บันทึกนักข่าวหนีงาน ตอนที่ 3: สู่บ้านปากญอ

ไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 134 กิโลเมตร ใช้ทางหลวงหมายเลข 107 สายฝาง-เชียงใหม่ ขึ้นไปทางเหนือผ่านอำเภอแม่ริม อำเภอแม่แตง อำเภอเชียงดาว ผ่านตัวดอยหลวงเชียงดาวด้านซ้ายมือที่หลักกิโลเมตรที่ 79 เลี้ยวซ้ายตามป้ายเมืองงาย-นาหวาย มุ่งหน้าตรงไปอีกประมาณ 55 กิโลเมตร "เลาวูประตูเวียงแหง" ป้ายขนาดใหญ่บนเขาลูกย่อม ๆ แห่งหมู่บ้านเลาวูของชนเผ่าลีซอรอรับผู้เดินทางจากแดนไกล

พื้นที่ 705 ตารางกิโลเมตรของอำเภอเวียงแหง หรือประมาณ 92 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ทั้งหมด เป็นภูเขา เขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตอุทยานแห่งชาติ ขณะที่มีพื้นที่อยู่อาศัย 52 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 32,500 ไร่ อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเล โดยเฉลี่ย 750 เมตร โดยยอดเขาที่สูงที่สุดสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,905 เมตร

ประชากรประมาณ 25,000 คน ส่วนใหญ่ทำเกษตรกรรม สินค้าเกษตรหลักคือกระเทียม พริก และหอมแดง

3 ตำบลของเวียงแหง ประกอบไปด้วย 22 หมู่บ้าน ประกอบด้วย ตำบลเวียงแหง 11 หมู่บ้าน ได้แก่ แม่หาด กองลม ป่าไผ่ วียงแหง ห้วยหก สามหมื่น นามน แม่แพม ปางควาย กองลมใหญ่ และเลาวู

ตำบลเปียงหลวง 6 หมู่บ้าน ได้แก่ เปียงหลวง บ้านจอง ใหม่มะกายอน ม่วงเครือ ห้วยไคร้ และแปกแซม

ตำบลแสนไห 5 หมู่บ้าน ได้แก่ สันดวงดี สามปู ม่วงป๊อก มหาธาตุ และปางป๋อ

ข้อมูลทางวิชาการจากโครงการสิทธิชุมชนศึกษาบอกบุคลิกอย่างเป็นทางการของเวียงแหงไว้ เช่นนั้น...

.................................................................................................................................................

เรา 3 คนมาถึงแล้ว...เวียงแหง ไม่ใช่ซิ เรามาถึงเสี้ยวเล็ก ๆ ของเวียงแหง หมู่บ้านกาปญอ "บ้านแม่แพม" จุดหมายปลายทางของชาวค่ายเยาวชน

"ถ้าไม่มีเรื่องเหมืองถ่านหินเข้ามา ไอ้ผมยาว ๆ แบบนี้ ก็คงไม่คุยกันหรอก" สังวร หนุ่มปากญอวัย 22เคย เล่าถึงคำพูดของชาวไทยใหญ่ที่สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างเผ่าพันธุ์ในเวียงแหงให้เราฟังว่า คนเมือง และชาวไทยใหญ่ ไม่ได้วิสาสะกับชาวปากญอ "ผมยาว" มากนักก่อนหน้านี้ อาจด้วยวิถีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอยู่

เหมืองถ่านหินที่สังวรพูดถึง คือโครงการเหมืองถ่านหินลิกไนต์เวียงแหง ซึ่งผ่านมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลที่แล้ว โดยมีเป้าหมายเปิดพื้นที่เหมืองเพื่อนำแร่ลิกไนต์ไปป้อนให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ. ลำปาง ได้ผ่านความเห็นชอบจากครม. ในรัฐบาลที่แล้ว และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) พยายามเข้าไปศึกษารายงานผล กระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ในพื้นที่ดังกล่าว แต่ชาวบ้าน 14 หมู่บ้านในที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบไม่ยินยอม และได้ร้องเรียนกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีข้อเสนอให้ กฟผ. ชะลอการทำอีไอเอ เพื่อรอระเบียบว่าด้วยการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ

