Skip to main content
sharethis

รูปตอนที่2--เวียงแหง
-------------------------------------------------

รถตู้จำนวน 4 คัน และรถกระบะอีก 1 คันเตรียมพร้อมอยู่แล้วสำหรับชาวค่ายที่จะตามมา แต่สำหรับพวกเรา 3 คน…ไปตายเอาดาบหน้า

"บัณฑิต" ผู้ประสานงานโครงการยังคงทำหน้าที่ประสานงานอยู่ตลอดเวลาที่อยู่บนรถไฟ เรายังไม่มีรถที่จะเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ขึ้นไปเวียงแหง

รถรับจ้างไม่ประจำทางในเชียงใหม่หาไม่ยาก แต่เส้นทางปราบเซียนของเวียงแหงทำให้เราไม่ไว้ใจใครง่าย ๆ

"เมื่อก่อนผมต้องเดินทางลงพื้นที่เวียงแหงบ่อย ๆ ทุกครั้งที่ต้องขึ้นไป ก็จะเห็นรถอย่างน้อย 1 คันนอนแอ้งแม้งอยู่ข้างทาง" บ.ก. สุดที่รักของชาวประชาไทเล่าเหมือนขู่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้

ถนนที่คดเคี้ยวไปตามสันเขา โค้งหักศอกเหมือนเหมือนสปริงที่ผนวกเอาความคดเคี้ยวกับความสูงชันไว้ด้วยกัน…ทั้งหมดนี้แลกกับทิวทัศน์ 2 ข้างทางซึ่งหาไม่ได้จากที่ราบ

ป่าสนเขาก่อนเข้าเขตอำเภอเวียงแหงเป็นผู้บอกว่าเราอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่ต่ำกว่า 1,200 เมตร

………………………………………………………………………

เวลาสายของวันรุ่งขึ้น ก่อนรถไฟจะเทียบชานชาลาสถานีเชียงใหม่ประมาณ 1 ชั่วโมง บัณฑิต บอกกับเพื่อนร่วมทางว่าเราได้รถที่จะพาเราขึ้นไปเวียงแหงแล้ว

เรานั่งรออยู่ที่สถานีเชียงใหม่ พร้อมกับอาการลุ้นเล็ก ๆ ว่ารถที่จะพาเราไต่สันเขาไปยังเมืองสุดชายแดนจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร

คนขับรถก็เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเดินทางด้วย คนขับน่ารักสามารถทำให้เส้นทางน่าหวาดเสียวกลายเป็นเส้นทางแห่งความประทับใจได้ ในทางตรงกันข้าม เส้นทางสบาย ๆ ก็น่าหงุดหงิดใจถ้าเจอคนขับแล้งน้ำใจ จู้จี้ขี้บ่นประหนึ่งเราเป็นเพียงผู้อาศัยติดรถมาด้วย

เส้นทางเวียงแหงนี้เอง ที่ฉันเคยได้เดินทางไปกับ "ลุงยงค์" คนขับรถตู้มากน้ำใจซึ่งจะเป็นตัวละครในตอนต่อไปด้วย นอกจากความชำนาญเส้นทาง ความสุภาพ และมากน้ำใจแล้ว ลุงยงค์ยังจอดแวะให้บรรดาช่างภาพสมัครเล่นได้เก็บภาพแห่งความประทับใจไปตลอดเส้นทางอันคดเคี้ยว

ข้อเสียของลุงยงค์ ก็คือ ทำให้ฉันวางมาตรฐานไว้สูงเกินไปสำหรับการนิยาม "คนขับรถที่ดี"
……………………………………….

"บัณฑิต" รับโทรศัพท์ พร้อมกับหันมาบอกว่ารถของเรามาถึงแล้ว เราขนสัมภาระของแต่ละคนไปยังจุดที่รถจอด

มันเป็นรถกระบะสีเหลือง อายุอานามไม่ต่ำกว่า 15 ปี ไม่มีหลังคาคลุมกระบะ คนขับชาวเมือง (คนเมือง=คนพื้นราบ) บอกกับเราว่าไม่ต้องห่วง พร้อมจัดแจงทำหลังคาผ้าใบด้วยการเอาผ้าใบขึงด้วยเชือกมัดโยงไปมาด้วยเทคนิคเฉพาะตัว "ไม่ปลิวแน่นอน" เขากำชับหลังจากเห็นเราทำท่าไม่แน่ใจ

เอาไงก็เอา แม้รถจะเก่า หลังคาเป็นที่น่าสงสัย แต่ดูท่าทางคนขับรถมีน้ำใจทีเดียว ฉันตั้งข้อสังเกตกับเพื่อนร่วมทางหลังจากได้เห็นท่าทางกุลีกุจอจัดที่นั่ง พยายามไปหาซื้อเสื่อมารองนั่งให้พวกเรา พร้อมกับกระติกน้ำแข็งใบใหญ่ที่เตรียมไว้ให้เสร็จสรรพ

สำคัญที่สุด พี่คนขับบอกว่าเคยทำงานเป็นภารโรงอยู่ที่บ้านนามน ในอำเภอเวียงแหงนั่นเอง…ฉันโล่งใจทันที เปอร์เซ็นต์สูงมากที่เราทั้ง 3 จะไม่ต้องไปนอนแอ้งแม้งข้างทาง
……………………………….

เราออกเดินทางใต้แดดบ่าย ตัวเมืองเชียงใหม่ร้อนไม่น้อยกว่ากรุงเทพฯ ความจอแจของยวดยานทำให้เราสงสัยว่า คนกรุงเทพฯ ที่มาเที่ยวเชียงใหม่โดยไม่ออกไปนอกตัวเมืองจะรู้ตัวหรือไม่ว่าอยู่กรุงเทพฯหรือเชียงใหม่

คนขับรถพาเราออกจากเมืองเชียงใหม่ด้วยเส้นทางที่เราไม่คุ้นเคย อันที่จริง แม้เส้นทางที่คุ้นเคยที่สุดฉันก็ยังอธิบายไม่ค่อยถูก เราเดาว่าพี่แกคงพยายามเลี่ยงเส้นทางที่กำลังก่อสร้างแถว ๆ แม่ริม

การเลี่ยงเส้นทางทำให้เราได้พบกับขบวน ปอยส่างลอง ซึ่งเป็นประเพณีบวชสามเณรหรืองานบวชลูกแก้ว เพื่อเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนาของชาวไทยใหญ่และชาวพม่า

เด็กชายวัยใกล้เคียง 10 ขวบ 3 คนต่างนั่งอยู่บนรถม้าที่มีคนลากจูงไปตามถนน ขนาบข้างด้วยขบวนแห่และคนรำฟ้อน

เด็กชายทั้ง 3 แต่งหน้าทาปาก เขียนคิ้วโก่ง สวมแว่นกันแดด ฉันอธิบายกับเพื่อนร่วมทางว่าเป็นสัญลักษณ์ของคนผู้มืดบอดอยู่ในกิเลสก่อนจะเข้าสู่ทางสว่างแห่งธรรม ส่วนเหตุที่ต้องขี่ม้านั้นฉันไม่รู้

เวลากว่า 4 ชั่วโมงท้ายรถกระบะกลางแดดบ่ายทำให้เราคลายความเซี้ยวแก่นซนกันไปพอสมควรเมื่อเข้าสู่เขตอำเภอเวียงแหง

แต่ยังก่อน ทุกครั้งที่เราจะเข้าสู่เวียงแหงอย่างสมบูรณ์เราจะต้องผ่านด่านทหารที่มักขอตรวจบัตรประชาชนแม้เราจะคิดว่าเราเตรียมคำถามที่น่าเชื่อถือที่สุด(และเป็นความจริง) แล้วก็ตาม

เวียงแหงเป็นอำเภอหนึ่งในจำนวน 89 อำเภอ กับอีก 7 กิ่งอำเภอของไทยที่อยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ด้วยเป็นเมืองชายแดน และมีชนเผ่าต่าง ๆ เคลื่อนไหวถ่ายเทเข้าสู่ส่วนอื่น ๆ ของประเทศไทยเพื่อไปทำงาน

ฉันคิดว่าตัวเองหน้าตาไม่เหมือนชนเผ่าอะไรเลยทางภาคเหนือของไทย และไม่เหมือนชาวพม่า ฉันรู้สึกเอาเองว่าตัวเองหน้าตาไม่ค่อยมีปัญหาให้สงสัยเกี่ยวกับสัญชาติ อันที่จริงขั้นตอนตรวจบัตรก็ไม่ยุ่งยากอะไรอาจเพราะเหตุดังกล่าวมา หรือเพราะมีบัตรประจำตัวประชาชนแสดงให้เจ้าหน้าที่ดูก็ไม่ทราบได้ แต่ฉันก็รู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งที่ถูกตรวจบัตรประจำตัวประชาชน

แต่สำหรับครั้งนี้…เรามีสำเนาหนังสือจากรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่มาด้วย เป็นหนังสือที่อนุญาตให้เราเข้าไปทำกิจกรรมในพื้นที่ในระหว่างวันที่ 1- 7 เมษายน อันเป็นช่วงเวลาทำค่าย

เรา 3 คนกะเบ่งเต็มที่ มันเป็นความรู้สึกของคนที่ตกอยู่ใต้อำนาจและอยากตอบโต้-ฉันเดาเอาจากอารมณ์ตัวเอง เดี๋ยวเหอะ ๆ เราลุ้นระทึกเมื่อเข้าใกล้ด่านตรวจ

รถค่อย ๆ เคลื่อนใกล้ด่านตรวจเข้าไปทุกที ๆ ฉันเริ่มรู้สึกผิดปกติ เจ้าหน้าที่ทหารยังไม่ลุกออกมาจากด่าน เรามาถึงด่านแล้ว เจ้าหน้าที่มองเข้ามาในรถ…ฉันเห็นสายตาว่างเหล่าปราศจากความสงสัย ทหารประจำด่านตรวจ 3 คนมองเข้ามาในรถ โดยปราศจากสัญญาณเรียกให้รถหยุด รถแล่นผ่านด่านมาแล้ว

3 คนท้ายรถผู้เก็บกดจากการด่านตรวจงงสุดขีด "ทำไมไม่ตรวจ" หนึ่งในทีมของเราตั้งคำถาม อีกเสียงหนึ่งตอบ สงสัยว่าพี่คนขับหน้าตาเหมือนคนท้องถิ่นมาก รถก็เก่า คนขับก็…หน้าตาก็เห็น ๆ อยู่ว่าเป็นคนเมือง พวกเราเริ่มเดา

ง่ายกว่าจดหมายจากรองผู้ว่าฯ ขอแค่รถเก่า ๆ กับคนในพื้นที่ …แค่นี้เหรอ

พิณผกา งามสม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net