ระหว่างปากท้องกับคลื่นยักษ์ : คำตอบจากประมงอันดามัน

"ผมไม่แปลกใจเลยถ้าหากจังหวัดระนอง จะไม่มีการวางแผนการอพยพ เพราะที่นี่ไม่ใช่แหล่งทำเงิน ไม่ใช่แหล่งธุรกิจ จึงไม่จำเป็นต้องทำแผน หรือซ้อมแผนการอพยพเพื่อเรียกความมั่นใจจากนักท่องเที่ยว" บังโชค หรือ สมโชค พงษ์ประเสริฐ ชาวประมงพื้นบ้าน ต.กำพวน กิ่ง อ.สุขสำราญ จ.ระนอง กล่าว

ข้อสังเกตของ "บังโชค" มีเค้าความจริงไม่น้อย เพราะตั้งแต่รัฐบาลประกาศ แผนแม่บทการอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยจากคลื่นยักษ์ (ซึนามิ) โดยกำหนดจะติดตั้งระบบเตือนภัยชายฝั่งให้เสร็จภายในเดือนเม.ย.ศกนี้ นั้น มีเพียง 2 จังหวัดคือ ภูเก็ต และพังงา เท่านั้นที่ประกาศว่า มีแผนซัก ซ้อมการอพยพฯ และที่สำคัญเฉพาะพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นหน้าเป็นตาระดับนานาชาติเท่านั้น

แต่นั่น อาจไม่สำคัญเท่ากับความอยู่รอดเฉพาะหน้าของประมงพื้นบ้านอย่างบังโชคและเพื่อนๆ ผู้รอดชีวิตจากซึนามิ

-------------------------------

ชีวิตของ "บังโชค" ไม่ต่างจากชาวประมงในสุขสำราญ และหลายจังหวัดที่ประสบภัยคลื่นยักษ์ ซึนามิ ที่สูญเสียชีวิตของญาติมิตรเพื่อนบ้านและทรัพย์สินรวมถึงเครื่องมือทำกินไปกับทะเล อย่าง
ไรก็ตามแม้ว่า ประสบการณ์จากคลื่นยักษ์ทำให้พวกเขาหลายคนยังเข็ดขยาดไม่กล้าออกทะเล แต่ชีวิตที่ต้องดำเนินไปทำให้บังโชคและเพื่อนๆ ต้องคิดถึงปากท้องในวันนี้ มากกว่าคลื่นยักษ์ซึ่งคาดเดาไม่ได้ว่า จะเกิดขึ้นเมื่อใด

บังโชคเล่าว่า ที่หาดสุขสำราญ รายได้ของคนส่วนใหญ่ที่นี่คือการออกเรือ ทำประมง ที่ผ่านมามีบ้างที่นักท่องเที่ยวจ้างให้ออกเรือพาเขาไปตกปลาในทะเลลึกบ้าง แต่นั่นไม่ใช่อาชีพหลัก ที่มีราย ได้ไม่ใช่จากการท่องเที่ยว

แต่หลังจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ซึนามิผ่านไปจนถึงขณะนี้เป็นเวลาเกือบ 4 เดือนแล้วที่ยังไม่ได้ออกเรือไปหาปลา

"เรือบังไม่พังหรอก แต่เครื่องมือหาปลาไปกับน้ำหมด ที่สำคัญคือ ช่วงนี้เป็นฤดูกาลหาปลา พอหมดหน้านี้ราวเดือน พ.ค.เป็นต้นไป ก็เข้าหน้ามรสุมแล้ว ดังนั้นปีนี้ทั้งปีแทบ พวกเราแทบจะไม่ได้หาปลากันเลย"

บังโชคเห็นว่า แผนการอพยพเป็นเรื่องสำคัญทั้งด้านการสร้างความมั่นใจ และคลายกังวลกับผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์ซึนามิ แต่แผนการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้านก็เป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยกว่าเช่นกัน

"คลื่นยักษ์ เป็นเรื่องที่หลายร้อยปีจึงจะเกิดขึ้น แต่ปัญหาเรื่องปากท้อง เรื่องชีวิตเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นและดำเนินไปเรื่อยๆ ทุกวันๆ จะแปลกอะไรที่ชาวบ้านอย่างบังให้ความสำคัญกับเรื่องปากท้องมากกว่า" บังโชคสรุป

"ติ่ง" หรือ ประเกียรติ ขุนพล สมาชิกชมรมชาวประมงพื้นบ้าน จ.ระนองเห็นว่า การทำแผนฯอพยพประชาชนออกนอกพื้นที่เสี่ยงภัยคลื่นยักษ์นั้น ควรทำควบคู่กันกับแผนการฟื้นฟูวิถีชีวิตของชาว
ประมง

" สำหรับเมืองที่อาศัยรายได้จากการท่องเที่ยว แผนฟื้นฟูเป็นเรื่องสำคัญในการเรียกความมั่นใจของนักท่องเที่ยว แต่สำหรับเมืองที่มีรายได้ยังชีวิตจากการประมง แผนฯรับมือซึนามิมีความสำคัญ แต่น้ำหนักยังน้อยกว่าการฟื้นฟูวิถีชาวประมงให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ " ประเกียรติกล่าว

ประเกียรติกล่าวว่า แม้ชาวประมงบางส่วนยังคงหวาดกลัวกับเหตุการณ์คลื่นยักษ์อยู่บ้างแต่ก็ไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคในการออกทะเลทำมาหากิน ปัญหาที่หนักคาใจชาวเรือตอนนี้ไม่ใช่เรื่องกลัว ซึนามิ หรือเรื่องแผนการอพยพฯ แต่เป็นเรื่อง เรือ เครื่องมือทำการประมง ซึ่งยังขาดแคลนในขณะนี้

สมชาย ประมงกิจ ชาวบ้านไทยใหม่ ที่แหลมตุ๊กแก ต.เกาะสิเหร่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต บอกว่า ขณะนี้การต่อเรือ และสร้างบ้านยังดำเนินการไม่เสร็จสมบูรณ์ดีนัก อีกทั้งเรื่องเครื่องมือหาปลายังไม่พร้อมในการออกทะเลทำให้เป็นปัญหาในการประกอบอาชีพอย่างมาก

"เรื่องการทำแผนอพยพมันก็สำคัญนะ เราก็ไม่รู้ว่าคลื่นมันจะมาอีกเมื่อไร ถ้ามันมา ถึงไม่มีแผนเราก็วิ่งเองอยู่ดี ไม่มาอพยพพวกเรา เราก็วิ่งหนีเอง ที่หน่วยงานราชการเขาจะทำให้เป็นแผนขึ้นมาก็เป็นเรื่องดี แต่ถ้าแก้ปัญหาที่ชาวประมงเจอตอนนี้ให้เสร็จก่อนก็น่าจะดีกว่า" นายสมชายกล่าว

ขณะที่ วิโชติ ไกรเทพ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนกล่าวว่า สภาพปัญหาแต่ละพื้นที่ซึ่งได้รับผล กระทบจากคลื่นยักษ์ซึนามิล้วนแตกต่างกัน แต่การวางแผนรับมือกับคลื่นยักษ์ซึนามิเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างเท่าเทียมกันในแต่พื้นที่

"ไม่ใช่ว่าป่าตองเป็นเมืองท่องเที่ยวแล้วให้ความสำคัญที่นั่นหมด อย่างนี้ไม่ใช่ ที่อื่นต่างก็เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยเช่นกัน การวางแผนการอพยพไม่ใช่งานแฟชั่นโชว์ที่ทำขึ้นเพียงเพื่อเรียกความมั่นใจจากนักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่มันต้องใช้ได้จริง ในสถานการณ์จริงอีกด้วย" วิโชติกล่าว
ศิริรัตน์ อนันต์รัตน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท