Skip to main content
sharethis

นอกเหนือจากเรื่องความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประเด็นทางการเมืองในเรื่องนโยบายสาธารณะที่จะร้อนแรงที่สุดภายใต้รัฐบาลทักษิณ 2 ก็คือ ร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ และแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจตามภูมิภาคต่าง ๆ ที่กำลังเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อของปมขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจ ครั้งใหญ่

จากทิศทางดังกล่าว รัฐบาลกำลังจะสถาปนาเขตรวมศูนย์ทุนอำนาจนิยมแบบเบ็ดเสร็จ ที่อยู่นอกเหนือกระบวนการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกด้าน ปฏิเสธกระทั่งอำนาจในการนิยามตัวตนหรืออัตลักษณ์ของคนท้องถิ่นว่า เขาอยากพัฒนาตัวเองแบบไหน จะใช้ทรัพยากรเพื่อทำอะไรบ้าง ประดิษฐ์กรรมทางการเมืองและเศรษฐกิจชิ้นใหม่นี้อาจถูกเรียกว่าเป็น "พื้นที่สิทธิสภาพนอกอาณาเขตของประชาชน" ที่ประชาชนท้องถิ่นใด ๆ จะเกี่ยวข้องได้

จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทำไมถึงมีผู้คนออกมาคัดค้านร่างกฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษกันอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง ไม่ว่าจะเป็นขาประจำหรือขาจร แต่สิ่งที่อยากชวนจับตามองก็คือ การสถาปนาอำนาจใหม่แบบนี้ มิใช่จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีกฎหมายออกมาแล้วเท่านั้น เพราะขณะนี้ภาคปฏิบัติการเขตเศรษฐกิจพิเศษกำลังล่วงหน้าไปก่อนแล้ว

อภิมหาโปรเจคกับการดูดทรัพยากร

ท่ามกลางเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหลายที่กำลังจะผุดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นที่เชียงราย ตาก นครนายก และอื่น ๆ เขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะร้อนแรงที่สุดก็คือ เขตเศรษฐกิจภาคใต้ ภายใต้สถานการณ์ความล่อแหลมทางการเมืองที่กำลังคุกรุ่น ไม่ว่าจากการต่อสู้คัดค้านท่อก๊าซไทย-มาเลย์ หรือปัญหาความขัดแย้งใน 3 จังหวัดภาคใต้
จะว่าไปแล้ว รัฐได้วาดภาพการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมภาคใต้มาเนิ่นนานแล้ว ภายหลังจากสร้างความวิบัติให้กับภาคตะวันออกภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) ตั้งแต่ปี 2524 จนทำให้พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ด้านระบบนิเวศ การเกษตร และท่องเที่ยวต้องมลายไปพร้อมกับวิถีชีวิตของชาวสวนและชาวประมง ต้องกลายเป็นแรงงานรับจ้างภายใต้ผืนดินอันแห้งแล้ง เต็มไปด้วยมลพิษจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและอื่น ๆ

ภาคใต้ในสายตารัฐก็หาได้ต่างจากนั้นไม่ มิหนำซ้ำจะพัฒนาในขนาดที่ใหญ่กว่า ยุทธศาสตร์โครงการแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้กำหนดให้ภาคใต้เป็นทางผ่านการค้าโลกระหว่างตะวันออกกลางหรือกลุ่มประเทศอาหรับกับตะวันออกไกลได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี จีน เป็นต้น โดยจะมีการทำสะพานเศรษฐกิจพลังงานทางบก (Strategic Energy Landbridge) ซึ่งจะทำโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก และสร้างเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างชายฝั่งทะเลอันดามัน (อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา) ไปสู่ฝั่งทะเลอ่าวไทย (อ. สิชล จ.นครศรีธรรมราช) เพื่อเป็นเส้นทางลำเลียงสินค้า โดยเฉพาะน้ำมันดิบที่มาจากตะวันออกกลางไปสู่ตะวันออกไกล ตามมาด้วยอุตสาหกรรมปิโตรเลี่ยม เช่น โรงกลั่นน้ำมัน อุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจร มีพื้นที่ครอบคลุมในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมชาติ กระบี่ พังงา และภูเก็ต

นอกเหนือจากการเชื่อมต่อเศรษฐกิจพลังงานแล้ว รัฐได้ร่วมมือกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย พัฒนาโครงการความร่วมมือเศรษฐกิจร่วม 3 ฝ่าย (IMT-GT) เพื่อการพัฒนานานาชนิด ทั้งการท่องเที่ยว การค้าระหว่างประเทศ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การเกษตร พลังงาน อุตสาหกรรม โครงสร้างพื้นฐาน ในส่วนไทยครอบคลุมพื้นที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล โดยจะแบ่งเป็นกลุ่มพื้นที่ศูนย์กลาง ซึ่งเป็นเขตพัฒนาแหล่งแร่งดีบุกและวุลแฟลม กลุ่มพื้นที่ตอนในซึ่งพื้นที่ชาวไทยมุสลิม โดยมุ่งส่งเสริมให้ทำเกษตร ทำอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล และเป็นแรงงานเหมืองแร่ และกลุ่มพื้นที่ฝั่งอ่าวไทย คือ มีเชื้อเพลิงก๊าซในอ่าวไทย เขตอภิมหาเศรษฐกิจเช่นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการดูดเอาทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างมหาศาลมาหล่อเลี้ยง ทะเลสาบสงขลา คือแหล่งน้ำจืดที่เตรียมไว้กับอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น

นั่นเป็นเหตุว่า ทำไมรัฐถึงไม่สนใจที่จะทำให้ทะเลสาบสงขลาเป็นระบบนิเวศ 3 น้ำ อย่างที่ชุมชนท้องถิ่นต้องการ

นอกจากนี้ยังมีการเตรียมสร้างอ่างเก็บน้ำอีกหลายแห่ง เช่น ที่คลองท่าชล สิชล คลองกายที่นครศรีธรรมราช ที่ท้ายเหมือง จ . กระบี่ ที่สุราษฎร์ธานี ในด้านที่ดิน ก็ได้มีการกว้านซื้อที่ดินในพื้นที่โครงการส่วนใหญ่ไปเมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา

ใครได้ประโยชน์

ด้วยแนวทางอันแยบยล แทนที่รัฐจะกล่าวถึงแผนพัฒนาขนาดใหญ่ที่จะกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในวงกว้าง รัฐเริ่มจากการปล่อยโครงการนำร่องบางโครงการเพื่อการชิมลาง เช่น โครงการท่อก๊าซไทย - มาเลย์ โดยล้อมกรอบผู้มีส่วนได้เสียเฉพาะที่ท่อก๊าซพาดผ่าน ซึ่งก็ได้ผลสำเร็จในแง่ที่ว่า ประชาชนในพื้นที่ซึ่งไม่รู้ตัวว่าจะโดนโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หล่นทับไม่ออกมาตั้งคำถามต่อโครงการท่อก๊าซ พวกค้านท่อก๊าซจึงโดดเดี่ยวยิ่ง และรัฐก็กำลังจะรุกต่อด้วยโครงการแลนด์บริดจ์ และอื่นๆ จนกินหมดกระดาน

หากจะเปรียบไปแล้ว นี่เป็นการกำหนดโซนแบ่งสี ที่น่ากลัวไม่น้อยไปกว่าการกำหนดโซนสีต่อปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ เพราะอย่างน้อยชาวบ้านก็แค่ไม่ได้รับงบประมาณ หรือกองทุนเงินกู้ต่างๆ จากรัฐบาล แต่โซนสีของเศรษฐกิจพิเศษกำลังกลบลบอัตลักษณ์ของท้องถิ่นได้อย่างน่ากลัว

ใครอยากจะเป็นประมงพื้นบ้าน หากินกับชายฝั่ง ใครอยากจะเป็นชาวนา ใครอยากจะปลูกสวนไม้ผล ทำสวนสนรม ทำเกษตรผสมผสาน ค้าขายในท้องถิ่น รัฐไม่สนใจทั้งสิ้น รัฐมุ่งเพียงแต่จะเปลี่ยนให้เป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม รัฐไม่เคยรู้ว่าเขตเศรษฐกิจตามวิถีชีวิตของชาวบ้านเป็นอย่างไร มีการผลิตอย่างไร ค้าขายแลกเปลี่ยนอย่างไร สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคมให้แก่ผู้คนในท้องถิ่นและประเทศชาติอย่างไร

การไม่รับรู้ถึงการดำรงอยู่ของเขตเศรษฐกิจวัฒนธรรมของท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องอันตราย ทำให้รัฐตลอดจนสาธารณะไม่สามารถประเมินผลได้และผลเสียอย่างแท้จริงที่จะเกิดขึ้นต่อผู้คนในท้องถิ่นหรือประเทศชาติ
ลองประเมินดูสิครับ เริ่มดูจากกิจกรรมการผลิต การค้าขายของสินค้าท้องถิ่นนานาชนิด ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะในจังหวัด แต่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายที่ก้าวข้ามขอบเขตประเทศไปสู่ภูมิภาค และดูว่ากิจกรรมและโครงข่ายการผลิตของท้องถิ่นนั้นอยู่ได้ด้วยฐานทรัพยากรอะไร ด้วยระบบการจัดการทรัพยากรแบบไหน มีระบบการค้า การแลกเปลี่ยนกันอย่างไร สร้างมูลค่าเท่าไร ไหลเวียนและกระจายไปสู่ท้องถิ่นในวงกว้างแค่ไหน

รัฐและกลุ่มเทคโนแครตต้องตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ ก่อนที่จะไปคิดถึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เขตนิคมอุตสาหกรรม สะพานเศรษฐกิจ และประเมินต่อไปว่าเขตเศรษฐกิจท้องถิ่นจะได้รับผลกระทบจากเขตเศรษฐกิจของรัฐและกลุ่มทุนอย่างไร เพราะคำถามเหล่านี้มีความสำคัญต่อการธำรงอยู่ของอัตลักษณ์และเขตเศรษฐกิจวัฒนธรรมท้องถิ่น และทิศทางการพัฒนาของประเทศ ตลอดจนมิติทางการเมืองเรื่องสิทธิเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อนโยบายสาธารณะ

กฤษฎา บุญชัย
แผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ/
สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net