Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ - 21 เม.ย. 48 นักวิชาการหวั่น "ภูมิปัญญาท้องถิ่น" ถูกละเมิดหลังรัฐบาลรุกทำเอฟทีเอกับหลายประเทศ เสนอรัฐทำกฎหมายใหม่หรือขยายกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาคุ้มครองภูมิปัญญาพื้นบ้านด่วน

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับโครงการศึกษาการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นในสถานการณ์สากล ได้ร่วมกันนำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับข้อเสนอเชิงนโยบายและแนวทางการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย รวมถึงกำหนดจุดยืนท่าทีของประเทศไทยในการเจรจาระหว่างประเทศ

ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการด้านทรัพย์สินทางปัญญา นักวิจัยในโครงการกล่าวถึงความจำเป็นที่ต้องเร่งให้มีการปกป้องภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลมีการเร่งทำข้อตกเขตการค้าเสรีหรือเอฟทีเอกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก

"ตามเข้าใจของผมเราถูกเร่งรัดจากกรอบของเอฟทีเอโดยรัฐบาลเอากรอบเอฟทีเอมาเร่งรัดเรา กลไลของประเทศเราเองเป็นตัวบีบเร่งเราอยู่ โดยเฉพาะกับประเทศสหรัฐที่ล้มเหลวในการเจรจาพหุภาคี ที่จะเอื้อประโยชน์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา" ดร.เจษฎ์กล่าว

จากรายงานการวิจัยพบว่า ความจำเป็นของการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรม พื้นบ้านนั้นมีความสัมพันธ์กับเรื่องปัญหาการคุ้มครองสิทธิบัตร หรือทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่างๆ ในการใช้ประโยชน์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่รับการปันผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ระหว่างผู้ประดิษฐ์ ผู้สร้าง ผู้คุ้มครองดูแลและพัฒนา

โดยมีการยกกรณีปัญหาที่ระบบสิทธิบัตรกระทบต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การที่ประเทศยุโรปจดสิทธิในขมิ้นชันของอินเดีย ซึ่งใช้เป็นยาสมานแผล ประเทศญี่ปุ่นจดสิทธิบัตรสมุนไพรไทยคือ เปล้าน้อย กาวเครือ สหรัฐอเมริกาจดลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าข้าว " จัสมาติ" รวมถึงการนำภาพจิตกรรมฝาผนังไปลงพิมพ์ลงบนพรมเช็ดเท้า หรือการนำโบราณวัตถุไปตกแต่งในสถานที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น

ส่วนข้อเสนอในงานวิจัยนั้น ระบุให้มีการยกร่างกฎหมายเฉพาะ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร เกี่ยวกับการแจ้งแหล่งที่มาของภูมิปัญญาท้องถิ่นและศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน เพื่อเป็นการป้องกันการฉวยใช้ประโยชน์นำภูมิปัญญาไปจดสิทธิบัตรได้โดยง่าย อีกทั้งยังเสนอให้จัดทำฐานข้อมูลของประเทศไทยเกี่ยวกับสมุนไพร และการส่งเสริมศักยภาพชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนาการต่อยอดเพื่อจดคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

นอกจากนี้ยังยกตัวอย่างประเทศที่มีออกกฎหมายการคุ้มครองปัญญาท้องงถิ่นแล้ว คือ ประเทศอินเดีย ใน พ.ร.บ. ความหลากหลายทางชีวภาพ ปี 2000 มาตรา 36 ให้มีการคุ้มครององค์ความรู้ของชุมชนเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ โดยการขึ้นทะเบียนองค์ความรู้และการพัฒนาระบบการคุ้มครองเฉพาะ ในมาตร 19 และ 20 ของกฎหมายดังกล่าวให้มีการขออนุญาติเข้าถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น และชีวภาพจากสำนักงานความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ

ด้านนายเจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญา มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า การคุ้มครองทางกฎหมายจะต้องอาศัยสาระสำคัญของกฎหมาย และการคุ้มครองในเชิงกระบวนการสังคม โดยเน้นนวัตกรรมกรรมทางกฎหมายระดับสูงขึ้นด้านองค์ความรู้

"การเขียนกฎหมายเฉพาะขึ้นมาไม่ใช่เขียนกฎหมายธรรมดาโดยทั่วไป แต่มันเป็นยกระดับนวัตรกรรมที่ต้องใช้องค์ความรู้ทางวิชาการระดับสูง อาศัยความรู้ ความเข้าใจทางด้านเศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะภูมิปัญญาท้องถิ่น และศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นด้วย" นายเจริญกล่าว

จันทร์สวย จันเป็ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net