่ได้มอบสิทธิขาดให้ชาวบ้าน แต่มีส่วนราชการร่วมตรวจสอบด้วย

นายกฤษฎา บุญชัย คณะกรรมการวิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.ป่าชุมชน กล่าวว่า ตนไม่ค่อยรู้สึกเป็นห่วงมากนักที่มีบางกลุ่มออกมาคัดค้านไม่เห็นด้วยกับ พ.ร.บ.ป่าชุมชน เพราะที่ผ่านมามีการพูดคุยกันมาตลอดเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงเนื้อหาของตัวบทกฎหมาย และเปิดช่องให้ทุกฝ่าย ไม่ว่าชุมชน รัฐ ประชาคมเข้าไปมีส่วนในการตรวจสอบได้ รวมทั้งมีขั้นตอนเงื่อนไขในการจัดการดูแลอยู่แล้ว ที่สำคัญ การนำ พ.ร.บ.ป่าชุมชนไปใช้เริ่มที่ชุมชนที่มีความเข้มแข็งก่อน ไม่ใช่เริ่มพร้อมกันทีเดียวทั้งประเทศ

นายกฤษฎายังกล่าวอีกว่า หากมองในแง่การเมืองในระบอบประชาธิปไตย หาก พ.ร.บ.ป่าชุมชน ผ่านการพิจารณาเป็นกฎหมายแล้ว จะถือว่าเป็นกฎหมายที่มีพลัง เพราะเป็นกฎหมายที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระดับโครงสร้างที่เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน ดังนั้น รัฐบาลไม่ควรยอมรับความเข้าใจผิดของ ส.ว. หรือนักวิชาการ บางกลุ่มที่ออกมาคัดค้าน และต้องเข้าใจว่า ยังมีชาวบ้านอีกประมาณ 460,000 คน ที่อยู่อาศัยในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และเป็นผู้ร่วมรักษาดูแลป่าเอาไว้มานานหลายชั่วอายุคน ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่

นายกฤษฎายังได้ตั้งข้อสังเกตเปรียบเทียบกับร่างพ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษด้วยว่า กรณีมีการผลักดัน การยกร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจฯ นั้นดูง่ายดาย ทั้งที่เป็นร่างกฎหมายที่ใช้อำนาจทับซ้อนกับอำนาจการบริหารการจัดการของท้องถิ่น และถือว่าเป็นแนวคิดการรวมศูนย์อำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ตรงกันข้ามกับร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ซึ่งเน้นการกระจายอำนาจให้กับประชาชนในท้องถิ่น

นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า ที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า ฝ่ายรัฐไม่สามารถจัดการแก้ไขปัญหาในเรื่องการจัดการป่าได้ เพราะฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องมาร่วมมือกัน

"ล่าสุด ผมได้ยืนยันกับนายยงยุทธ ติยะไพรัช รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปว่า พ.ร.บ.ป่าชุมชน ไม่ใช่การปล่อยให้ชุมชนเข้าไปจัดการดูแลเพียงฝ่ายเดียว แต่ในกระบวนของกฎหมายนั้น เริ่มจากการมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วม ให้ทุกฝ่ายเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการทุกขั้นตอนอยู่แล้ว" นายไพโรจน์กล่าว

ทั้งนี้ สาระสำคัญของของ พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่มีการถกเถียงกันมานานนั้น ติดปัญหาใน 2 มาตรา คือ มาตรา 18 ที่อนุญาตให้ทำป่าชุมชนในเขตป่าอนุรักษ์ได้ กับมาตรา 31 ที่อนุญาตให้ชุมชนใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน

องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net