เหตุเกิดที่สุวรรณภูมิ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ข่าวนำ " สหรัฐปูด "คอร์รัปชั่น" ข้ามชาติ อินวิชั่นยอมรับต่อทางการสหรัฐจ่ายเงินเจ้าหน้าที่รัฐ-นักการเมืองไทย" กรณีการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิดในสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิของหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 25 เม.ย. 2548 ถือเป็นการตบหน้ารัฐบาลไทยอย่างแรงโดย เฉพาะในห้วงเวลาที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมสหประชาชาติ(ยูเอ็น) ว่าด้วยการป้องกันอาชญา กรรมและความยุติธรรมทางอาญาครั้งที่ 11 ที่กรุงเทพฯ

ทั้งยังตอกย้ำประเด็นที่ว่า โลกาภิวัตน์ของการทุจริตคอร์รัปชั่นในระดับข้ามรัฐข้ามชาติเป็นเรื่องปรกติธรรมดา ไม่ว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา หรือประเทศกำลังพัฒนาเช่นประเทศไทย

แม้ว่ารัฐบาลพรรคไทยรักไทย มีนโยบายทำสงครามกับคอร์รัปชั่น และนายกรัฐมนตรีประกาศให้โครง
การสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิเป็นโครงการเร่งด่วน ถึงขั้นลงทุนไปตรวจงานและนอนค้างแรมในพื้นที่ก่อสร้าง ก็ไม่ใช่หลักประกันว่า โครงการฯ ดังกล่าวจะปลอดจากปัญหาฉ้อฉล 100 เปอร์เซ็นต์

ทั้งนี้ "กรุงเทพธุรกิจ" รายงานข่าวโดยระบุว่า บริษัท จีอี อินวิชั่น สัญชาติสหรัฐฯ ที่ได้สิทธิในการจัดหาเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด (ซีทีเอ็กซ์) ให้กับท่าอากาศยานแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ยอมรับต่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐ (Securities and Exchange Commission: SEC) ว่า ได้จ่ายเงินสินบนให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองไทยแลกกับสิทธิฯ ในการขายเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิดในท่าอากาศยานฯ ดังกล่าว

ข้อมูลจากปากของ "จีอี อินวิชั่น" ระบุว่า บริษัทฯ ยอมจ่ายสินบนเพราะหวังกำไรส่วนต่างจากการขายเครื่องมือฯ เนื่องจากรัฐบาลตั้งงบฯ จัดซื้อไว้สูงถึง 4.3 พันล้านบาท ขณะที่ราคาที่ควรจะเป็นอยู่ที่
1.43 พันล้านบาท
หากข้อมูลทั้งหมดเป็นความจริง ประเด็นที่น่าตกใจก็คือ เจ้าหน้าที่ไทยไม่เพียงแต่รับสินบนเพื่อให้ "อินวิชั่น" ได้สิทธิในการประมูลเท่านั้น แต่ยังบิดเบือนทำให้งบจัดซื้อฯ คลาดเคลื่อน ผู้ชนะประมูลได้กำไรเป็นเงินมหาศาล แต่ประเทศกลับต้องสูญเงินไปโดยเปล่าประโยชน์

คำถามคือ เจ้าหน้าที่รัฐระดับไหนที่สามารถให้คุณโทษถึงขั้นตัดสินให้บริษัทเอกชนรายไหนชนะการประมูลก็ได้ ทั้งยังสามารถเข้าไปครอบงำคณะกรรมการกำหนดราคากลางในการจัดซื้อ-จัดจ้าง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเลือกบุคคลหรือผู้ทรงคุณวุฒิ มีฐานะน่าเชื่อถือมาดำรงตำแหน่ง

และหากผู้สัมพันธ์เกี่ยวข้องมีอำนาจล้นฟ้าเช่นนั้นจริง เราในฐานะประชาชนเจ้าของเงินจะมั่นใจได้อย่างไรว่า งานในส่วนอื่นๆ ของโครงการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ หรือแม้กระทั่งโครงการลงทุนขนาดยักษ์ของรัฐ (Mega Projects) ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งมีมูลค่ารวมของโครงการหลายล้านล้านบาทนั้น จะไม่มีการคอร์รัปชั่นเช่นเดียวกันกับกรณีนี้

ผลพวงของคอร์รัปชั่นไม่เพียงแต่ทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียงบประมาณที่มาจากหยาดเหงื่อของผู้คนในชาติเท่านั้น แต่ยังกัดกร่อนทำลายหลักการความยุติธรรม ซึ่งเป็นเสาหลักค้ำยันสังคม ดังเช่นที่ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในการประชุมยูเอ็นคองเกรสว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญาครั้งที่ 11 ที่กรุงเทพฯ ว่า

" ผมคิดว่าสิ่งสำคัญกว่าการกินดีอยู่ดีก็คือความรู้สึกที่ได้อยู่ในสังคมที่ยุติธรรมและเป็นธรรม หากพ่อค้ายาเสพติดยังกินดีอยู่ดีจากความมั่งคั่งที่ได้มาโดยมิชอบ นักการเมืองยังใช้อิทธิพลในวงการเมือง ผู้บริหารธนาคารที่ฉ้อฉลยังไม่ได้รับการลงโทษและยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป นักปั่นหุ้นยังร่ำรวยมากขึ้นบนภาระของผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ

ท้ายที่สุดผู้คนจะรู้สึกว่าสังคมที่พวกเขาอยู่ไม่มีความเป็นธรรม ผมไม่มีคำตอบใด สำหรับปัญหาเหล่านี้ และมองไม่เห็นว่าผู้นำที่ได้รับเลือกตั้งขึ้นมาสู่ตำแหน่งโดยการสนับสนุนของภาคธุรกิจที่ทรงอิทธิพลคนใดจะจัดการกับปัญหานี้ได้ "

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท