สหรัฐอเมริกาและประเทศไทยสรุปการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีรอบสาม*

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

สหรัฐอเมริกาและประเทศไทยสรุปการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีรอบสามวันนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ พอใจกับความคืบหน้าที่ได้รับจากการเจรจานานหนึ่งสัปดาห์ครั้งนี้ ข้อมูลเพิ่มเติมที่ทั้งสองฝ่ายแลกเปลี่ยนกันทำให้สหรัฐฯ มีความเข้าใจสถานะของแต่ละฝ่ายในบางประเด็นที่จะรวมอยู่ในข้อตกลงการค้าเสรี ขณะนี้ ทั้งสองประเทศอยู่ในฐานะที่พร้อมจะเจรจาให้คืบหน้าในรอบต่อไป ซึ่งจะมีขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน - สิงหาคมนี้

ข้อตกลงการค้าเสรีนี้จะเหมือนกับข้อตกลงการค้าเสรีฉบับอื่นๆ ที่สหรัฐฯ ได้ทำมา คือ จะเปิดโอกาสที่สำคัญๆ ให้กับทั้งสองประเทศ สหรัฐฯ เห็นแนวโน้มที่เกษตรกร คนงาน ธุรกิจและผู้บริโภคสหรัฐฯ จะได้รับประโยชน์ เมื่อข้อตกลงการค้าเสรีนี้ได้ผลสรุป จะช่วยเพิ่มการค้าสินค้าอุตสาห กรรม การเกษตรและบริการ รวมทั้งสร้างโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ข้อตกลงการค้าเสรีนี้ยังช่วยขจัดอุปสรรคด้านการเข้าถึงตลาดและส่งเสริมกฎระเบียบที่คาดการณ์ได้และโปร่งใสซึ่งจะอำนวยความสะดวกให้กับการค้าระหว่างประเทศทั้งสอง

ข้อตกลงการค้าเสรีนี้จะช่วยให้ประเทศไทยเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศลูกค้าที่ดีที่สุดของไทยได้มากขึ้น จากการศึกษาระบุว่า ข้อตกลงการค้าเสรีนี้จะช่วยเพิ่มการเติบโตของจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ของไทยกว่าร้อยละ 1.3 และจะสร้างงานกว่า 78,000 อัตรา หลักฐานยังแสดงให้เห็นว่า งานที่มีการส่งออกรองรับจะให้ค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างในภาคธุรกิจอื่นๆ

ดังนั้น สหรัฐฯ จึงคาดว่าข้อตกลงการค้าเสรีนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาความยากจนและช่วยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ หลากหลายมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการพัฒนาสวัสดิการและมาตรฐานการครองชีพของคนไทย ข้อตกลงการค้าเสรีนี้ยังจะช่วยกระตุ้นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว

นอกจากนี้ ข้อตกลงการค้าเสรีนี้จะช่วยส่งเสริมความพยายามของไทยที่จะพัฒนาเศรษฐกิจให้ทันสมัยและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิผลขึ้น ข้อตกลงการค้าเสรีนี้เป็นสิ่งที่จะสนับสนุนแผนของรัฐบาลที่จะเสริมความสามารถในการแข่งขันของไทยในภาคธุรกิจบริการ และจะช่วยให้ภาคธุรกิจบริการกลายเป็นเฟืองจักรของการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในศตวรรษที่ 21 การให้เสรีทางการตลาดแก่ธุรกิจบริการ ซึ่งได้แก่ การบริการทางการเงิน โทรคมนาคมและวิชาชีพต่างๆ จะทำให้ประเทศไทยมีการสร้างปัจจัยการเติบโตของบริการใหม่ๆ ที่มีแนวโน้มการตลาดที่ดี เช่น บริการด้านสุขภาพ การท่องเที่ยว อาหาร แฟชั่นและการออกแบบ

ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นภาคธุรกิจที่ประเทศไทยต้องการเป็นผู้นำ ข้อตกลงการค้าเสรีนี้จะยังส่งเสริมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้เข้มแข็งขึ้น อันเป็นเงื่อนไขในการพัฒนาภาคธุรกิจข้างต้นและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีปัจจัยความรู้เป็นรากฐาน การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวจะส่งเสริมการพัฒนาและการผลิตยาใหม่ๆ และยาที่สิทธิบัตรหมดอายุแล้ว ในขณะเดียวกันก็ช่วยประกันว่าผู้ป่วยไทยจะมีโอกาสเข้าถึงยาที่สำคัญต่อชีวิตได้ทันท่วงที

องค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของข้อตกลงการค้าเสรีนี้คือ ความพยายามร่วมมือในการเสริมความสามารถของประเทศไทยในการปฏิบัติตามพันธกรณีของตนและให้โอกาสธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้รับประโยชน์จากโอกาสใหม่ๆ ที่มาจากข้อตกลงการค้าเสรีนี้ พร้อมกับการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีนี้

ทั้งสองฝ่ายได้ตั้งกลุ่ม Trade Capacity Building Cooperation ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานไทยและหน่วยงานสหรัฐฯ ซึ่งจะทำงานร่วมกันสร้างความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชนและองค์กรเอกชนของทั้งสองประเทศ

ในการเจรจาครั้งนี้ สหรัฐฯ และประเทศไทยได้ตกลงร่วมมือในโครงการเสริมสร้างความสามารถทางการค้าหลายโครงการในด้านต่างๆ เช่น การศุลกากร การบริการ การโทรคมนาคม รวมถึงโครงการส่งเสริมให้ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมได้เข้าถึงบริการด้านการเงิน เทคโนโลยีสารสนเทศและการวางแผนธุรกิจ

กลุ่มความร่วมมือนี้ยังได้ไปภูเก็ตและหารือปัญหาผลกระทบจากภัยสึนามิกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ช่วยให้รัฐบาลสหรัฐฯ มีความเข้าใจหนทางให้ความช่วยเหลือความพยายามฟื้นตัวและฟื้นฟูพื้นที่ได้ดีขึ้น

ภูมิหลัง

เมื่อปีพ.ศ. 2546 ประธานาธิบดีบุชได้ประกาศเจตจำนงที่จะดำเนินการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศไทยตามกระบวนการนิติบัญญัติที่ระบุไว้โดยสภาคองเกรส ข้อตกลงการค้าเสรีนี้เป็นการยืนยันพันธกรณีของประธานาธิบดีบุชต่อโครงการริเริ่ม Enterprise for ASEAN Initiative ซึ่งให้โอกาสทำข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศสมาชิก ASEAN ที่มีความตกลงทวิภาคี Trade and Invest
ment Framework Agreement (TIFA) เป็นสมาชิกขององค์กรการค้าโลก (WTO) และมีความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจ

นอกจากประเทศไทยแล้ว สหรัฐฯ กำลังดำเนินการเจรจากับประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และบรูไนภายใต้ความตกลงทวิภาคี Trade and Investment Framework Agreement (TIFA) กับประเทศเหล่านี้

การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยและสหรัฐฯ รอบแรกมีขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมพ.ศ. 2547 การเจรจารอบที่สองเมื่อเดือนตุลาคมพ.ศ. 2547 กลุ่มเจรจามีการประชุมระหว่างการเจรจาแต่ละรอบในปลายปีพ.ศ. 2547 และต้นปีพ.ศ. 2548 เพื่อวางรากฐานให้การเจรจารอบที่สามประสบความสำเร็จ

การค้าระหว่างประเทศไทยและสหรัฐฯ มีมูลค่ารวม 22.2 พันล้านดอลลาร์ในปีพ.ศ. 2547 สูงขึ้นจากปีก่อนหน้านี้ร้อยละ 14 และร้อยละ 58 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การส่งออกสินค้าของสหรัฐฯ มีมูลค่ารวม 6.4 พันล้านดอลลาร์ สูงขึ้นนับจากปีพ.ศ. 2546 ร้อยละ 9 การส่งออกสินค้าของไทยไปสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศผู้ซื้อสินค้าไทยที่ใหญ่ที่สุดนั้น ขยายเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 จากปีก่อนโดยมีมูลค่า 17.6 พันล้านดอลลาร์

การส่งออกบริการของสหรัฐฯ มาประเทศไทยมีมูลค่ารวม 1.1 พันล้านดอลลาร์ในปีพ.ศ. 2546 (ข้อมูลล่าสุดที่มีอยู่) ในขณะที่การส่งออกบริการของไทยไปสหรัฐฯ มีมูลค่ารวม 739 ล้านดอลลาร์ การลงทุนของสหรัฐฯ โดยตรงในประเทศไทยในปีพ.ศ. 2546 (ข้อมูลล่าสุดที่มีอยู่) มีมูลค่า 7.4 พันล้านดอลลาร์ ทำให้สหรัฐฯ เป็นประเทศผู้ลงทุนในไทยที่ใหญ่เป็นอันดับสอง

*http://bangkok.usembassy.gov

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท