Skip to main content
sharethis

ภาพจาก เอพี
-----------------------------------
"รายงานคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ"
เปิดเผยโดย "คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ"

5. ข้อพิจารณาของคณะกรรมการอิสระฯ จากพยานหลักฐานที่ได้รับ

5.1 สถานการณ์ ความจำเป็น และความเหมาะสม

สืบเนื่องจากเหตุการณ์การปล้นอาวุธค่ายทหารเป็นเหตุให้มีเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ พร้อมกับการวางเพลิงเผาโรงเรียนพร้อมกัน 20 แห่ง ในจังหวัดนราธิวาส และต่อมาได้มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นในจังหวัดภาคใต้ มีการวางเพลิงและวางระเบิดสถานที่ราชการ โรงเรียน สังหารและทำร้ายภิกษุ ประชาชน และเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 ทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่เกิดความหวาดกลัว และไม่มีความมั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ของรัฐยังไม่สามารถดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนได้ แม้ว่ารัฐบาลมีหน้าที่ที่จะต้องดำเนินการเพื่อให้พื้นที่จังหวัดภาคใต้ ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบกลับมาสู่ภาวะความสงบสุข รวมทั้งสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยให้แก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ และที่สำคัญคือการนำตัวผู้กระทำความผิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบทั้งหลายดังกล่าว มาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม จนกระทั่งวันที่ 28 เมษายน 2547 เหตุการณ์ความไม่สงบได้ทวีความรุนแรงสูงสุด เมื่อกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบจำนวนหนึ่ง ได้บุกโจมตีฐานที่มั่นของทางราชการพร้อมกัน 11 จุด รวมทั้งจุดตรวจกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี และได้หลบหนีเข้าไปยึดครองมัสยิดกรือเซะใกล้จุดตรวจดังกล่าว

ดังนั้น การพิจารณาในประเด็นความจำเป็นของการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะนั้น จึงไม่สามารถแยกพิจารณาเฉพาะเหตุการณ์ได้ แต่สมควรอย่างยิ่งที่จะต้องนำเหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดภาคใต้ก่อนหน้านี้ มาประมวลและพิจารณาประกอบด้วย เพื่อให้เห็นถึงเจตนารมณ์ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบว่า ประสงค์จะให้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบและรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำลายความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อรัฐบาล ทั้งนี้ ไม่ว่าจะมีวัตถุประสงค์ใดอยู่เบื้องหลัง

ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า หลังจากการบุกโจมตีป้อมจุดตรวจกรือเซะ วางเพลิงจักรยานยนต์ สังหาร ทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจบาดเจ็บ และปล้นอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนไปจำนวนหนึ่ง ผู้ก่อความไม่สงบบางส่วนได้หลบหนีเข้าไปทางบริเวณสวนมะพร้าว และบางส่วนได้หลบหนีเข้าไปยึดครองมัสยิดกรือเซะ และได้ใช้เครื่องขยายเสียงของมัสยิดประกาศเป็นภาษามลายู เรียกร้องให้ชาวบ้านเข้ามาร่วมต่อสู้เพื่อพระเจ้า และไล่ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปจากมัสยิดกรือเซะ พร้อมกับประกาศพลีชีพเพื่อพระเจ้า ระหว่างที่เจ้าหน้าที่ของรัฐทำการปิดล้อมมัสยิดกรือเซะ กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ยิงออกมาจากมัสยิดกรือเซะ เจ้าหน้าที่จึงได้ยิงตอบโต้ มีการยิงปะทะตอบโต้กันเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง และมีการประกาศพลีชีพเมื่อเจ้าหน้าที่พยายามตะโกนบอกให้วางอาวุธและเข้ามอบตัว การปะทะดำเนินไปอย่างยืดเยื้อ จนกระทั่งกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในมัสยิดได้ยิงเจ้าหน้าที่บาดเจ็บและเสียชีวิต ได้ความจากฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า ณ เวลานั้น เจ้าหน้าที่ไม่สามารถประเมินได้ว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในมัสยิดมีจำนวนเท่าใด และมีอาวุธร้ายแรงอะไร เท่าไร เนื่องจากเจ้าหน้าที่อยู่ในที่สว่างและไม่สามารถมองเห็นภาพในมัสยิดกรือเซะได้ เนื่องจากภายในมัสยิดค่อนข้างมืดและกลุ่มผู้ ก่อความไม่สงบได้ใช้ม่านผ้าใบปิดช่องหน้าต่าง ช่วงที่มีการปะทะมีเสียงโห่ร้องของกลุ่มคนจำนวนนับพันที่ชุมนุมอยู่รอบนอก ซึ่งเจ้าหน้าที่เห็นว่ามีท่าทีคุกคามที่อาจเป็นอันตรายต่อการปฏิบัติหน้าที่ และเชื่อว่าน่าจะมีแนวร่วมของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแฝงตัวอยู่ในกลุ่มคนเหล่านี้ เพื่อสร้างสถานการณ์ หากแนวร่วมของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งแฝงตัวอยู่ในกลุ่มคนดังกล่าวยิงใส่เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องตอบโต้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริสุทธิ์ที่มามุงดูในช่วงเวลานั้น เพราะเจ้าหน้าที่จะไม่สามารถแยกแยะได้ว่า ใครเป็นผู้บริสุทธิ์ ใครเป็นแนวร่วม และหากปล่อยเวลาให้เนิ่นนานออกไป จะยิ่งทำให้สถานการณ์ยากแก่การควบคุม ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตระหนักดีว่า มัสยิดกรือเซะเป็นศาสนสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่โดยที่สถานการณ์และภาวการณ์ที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้น มีลักษณะเป็นภัยคุกคามต่อชีวิต และร่างกายของเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชน และเมื่อไตร่ตรองถึงความสูญเสียและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นตามมา หากปล่อยให้สถานการณ์ยืดเยื้อต่อไป กอปรกับได้มีการตรวจสอบแล้วว่า ไม่มีผู้บริสุทธิ์หลงเหลืออยู่ในมัสยิดกรือเซะ เจ้าหน้าที่ของรัฐจึงตัดสินใจปฏิบัติการขั้นเด็ดขาด และยุติสถานการณ์เพื่อรักษาความปลอดภัยต่อชีวิตและร่างกายของเจ้าหน้าที่และประชาชน

ส่วนข้อเท็จจริงที่คณะกรรมการอิสระฯ ได้จากประชาชนในพื้นที่และผู้สื่อข่าว สรุปได้ว่า เมื่อประมาณ 07.00 น. เริ่มมีประชาชนมุงดูเหตุการณ์โดยส่งเสียงโห่ร้อง เพราะต้องการให้เจ้าหน้าที่หยุดยิงเป็นการชั่วคราว เพื่อให้นายดลกอเด เจ๊ะเฮาะ เข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ต่อมา มีการรวมตัวกันของประชาชนจำนวนมาก เมื่อเจ้าหน้าที่ยิงอาวุธหนักเข้าไปยังมัสยิดกรือเซะประชาชนก็โห่ร้องพร้อมตะโกนว่ามัสยิดพังหมดแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการโห่ร้องในลักษณะเป็นการเอาใจช่วยหรือให้กำลังใจกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ

เมื่อพิเคราะห์จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการอิสระฯ เห็นว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐมีเหตุผลสมควรที่จะทำให้เชื่อได้ว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบอยู่ในฐานะที่สามารถคุกคามต่อชีวิตและร่างกายของเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนได้ กล่าวคือ มีอาวุธร้ายแรงจำนวนหนึ่ง (ซึ่งคงไม่เพียงเฉพาะที่ยึดมาจากการเข้าโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐเท่านั้น) มีผู้ร่วมก่อเหตุการณ์จำนวนมากพอสมควร มีการวางแผนล่วงหน้า และมีความตั้งใจที่จะพลีชีพโดยไม่ยอมจำนน รวมทั้งไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้แน่ชัดว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวกระทำการไปเพื่อประสงค์จะเจรจาต่อรองกับรัฐบาลในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ

และเมื่อพิจารณาการกระทำของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่เข้าโจมตีจุดตรวจกรือเซะ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ปล้นอาวุธปืน วางเพลิงเผาทรัพย์ แล้วเข้าไปหลบซ่อนตัวอยู่ในมัสยิดกรือเซะ เข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดอาญา ซึ่งเจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุมได้ และสามารถใช้วิธีหรืออาวุธที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์หากมีการขัดขวางการจับกุม

ฉะนั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ใช้อาวุธปืนยิงออกมาจากมัสยิดกรือเซะโดยไม่ยอมมอบตัว และเจ้าหน้าที่ถูกกระสุนปืนที่ผู้ก่อความไม่สงบยิงออกมาได้รับบาดเจ็บและถึงแก่ความตาย การที่เจ้าหน้าที่ใช้วิธียิงตอบโต้เข้าไปยังกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ถือได้ว่าเป็นวิธีที่กฎหมายให้อำนาจไว้ แต่การใช้วิธีดังกล่าวจะต้องกระทำเท่าที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์ กล่าวคือ การใช้อาวุธจะต้องใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น

สำหรับเรื่องนี้ มีหลักสากลเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป คือ UN Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials ซึ่งกำหนดไว้ว่า "ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เริ่มด้วยมาตรการที่ไม่รุนแรงก่อน โดยอาจใช้กำลังและอาวุธได้ต่อเมื่อการใช้มาตรการที่ไม่รุนแรงนั้นไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่มีท่าทีว่าจะสัมฤทธิผล และในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้กำลังและอาวุธโดยชอบด้วยกฎหมายได้ให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่จำกัดการใช้กำลังและอาวุธ กล่าวคือ ให้ใช้กำลังและอาวุธในสัดส่วนที่เหมาะสมกับความรุนแรงของการกระทำความผิด และเท่าที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย" ซึ่งก็สอดคล้องกับแผนปฏิบัติงานของไทย กล่าวคือ แผนเผชิญเหตุภูธรจังหวัดปัตตานีกำหนดว่า ให้มีการยืดหยุ่นในการเจรจา ใช้กำลังจากเบาไปหาหนัก โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และหากมีความจำเป็นที่ต้องใช้กำลังเพื่อแก้ไขสถานการณ์ ให้ดำเนินการในขอบเขตที่เหมาะสม และแผนเผชิญเหตุหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหาร ใช้กำลังเข้าคลี่คลายสถานการณ์และระงับเหตุร้ายที่เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นส่วนรวม โดยคำนึงถึงความมั่นคงของชาติเป็นหลัก

5.1.1 คณะกรรมการอิสระฯ เสียงข้างมาก (นายสุจินดา ยงสุนทร นายอารีย์ วงศ์อารยะ นายจรัญ มะลูลีม นายมหดี วิมานะ และนายอาศิส พิทักคุมพล) พิจารณาหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องข้างต้นแล้ว มีความเห็นว่า

5.1.1.1 แม้ฝ่ายเจ้าหน้าที่จะอ้างว่าจำเป็นต้องใช้อาวุธเพื่อปกป้องชีวิตตนเองและประชาชนผู้บริสุทธิ์ แต่เมื่อคำนึงถึงที่ตั้งของมัสยิดกรือเซะ ซึ่งตั้งอยู่อย่างเป็นเอกเทศ ไม่ได้อยู่กลางแหล่งชุมชน และจำนวนประชาชนก็ไม่ได้มีจำนวนมากตามที่มีการกล่าวอ้าง การใช้วิธีปิดล้อมและตรึงกำลังไว้รอบมัสยิด ควบคู่ไปกับการเจรจาและเกลี้ยกล่อมโดยสันติวิธี อาจทำให้ผู้ก่อความไม่สงบยอมจำนนได้ในที่สุด อันจะช่วยให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ได้รับข้อมูลเรื่องวัตถุประสงค์ ของการดำเนินการครั้งนี้ รวมทั้งผู้อยู่เบื้องหลัง ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่การประเมินสถานการณ์และป้องกันภัยที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต การยุติเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ ด้วยสันติวิธี จึงมีความเหมาะสมกว่าที่จะใช้วิธีรุนแรงและอาวุธหนักเพื่อยุติเหตุการณ์

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พลเอกชวลิตฯ ได้มีคำสั่งให้พันเอกมนัสฯ ยุติเหตุการณ์โดยสันติวิธีดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น อีกทั้ง จากข้อมูลที่ได้รับปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ขาดความพร้อมในการเผชิญกับเหตุการณ์ที่เป็นวิกฤตอย่างเพียงพอ ในการยุติสถานการณ์ด้วยสันติวิธี ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลควรตระหนักเป็นอย่างยิ่ง เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต

5.1.1.2 เกี่ยวกับประเด็นความเหมาะสมของอาวุธที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการปฏิบัติการที่มัสยิดกรือเซะนั้น คณะกรรมการอิสระฯ เห็นว่า วิธีที่อาจนำมาใช้วัดได้วิธีหนึ่งคือการเทียบเคียงประเภท จำนวน และความรุนแรงของอาวุธที่ทั้งสองฝ่ายใช้ในการปะทะกัน จากหลักฐานที่คณะกรรมการอิสระฯ ได้รับมาปรากฏว่า ผู้ก่อความไม่สงบใช้ปืนเอ็ม 16 และเอชเค 33 นอกจากนี้ผู้ก่อความไม่สงบใช้อาวุธปืนเอ็ม 79 ยิงกระสุนออกมาจากมัสยิดอย่างน้อยสองนัด อย่างไรก็ตาม น่าจะประเมินได้ว่ากระสุนเอ็ม 79 คงมีทั้งหมดไม่เกิน 3 ลูก ซึ่งเป็นอาวุธที่ยึดได้จากการโจมตีจุดตรวจกรือเซะในตอนเช้าของวันเดียวกันนั้นเอง

ส่วนเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ตอบโต้ผู้ก่อความไม่สงบด้วยอาวุธหลายประเภทด้วยกัน คือ เอ็ม 16 อาวุธอาร์พีจี (แบบหัวเจาะ) ซึ่งมีหางนำทิศ กระสุนปืนอาร์พีจีนี้หล่นอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุจำนวน 5 หาง ระเบิดขว้างสังหาร 9 ลูก ซึ่งได้ทิ้งร่องรอยระเบิดไว้ในมัสยิดรวม 9 จุด แก๊สน้ำตาจำนวน 2 - 3 ลูก ปืนกลแม็ก 58

5.1.1.3 อาศัยเหตุและผลตามที่ได้กล่าวอ้างข้างต้น คณะกรรมการอิสระฯ โดยเสียงข้างมาก จึงเห็นว่ามีหลักฐานพอเชื่อได้ว่า

- ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับความกดดันอย่างหนักตั้งแต่เช้าตรู่ของวันที่ 28 เมษายน 2547 เพราะมีการโจมตีและใช้ความรุนแรงของผู้ก่อความไม่สงบเกิดขึ้นพร้อมกันถึง 11 จุด ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องกระจายกำลังกันออกไปหลายแห่ง จึงเหลือกำลังน้อยมากในแต่ละจุด และที่กรือเซะปรากฏว่า การขอกำลังก็ไม่ได้รับการตอบสนอง
- ผู้ก่อความไม่สงบมีท่าทีแข็งกร้าวและไม่ยอมจำนน และยังถือโอกาสแรกที่จะสังสังหารเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งได้เสียชีวิตจำนวน 3 คน และถูกทำร้ายบาดเจ็บจำนวน 8 คน โดยเฉพาะสิบเอกสามารถฯ ที่เข้าไปบอกให้ยอมจำนน ซึ่งถูกผู้ก่อความไม่สงบยิงที่กลางหน้าผากและเสียชีวิตในที่สุด
- ช่วงที่มีการปะทะได้มีการโห่ร้องของประชาชนที่มาสังเกตการณ์ ซึ่งฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐเชื่อว่า มีท่าทีคุกคามที่อาจจะเป็นอันตรายต่อเจ้าหน้าที่นั้น แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า การโห่ร้องดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะประชาชนเกรงว่า มัสยิดจะถูกกระสุนปืนพังเสียหายมากกว่าเป็นการสนับสนุนผู้ก่อความไม่สงบ แต่คณะกรรมการอิสระฯ เห็นว่า ในภาวะวิสัยเช่นนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐก็เชื่อโดยสุจริตใจว่า ท่าทีของประชาชนดังกล่าว อาจเป็นภัยคุกคามและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัวเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย จึงได้ตัดสินใจปฏิบัติการขั้นเด็ดขาด

แต่อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้อาวุธหนักของฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐในเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2547 น่าจะไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ระบุถึงความจำเป็นและการได้สัดส่วนในการใช้กำลังระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับผู้ก่อความไม่สงบ

5.1.1.4 เนื่องจากการตายของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเกิดขึ้น โดยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ กระบวนการตรวจสอบดังกล่าว ย่อมต้องดำเนินการโดยองค์กรในกระบวนการยุติธรรม
5.1.2 ส่วนกรรมการอิสระฯ เสียงข้างน้อย (นายภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์) มีความแตกต่างจากข้อวินิจฉัยข้างต้นบางประการ ทั้งนี้ ขอชี้แจงเหตุผลประกอบ ดังต่อไปนี้

5.1.2.1 กรรมการอิสระเสียงข้างน้อย ไม่ได้คัดค้านต่อความเห็นของคณะกรรมการอิสระฯ เสียงข้างมากดังกล่าวข้างต้น แต่ใคร่ขอเสนอการมองปัญหาอีกมุมมองหนึ่ง ดังนี้

5.1.2.2 กรรมมาเสียงข้างน้อยเห็นว่า การที่จะวินิจฉัยว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ "ชอบธรรม" หรือไม่ "รุนแรง" เกินไปหรือไม่ "เหมาะสม" หรือไม่ เป็นเรื่องยากเพราะไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่เป็นความคิด เนื่องจากยากที่จะกำหนด "เส้น" ของ "ความชอบธรรม" "ความเหมาะสม" และ "ความรุนแรง" ว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ จะใช้อะไรมาเป็นเกณฑ์วินิจฉัย และเห็นว่าภารกิจของคณะกรรมการอิสระฯ น่าจะเป็นการสืบสวนสอบสวนและประมวลข้อเท็จจริง สิ่งที่เกิดขึ้นจริงเป็นสำคัญ

5.1.2.3 ถ้ามองในภาพรวมของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 28 เมษายน 2547 การที่มีผู้ก่อความไม่สงบจำนวนมาก ได้เข้าโจมตีที่ตั้งของหน่วยทหาร ตำรวจ ของส่วนราชการอื่น พร้อมกันหลายแห่ง ทำร้ายเจ้าหน้าที่บาดเจ็บล้มตาย น่าจะถือได้ว่าเป็นการกระทำของ "ผู้กระทำอันเป็นศัตรู" ต่อความมั่นคงของประเทศ มิใช่เป็นการประกอบอาชญากรรมธรรมดา การต่อสู้กันขณะนั้น จึงมีลักษณะเป็น "สถานการณ์สู้รบ" ที่คู่ต่อสู้ได้รับบาดเจ็บเสียชีวิตทั้งสองฝ่าย ทั้งด้านเจ้าหน้าที่และผู้ก่อความไม่สงบ เป็นการกระทำที่เป็น "กระบวนการ"

5.1.2.4 กรรมการเสียงข้างน้อยเห็นว่า การใช้ "สัดส่วน" เชิงเปรียบเทียบกำลังที่ใช้อาวุธที่ใช้เพียงอย่างเดียวมาเป็น "ตัวชี้วัด" หรือใช้ "สัดส่วนเชิงปริมาณ" เป็นเกณฑ์วัดเพียงอย่างเดียวคงไม่ถูกนัก ควรมองถึง "สัดส่วนของอันตราย" ด้วย ซึ่งพิจารณาจาก "ภัย" ที่เกิดขึ้น "ผลเสียหาย" ที่เกิดกับทั้งสองฝ่าย ถ้ามองใน "สัดส่วนของอันตราย" ภายใต้ "สถานการณ์สู้รบ" ขณะนั้น ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ไม่อาจประเมินกำลังคนและอาวุธของผู้ก่อเหตุได้

5.1.2.5 การบาดเจ็บล้มตายมิได้เกิดขึ้นกับผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุแต่ฝ่ายเดียว แต่ผู้ก่อความไม่สงบในฐานะที่จะคุกคามชีวิตและร่างกายของเจ้าหน้าที่และประชาชนได้ กล่าวคือ มีอาวุธร้ายแรงจำนวนหนึ่ง ที่ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายคน ถ้าเรื่องยังไม่ยุติเจ้าหน้าที่อาจบาดเจ็บล้มตายอีก มีผู้ร่วมก่อความไม่สงบจำนวนมากพอสมควร มีการวางแผนล่วงหน้า มีความตั้งใจที่จะต่อสู้จนถึงที่สุด และได้ประกาศไม่ยอมจำนน รวมทั้งไม่มีสิ่งบ่งชี้ใดๆ ว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวกระทำการไป เพื่อประสงค์จะเจรจาต่อรองในเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นการเฉพาะ
5.1.2.6 การที่เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ พลเรือนได้ร่วมมือกันตามแผนระงับเหตุที่ได้วางไว้ในการปราบปราม ป้องกันตัว ระงับเหตุร้ายจากการกระทำของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่มัสยิดกรือเซะ (และที่อื่นๆ อีก 10 แห่ง) เป็นไปตาม "กฎของการปะทะ" ตามยุทธวิธีที่ได้วางไว้และฝึกมาเป็นขั้นตอน เริ่มด้วยการปิดล้อม ประกาศให้ผู้ก่อเหตุออกมามอบตัวแต่ผู้ก่อความไม่สงบไม่ยอม จึงมีการยิงตอบโต้กันเป็นระยะ เจ้าหน้าที่ใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาหย่อนเข้าไปในมัสยิด แต่พวกเขาก็ยังไม่ยอมมอบตัว จึงมีการนำอาวุธหนักอาร์พีจี ยิงด้วยหัวเจาะมุ่งเจาะผนังมัสยิดเพื่อให้เกิดรูโหว่สำหรับขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาตามเข้าไป ไม่ได้ใช้หัวระเบิดเพื่อทำลายมัสยิด แต่ผนังแข็งแกร่งเกินกว่าที่จะให้เกิดช่องได้ เจ้าหน้าที่ได้ใช้ลูกระเบิดขว้างหย่อนเข้าไป 2 ครั้ง เพื่อตัดกำลังข้าศึก แต่ไม่มีท่าทีว่า ผู้ก่อความไม่สงบจะออกมามอบตัว หรือยอมจำนน จนต้องตัดสินใจส่งชุดจู่โจมยุติเหตุการณ์ ซึ่งชุดจู่โจมเอาชีวิตเข้าไปแลกเช่นกัน ถ้าพิจารณาให้ดี จะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ทำเป็นขั้นตอน จากอ่อนไปถึงแก่

5.1.2.7 ถ้าจะพิจารณาว่า การระงับเหตุของเจ้าหน้าที่รุนแรงไปหรือไม่ ต้องย้อนกลับไปดูข้อเท็จจริงตั้งแต่ต้นว่า เหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นใครเป็นผู้ก่อ ผู้ก่อความไม่สงบลงมือก่อเหตุรุนแรงก่อนใช่หรือไม่ โดยทำร้ายตำรวจถึงแก่ชีวิตและบาดเจ็บ แย่งอาวุธปืนไป ไม่ยอมหลบหนี แต่กลับไปยึดมัสยิดกรือเซะเป็นฐานปฏิบัติการ และเป็นที่หลบกำบังยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายที่ป้องกันรักษาความมั่นคงของชาติ มีการยิงตอบโต้กัน สาดกระสุนใส่กัน แม้จะมากน้อยแตกต่างกัน แต่ทำให้ตายด้วยกันทั้งสองฝ่าย ในสถานการณ์ขณะนั้น ผู้ก่อความไม่สงบเข้าโจมตีที่ตั้งของเจ้าหน้าที่พร้อมกันหลายจุด ซึ่งเป็นสถานการณ์สู้รบ พิจารณาได้อย่างไรว่า เจ้าหน้าที่ใช้กำลังและอาวุธในสัดส่วนที่เกินกว่าอันตรายและรุนแรง ตลอดจนผลต่อเนื่องที่อาจจะเกิดขึ้นจากการกระทำของผู้ก่อความไม่สงบ

5.1.2.8 กรรมการเสียงข้างน้อยเห็นด้วยว่า จะเป็นการดียิ่งหากเหตุการณ์ทุกอย่างยุติโดยสันติธี ซึ่งทางการไทยพยามที่จะทำให้เหตุการณ์ทุกอย่างสงบลงอย่างเรียบร้อย ดังจะเห็นได้จากการแนะนำของ ฯพณฯ รองนายกรัฐมนตรี (ฝ่ายความมั่นคง) ให้ฝ่ายเราเจรจาเพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามออกมามอบตัว หรือจากการที่เจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ก่อความไม่สงบได้จำนวนมากในเวลาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้มุ่งจะสังหารผู้ก่อความไม่สงบอย่างเดียว แต่ที่มีการบาดเจ็บล้มตายทั้งสองฝ่าย เป็นผลจากการปฏิบัติด้วยอาวุธ ระหว่างผู้ก่อความไม่สงบต่อความมั่นคงของชาติกับเจ้าหน้าที่บ้านเมืองที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ในขณะนั้น ไม่มีทางเลือกเป็นอย่างอื่น ทั้งผู้ก่อความไม่สงบที่มัสยิดกรือเซะได้ปฏิเสธที่จะออกมามอบตัวและที่จะเจรจา

5.1.2.9 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่มัสยิดกรือเซะและอีก 10 จุด กล่าวได้ว่า มาตรฐานของ "คนดู" และของ "คู่ต่อสู้บนเวที" อาจไม่เหมือนกัน เพราะคนดูไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ที่ถูกจู่โจมและดูอยู่ไกล แต่ผู้ปฏิบัติการต้องตัดสินใจเฉพาะหน้า ตามหลักและวิชาที่ได้ฝึกมา สิ่งที่ "ควรจะเป็น" "น่าจะเป็น" กับ "สิ่งที่เป็นจริง" ขณะนั้นจึงแตกต่างกัน และควรพิจารณาจาก "ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ปะทะ" และ "สภาพแวดล้อมในขณะนั้น" ด้วย เป็นการตัดสินใจของผู้ปฏิบัติภายใต้สภาพแวดล้อมขณะนั้น ซึ่งไม่มีโอกาสที่จะรู้ว่า ผู้ก่อความไม่สงบในมัสยิดมีจำนวนเท่าใด รวมทั้งฝูงชนที่ปรากฏตัว ณ ที่นั้นจำนวนมากที่ยากจะคาดคะเนได้ว่าเป็นอย่างไร ทุกอย่างมารู้และให้ความเห็นได้เมื่อเหตุการณ์ยุติแล้วทั้งสิ้น

5.1.2.10 กรรมการเสียงข้างน้อยเห็นว่า เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ พลเรือนที่เข้าระงับเหตุ ไม่เพียงแต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่และป้องกันตัวเท่านั้น แต่เป็นการ "ป้องกันรักษาความมั่นคงของชาติบ้านเมือง" จากการกระทำของกลุ่มบุคคลที่ถือว่า "การกระทำเยี่ยงกบฏ" หากเห็นว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ที่ได้ทำลงไปไม่เหมาะสม หรือรุนแรงเกินไป มีการผิดพลาดใดๆ ที่เกิดขึ้นโดย "สุจริตใจ" ของฝ่ายเจ้าหน้าที่ ก็น่าจะบรรเทาลงได้ และหากจะถือว่าเป็นความผิด ก็ควรจะต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ว่าใครเป็นผู้กล่าวหา กล่าวหาอย่างไร ผิดกฎหมายใด ข้อใด ทั้งผู้ถูกกล่าวโทษต้องมีโอกาสที่จะรับการพิจารณาตัดสินโดยผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

5.2 ผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์
เจ้าหน้าที่ระดับสูงผู้อยู่ในเหตุการณ์ และ / หรือมีส่วนเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการระงับปราบปรามเหตุการณ์มัสยิดกหรือเซะ มีดังนี้
1. พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง
2. พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน
3. พลโทพิศาล วัฒนวงษ์คีรี แม่ทัพภาคที่ 4
4. นายเสนอ จันทรา ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
5. นายไตรรัตน์ จงจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
6. พลตำรวจโท ปรุง บุญผดุง ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9(ในขณะนั้น)
7. พลตำรวจตรีธานี ทวิชศรี รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9
8. พลตำรวจตรี ไพฑูรย์ พัฒนโสภณ ผู้บังคับการตำรวจภูธรปัตตานี
9. พันตำรวจเอกโพธ สวยสุวรรณ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรปัตตานี
10. พันเอกมนัส คงแป้น ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ จังหวัดปัตตานี
11. นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล นายอำเภอเมืองปัตตานี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net