ทว่า ภายหลังการเจรจากับกรรมการสิทธิฯ กฟผ. ก็ได้ทำสัญญาว่าจ้างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ทำอีไอเอ ด้วยงบประมาณ 17 ล้านบาท

"เมื่อบอกให้รอระเบียบใหม่เพื่อรอการมีส่วนร่วมของประชาชนจะได้ไม่ต้องมีความขัดแย้ง แต่เมื่อเขาไม่ฟัง เขาเดินหน้าของเขาไป วันนี้ประชาชนก็ปฏิเสธไม่ให้เข้า พอไปจัดเวทีวันที่ 11 (มีนาคม) ประชาชนเกือบ 3,000 คนก็มีข้อเสนอมายื่นให้กรรมการสิทธิ เขาไม่ได้ปฏิเสธแค่อีไอเอแล้ว เขาปฏิเสธทั้งโครงการเลย" นางสุนี ไชยรส กรรมการสิทธิฯ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา

การรวมตัวกันของ 14 หมู่บ้าน ถือเป็นโอกาสสำหรับความสัมพันธ์ของผู้อยู่ร่วมกันในอำเภอเล็กๆ แห่งนี้...แต่ก็อาจจะเป็นโอกาสที่แลกด้วยมูลค่าที่สูงเกินไปสักหน่อย
...........................................................................................................................

แม่แพมเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ประมาณ 70 หลังคาเรือน ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นปากญอที่นับถือศาสนาพุทธ ส่วนที่เหลืออีก 2 ครอบครัวเป็นปากญอที่นับถือศาสนาคริสต์ เด็ก ๆ ที่นี่ได้รับโอกาสทางการศึกษาค่อนข้างสูง เท่าที่เคยสอบถาม ส่วนใหญ่กำลังเรียนระดับมัธยม และมีเป้าหมายในการศึกษาไม่ต่ำกว่ามัธยมศึกษาปีที่ 6

ที่แม่แพม เรายังพบการทอผ้าใส่เอง การเลี้ยงหมูไหหลำ ตัวดำ ๆ และในฤดูร้อนที่ในเมืองร้อนแทบคลั่ง อากาศตอนกลางวันของที่นี่ยังไม่อบอ้าว และ..กล้วยไม้ป่าออกดอกสะพรั่งแข่งกันทุกบ้าน ไม่เหมือนฤดูร้อน

ถึงบ้านแม่แพม เราถือวิสาสะแบกกระเป๋าขึ้นบ้านของสังวร ผู้นำเยาวชนในหมู่บ้านซึ่งคอยช่วยเหลือประสานงานในพื้นที่สำหรับโครงการค่ายเยาวชนในครั้งนี้ การมาของโครงการเหมืองถ่านหินเป็นโอกาสให้สังวรได้ใช้ความสามารถทางดนตรีให้เป็นที่ประจักษ์ เขาเป็นเจ้าของบทเพลงที่ใช้เผยแพร่เพื่อแสดงพื้นที่ทางการเมืองของประชาชนที่นี่ เพลงของเขาพูดถึงเวียงแหง และหลายเพลงบอกเล่าความเป็นปากญอของเขาและชาวแม่แพม

บ่ายที่เราไปถึงแม่แพม สังวรไม่อยู่บ้าน แต่ก็ไม่เป็นไร หลายครั้งก่อนหน้านี้ เราพักที่บ้านสังวรทุกครั้ง รู้ว่าต้องเก็บสัมภาระไว้ที่ไหนที่จะไม่เกะกะเจ้าของบ้าน...ไม่ใช่เพื่อความปลอดภัย เพราะเกือบทุกบ้านที่นี่ไม่มีกุญแจล๊อค ประตู

ที่นี่ เราสามารถวางกระเป๋าสตางค์ โทรศัพท์มือถือ หรือกระทั่งคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กเอาไว้โดยเจ้าของสามารถไปเดินฉุยฉายได้อย่างไม่กังวล..ประสบการณ์หลายครั้งบอกให้พวกเราทำเช่นนี้อีกครั้ง ก่อนจะออกไปฉุยฉายตามนิสัย

เราไม่ค่อยพบใครในหมู่บ้าน เวลาบ่ายเป็นเวลาทำงาน เดือนเมษายนเป็นช่วงเวลาเตรียมที่นา และไร่เพื่อรอฝนสำหรับการเพาะปลูกในเดือนพฤษภาคม ส่วนงานประจำที่ทำได้ทุกฤดูคือเข้าป่า ผลผลิตยอดนิยมที่ป่ามอบให้ในช่วงนี้คือ น้ำผึ้ง และไข่มดแดง

เราเตร็ดเตร่อยู่ชั่วครู่ "สมชาย" ปากญอรูปหล่อตาหวาน ผู้ประสานงานค่ายอีกคนก็เดินยิ้มเผล่ออกมาจากป่าซึ่งอยู่ห่างจากถนนในหมู่บ้านไปไม่ไกล

ในมือของสมชายหิ้วถังใบย่อม ๆ "ไข่มดแดงครับพี่" เขายิ้มอวดฟันสวยพร้อมเล่าต่อ "ผมไปเจอรังผึ้งมาด้วย ทำสัญลักษณ์ไว้แล้ว เดี๋ยวมะรืนนี้จะไปเอาลงมา" นั่นไหมล่ะ พูดไม่ทันขาดคำ ได้พยานออกมาจากป่าทันตาเห็น

เราถามสมชายว่าทำไมไม่ไปเสียพรุ่งนี้เลยล่ะ "พรุ่งนี้ผมต้องไปเกณฑ์ทหารที่อำเภอ" เล่าไปยิ้มไป แต่สารภาพว่ากลัวอยู่เหมือนกัน

การทำสัญลักษณ์เพื่อจองรังผึ้งนั้นเป็นกติกาของคนที่นี่ หากใครพบรังผึ้งก่อนก็ทำสัญลักษณ์ไว้ที่ต้นไม้นั้น คนในหมู่บ้านก็จะไม่ตัดเอารังผึ้งนั้น เพราะถือว่ามีคนจองแล้ว

เดินไปอีกไม่กี่ก้าว เจอคนหนุ่มวัยใกล้เคียงสมชายนั่งล้อมวงกินเหล้าข้าวเจ้า ประมาณการณ์จากตาเห็นคาดว่าคงกินกันมาหลายชั่วโมงอยู่ เพราะบางคนลงไปนอนแผ่ไม่รู้เนื้อรู้ตัวเสียแล้ว

หลังคำสนทนาภาษาปากญอ สมชายหันมาบอกกับเราว่าวงเหล้าที่เราเห็นเป็นการเลี้ยงปลุกใจสำหรับการไปจับสลากใบดำใบแดงวันพรุ่งนี้ สมชายต้องเข้าร่วมวงดับเขาด้วย และพวกเรา 3 คน ในฐานะแขกของหมู่บ้าน...คนละ 2 จอกเพื่อมิตรภาพ

เรานั่งอยู่พอเป็นพิธี แล้วบอกกับสมชายว่า ต้องขอตัวเพราะคงต้องไปเตรียมตัวและเตรียมงานค่ายที่จะเริ่มขึ้นในวันมะรืน ไม่มีใครทักท้วง เหล้าข้าวเจ้าของชาวแม่แพม หอมเหมือนไวน์ แต่ดีกรีแก่กล้าปานเหล้าโรง มีบางคนเปรียบเทียบให้ฟังภายหลังว่าเหมือนกินวาซาบิ ซ่าไปทั้งหัว

พิณผกา งามสม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท