Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ - 25 เม.ย.48 วันนี้เป็นวันแรกสำหรับการประชุมวิชาการ "ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น : เส้นทางสู่อนาคต" จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) และโครงการจัดตั้งสถาบันรามจิตติ ระหว่างวันที่ 25 - 28 เม.ย. 2548 นี้เพื่อนำเสนอแนวคิดและกระบวนทำงานวิจัยในเชิงประวัติศาสตร์ท้องถิ่นใน 4 ภาค รวม 29 ชิ้น

ดร.ลีลาภรณ์ บัวสาย ผอ.ฝ่ายชุมชน สกว. กล่าวว่า งานวิจัยชุดนี้เป็นงานวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นแนวใหม่ที่เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีหัวหน้าโครงการเป็นคนในชุมชน และให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมศึกษาและเขียนประวัติศาสตร์ของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มครูและเยาวชน นอกจากนี้ยังศึกษาหลักฐานแบบใหม่ ไม่เฉพาะหลักฐานทางราชการแต่รวมถึง มุขปาถะ หรือตำนานคำบอกเล่าในชุมชน หรือแม้กระทั่งบันทึกของครู เพื่อดึงมิติทางประวัติศาสตร์มาให้ชุมชนได้ศึกษาและใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นท่ามกลางนโยบายพัฒนาท้องถิ่นของรัฐบาลมากมาย อาทิ โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(โอท็อป) โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการธนาคารหมู่บ้าน โครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน

ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ผู้ประสานงานชุดโครงการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นภาคเหนือ กล่าวว่า โครงสร้างสังคมเปลี่ยนแปลงไปเพราะความเจริญที่เข้ามาพร้อมกับวัฒนธรรมภายนอกชุมชน ทำให้ประวัติศาสตร์ชุมชนถูกเบียดขับ โดยการศึกษาครั้งนี้เป็นการทำให้ชุมชนได้มีโอกาสฟื้นความทรงจำ ทบทวนเรื่องราวในรอบประมาณ 100 ปี เป็นการคืนเวลาให้ชาวบ้าน ทำให้เห็นทุนทางสังคมที่ตนเองมี และจุดเปลี่ยนต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมของตน นำไปสู่ความรู้สึกว่าตนเองมีพลังมากขึ้น

"การศึกษาแบบนี้ใครๆ ก็ทำได้ ไม่ต้องเป็นนักประวัติศาสตร์ และเยาวชนก็น่าจะมีส่วนร่วม เพราะกระบวนการศึกษารวบรวมข้อมูล จะทำให้เกิดการเรียนรู้อย่างแท้จริง ยิ่งการศึกษาประวัติศาสตร์ในห้องเรียน ซึ่งนอกจากจะไม่มีชีวิตชีวาแล้ว ยังเป็นประวัติศาสตร์ส่วนกลางที่หาความเชื่อมโยงอะไรกับชุมชนไม่ได้ ไม่มีพื้นที่ให้คนเล็กคนน้อย" ดร.อรรถจักรกล่าว

ด้านดร.อานันท์ กาญจนพันธ์ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่ผ่านมามีแนวโน้มสูงที่จะนำเสนอในลักษณะโรแมนติคเกินไป ทั้งที่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นมีลักษณะหลากหลายและเป็นประเด็นของความสัมพันธ์ ที่จะต้องพิจารณาเพื่อให้เห็นถึงการสถาปนาสถาบันทางสังคม หรือการสร้างข้อตกลงร่วมกันในการจัดการทรัพยากร ทำให้รู้ว่าชุมชนต่อสู้และแก้ปัญหากันมาอย่างไร

"การศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น คือการศึกษาประวัติศาสตร์ความคิด เป็นการศึกษากระบวนการก่อรูปของการสร้างข้อตกลงใหม่ๆ ของการใช้ทรัพยากร ซึ่งมีการต่อรองกัน นักประวัติศาสตร์ต้องนำเสนอให้ได้ว่าข้อตกลงนั้นมาอย่างไร เพื่อให้เห็นว่าชุมชนก็สร้างข้อตกลงได้ ไม่ใช่แต่รัฐ ซึ่งการศึกษาเพื่อสร้างทางเลือกแบบนี้หาไม่ได้ในวงวิชาการ หรือในรั้วมหาวิทยาลัย" ดร.อานันท์กล่าว

จันทร์สวย จันเป็ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net