Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษ

เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) พิจารณาให้มีการเปิดเผยผลการสอบสวนเหตุการณ์ยิงถล่มมัสยิดกรือเซะ "ฉบับสมบูรณ์" ของคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงฯ ซึ่งมีนายสุจินดา ยงสุนทร เป็นประธานฯ หลังจากมีการเปิดเผย "ฉบับย่อ" ที่เป็นข่าวครึกโครมไปเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว

รายงานฉบับเต็ม ซึ่งระบุว่าเป็น "ภาคแรก" ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2547 มีจำนวนทั้งสิ้น 39 หน้า ทำให้เห็นรายละเอียดของข้อมูลบางส่วนที่ไม่ได้อยู่ในรายงานสรุปครั้งที่แล้วหลายประการ

ประเด็นแรก ในส่วนของข้อสรุปถึงความเหมาะสมของการดำเนินการของเจ้าหน้าที่นั้น ทั้งสองฉบับมีความต่างกันเล็กน้อยที่น่าสังเกต เพราะคำคำเดียวก็อาจส่งผลต่อน้ำหนักของถ้อยคำโดยรวมอยู่พอสมควร

นั่นคือ ฉบับย่อระบุว่า ".......การยุติเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะโดยสันติวิธี น่าจะ มีความเหมาะ สมและอำนวยประโยชน์ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐได้มากกว่าความรุนแรง" ในขณะที่ฉบับสมบูรณ์ระบุว่า "........การยุติเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะด้วยสันติวิธี จึง มีความเหมาะสมกว่าที่จะใช้วิธีรุนแรงและอาวุธหนักเพื่อยุติเหตุการณ์"

ความเหมาะสมของการใช้ "อาวุธ"

ส่วนเรื่องความจำเป็นและความเหมาะสมในการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่นั้น คณะกรรมการอิสระฯ พิจารณาโดยอ้างถึงหลักของ UN Basic Principles on the Use of Force and Firearms by Law Enforcement Officials ซึ่งกำหนดว่า "ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เริ่มด้วยมาตรการที่ไม่รุนแรงก่อน โดยอาจใช้กำลังและอาวุธได้ต่อเมื่อการใช้มาตรการรุนแรงนั้น ไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่มีท่าทีว่าจะสัมฤทธิผล และว่าในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้กำลังและอาวุธโดยชอบด้วยกฎหมายได้ให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่จำกัดการใช้กำลังและอาวุธ กล่าวคือ ให้ใช้กำลังและอาวุธในสัดส่วนที่เหมาะสมกับความรุนแรงของการกระทำผิดและเท่าที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย"

เมื่อคณะกรรมการอิสระฯ เปรียบเทียบประเภท จำนวน และความรุนแรงของอาวุธที่ทั้งสองฝ่ายใช้ปะทะกันประกอบกับสถานการณ์ความกดดันต่างๆ แล้ว คณะกรรมการอิสระฯ เห็นว่า แม้เจ้าหน้าที่รัฐจะได้รับความกดดันอย่างหนักตั้งแต่เช้า ประกอบกับท่าทีของฝูงชนอาจเป็นภัยคุกคามเจ้าหน้าที่ จนทำให้เจ้าหน้าที่ตัดสินใจใช้ปฏิบัติการเด็ดขาด แต่การเลือกใช้อาวุธฝ่ายเจ้าหน้าที่นั้นน่าจะไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่ระบุถึงความจำเป็นและการได้สัดส่วนกัน

อย่างไรก็ตาม มีกรรมการเสียงข้างน้อย 1 เสียงที่ระบุว่าเป็นเรื่องยากที่จะกำหนด "เส้น" แบ่งว่า "ความเหมาะสม" หรือไม่และคณะกรรมการอิสระเป็นเพียง "ผู้ดู" ที่ย่อมไม่สามารถเข้าใจความกดดัน "จำเป็น" ในสถานการณ์จริงได้

ทั้งนี้ อาวุธฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบประกอบด้วย ปืนเล็กกล เอ็ม 16 จำนวน 2 กระบอก ปืนเฮชเค 33 จำนวน 3 กระบอก ปลอกลูกระเบิดเอ็ม 79 จำนวน 3 ปลอก และมีดพร้า มีดสปาต้าจำนวนหนึ่ง และมีการใช้ปืนเอ็น 79 ยิงกระสุนออกมาจากมัสยิด 2 นัด ส่วนการตอบโต้ของเจ้าหน้าที่นั้นประ
กอบด้วย เอ็ม 16 อาวุธอาร์พีซึ่งพบหางนำทิศกระสุนปืนตกอยู่ 5 หาง ระเบิดขว้างสังหาร 9 ลูก แก๊สน้ำตา 2-3 ลูก ปืนกลแม็ก 58

ฝูงชน "ลุกฮือ" กดดันจริงหรือไม่

จะเห็นได้ว่าประเด็นพฤติการณ์ของฝูงชนที่มุงดู ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ถูกนำมาถึงความจำเป็นในการใช้มาตรการเด็ดขาด ซึ่งในรายงานฉบับสมบูรณ์ระบุคำให้การของฝ่ายต่างๆ ที่ขัดแย้งกัน ดังนี้

ฝ่ายเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจให้การว่า "......เวลาประมาณ 13.00 น.มีการตะโกนว่า "ทหารรังแก" ประชาชนจึงกรูกันเข้ามาเป็นจำนวนมากประมาณ 2,000 คน และได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็น 4,000-5,000 คน ในเวลา 14.00 น. และกลุ่มประชาชนส่วนใหญ่ไม่ใช่คนในพื้นที่กรือเซะ" และมีการแทรกซึมหาข่าว ซึ่งทำให้รู้ว่ามีแนวร่วมของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแฝงตัวอยู่ในฝูงชน เนื่องจากได้รับแจ้งว่า "มีคนต่างถิ่นบอกกับประชาชนว่า เจ้าหน้าที่กำลังทำลายศาสนาสถานสำคัญอยู่ และให้รวมตัวกันที่ถนนเพื่อเดินไปยังมัสยิด"

ขณะที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองระบุว่า ประชาชนแต่งกายธรรมดา ส่วนใหญ่ต้องการเห็นเหตุการณ์ สำหรับการโห่ร้องในเบื้องต้นมีลักษณะคล้ายเอาใจกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและไม่พอใจเจ้าหน้าที่ เพราะเกรงจะมีญาติพี่น้องติดอยู่ในมัสยิด แต่เมื่อผู้ใหญ่บ้านชี้แจงว่าไม่มี ประชาชนก็เข้าใจและอยู่ในความสงบ

ผู้สื่อข่าวให้การว่า ประชาชนเริ่มรวมกลุ่มกันห่างจากมัสยิด และมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่น่าจะเกิน 1,000 คน เพื่อมามุงดูเหตุการณ์ประกอบกับมีการปิดการจราจรทำให้คนมาขึ้น ไม่มีลักษณะโกรธแค้นเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด มีการโห่ร้องเกิดขึ้นครั้งแรกพร้อมเสียงตะโกนว่า "รูโต๊ะ มัสยิด" แปลว่ามัสยิดพังหมดแล้ว เพราะเจ้าหน้าที่ใช้อาวุธหนักยิง แต่ไม่ปรากฏว่ามีการโห่ร้องในลักษณะเป็นการเอาใจช่วยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแต่อย่างใด

ทั้งนี้ประเด็นข้างต้น ไม่ได้ปรากฏชัดเจนในรายงานฉบับย่อ มีเพียงบางถ้อยคำเฉพาะส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐจำเป็นต้องใช้ความรุนแรงเข้ายุติสถานการณ์ เนื่องจาก "เจ้าหน้าที่เชื่อโดยสนิทใจว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นภัยคุกคามและเป็นอันตรายที่ใกล้จะถึงตัว…"

ชาวบ้านใจบุญถูกลูกหลง

ในประเด็นดังกล่าว คณะกรรมการอิสระฯ สรุปในตอนหนึ่งว่า การโห่ร้องน่าจะสืบเนื่องมาจากชาวบ้านต้องการให้เจ้าหน้าที่หยุดยิงชั่วคราว เพื่อให้นายดลกอเด เจ๊ะเฮาะ ซึ่งเป็นบุคคลที่ร่วมสังเกตการเข้าไปช่วย เหลือชาวมุสลิมคนหนึ่งที่ถูกเจ้าหน้าที่ยิงบาดเจ็บ เพราะเขาเพิ่งกลับจากงานกาชาด และเข้าไปกล่าวคำปฏิญาณให้กับผู้ก่อความไม่สงบที่กำลังจะเสียชีวิตบนด้านหน้ามัสยิด โดยไม่รู้ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น

"เจรจา" กับสั่งให้ "ยอมจำนน"

นอกจากนี้เรื่อง "การเจรจา" ก็มีการให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่จะสร้างเสริมหรือลดความชอบธรรมในการจัดการขั้นเด็ดขาดของเจ้าหน้าที่

โดยฝ่ายเจ้าหน้าที่ให้การว่า "ได้มีการพยายามเจรจาให้มอบตัวตลอดเวลา โดยทหารที่สามารถพูดภาษามลายู และได้ประสานขอผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนา ตลอดจนกลุ่มมุสลิมสัมพันธ์ช่วยเจราจาให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยอมจำนวนและมอบตัว แต่ไม่เป็นผล กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบนอกจากจะไม่ยอมเจรจาด้วยแล้ว ยังมีการยิงออกมาเป็นระยะ และทุกครั้งที่มีการตะโกนให้มอบตัว ก็จะยิงโต้ตอบและประกาศพลีชีพ การเจรจาดำเนินไปอย่างต่อเนื่องสลับกับการยิงตอบโต กระทั่งทหารผู้เจรจาถูกยิงที่แสกหน้าเวลาประมาณ 8.00 น. และเสียชีวิตเวลา 8.50 น. "

ฝ่ายผู้สื่อข่าวให้การว่า "การสื่อสารของเจ้าหน้าที่ผ่านเครื่องกระจายเสียง (โทรโข่ง) ซึ่งปรากฏในตอนเช้าตรู่ประมาณ 06.00 น. เป็นไปในลักษณะแจ้งให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบยอมจำนนและมอบตัว ไม่ใช่ลักษณะการเจรจา จากนั้นได้ยินเสียงดังออกมาจากมัสยิดและมีเสียงจากเครื่องขยายเสียง (ลำโพง) ของมัสยิดว่า "แจกอาวุธและกระสุนให้ครบและยอมตาย" และจากการสอบถามผู้นำชุมชนและผู้นำศาสนาในพื้นที่ ทราบว่า ไม่มีเจ้าหน้าที่ติดต่อให้ไปช่วยพูดคุยหรือเจรจากับกลุ่มที่อยู่ในมัสยิด"

ข้อสรุปของคณะกรรมการอิสระฯ ต่อประเด็นนี้คือ "การแจ้งให้กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบวางอาวุธและยอมจำนวนมิใช่การเจรจา เหตุเพราะ "การเจรจา" ควรมีลักษณะของการพูดจาต่อรองซึ่งกันและกัน... แต่ปรากฏว่าสถานการณ์ที่มัสยิดกรือเซะไม่เอื้ออำนวยต่อการเจรจา.....อย่างไรก็ดี ข้อมูลที่คณะกรรมการอิสระฯ ได้รับ ทำให้เชื่อได้ว่าฝ่ายเจ้าหน้าที่ยังมิได้ใช้ความพยายามอย่างจริงจังเพื่อให้มีการเจรจาและยุติเหตุการณ์โดยสันติวิธี"

ในส่วนของรายละเอียดอื่นๆ นั้น รายงานฉบับสมบูรณ์ได้สร้างความชัดเจนว่า ผู้ก่อความไม่สงบ ซึ่งในตอนแรกถูก "กล่าวหา" ว่าใช้สารเสพติดนั้นไม่ได้ใช้สารเสพติดแต่อย่างใด รวมทั้งสมมติฐานที่ว่าการล้อมปราบครั้งนี้เป็น "กับดัก" ที่เจ้าหน้าที่ตั้งใจจะ "เก็บ" กลุ่มคนเหล่านี้ก็ไม่เป็นจริง

"นับตั้งแต่เหตุการณ์ปล้นอาวุธปืนไปจากค่ายทหารเมื่อวันที่ 4 มกราม 2547 ......ย่อมเป็นสิ่งปกติที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐพึงต้องระดมพลเพื่อเตรียมรับสถานการณ์ไว้ และอาจได้รับข่าวกรองมาบ้างว่า การก่อความไม่สงบจะยังไม่ต่อไปเรื่อยๆ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่า ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐทราบล่วงหน้าว่าการก่อความไม่สงบจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไร ณ ที่ใด และในระดับความรุนแรงเพียงใด ในทางตรงกันข้าม เหตุการณ์ที่กรือเซะกลับแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมเพรียงและขาดการประสานงานอย่างมีประสิทธิภาพระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยซ้ำไป" รายงานระบุ

ส่วนผู้เสียชีวิตที่มีการพูดถึงกันมากว่าเป็น "เยาวชน" นั้น ในเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะพบว่าในบรรดาผู้เสียชีวิตทั้งหมด 32 คน ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นชายฉกรรจ์อายุเฉลี่ย 30 ปี ส่วนที่มีอายุ 50-63 ปีมีถึง 7 คนขณะที่มีอายุ 17-19 ปี มีจำนวน 6 คน

"พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อกล่าวหาที่ว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐได้สังหารผู้ก่อความไม่สงบที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีจำนวนมาก จึงไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด" รายงานระบุ

อย่างไรก็ตาม แม้เยาวชนจำนวน 6 คนจากทั้งหมด 32 คนที่เสียชีวิตที่กรือเซะ จะทำให้คณะกรรมการอิสระฯ เห็นว่าข้อกล่าวหา "รัฐได้สังหารผู้ก่อความไม่สงบที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีเป็นจำนวนมาก" มีอันตกไป แต่หากพิจารณาผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์วันเดียวกัน ณ จุดอื่นๆ ซึ่งมีผู้เสียชีวิตรวมกันแล้ว 108 คน (เจ้าหน้าที่รัฐ 5 คน) แล้ว พบว่ามีผู้เสียชีวิตที่อายุ 17-20 ปีอยู่ถึง 25 คน (วารสารฟ้าเดียวกันปีที่2 ฉบับที่3 ก.ค.-ก.ย.47)

ไม่ว่าใครจะตีความการสูญเสียอย่างไร หรือเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเหมาะสมหรือไม่ ในท้ายที่สุดรายงานของคณะกรรมการอิสระก็ระบุชัดว่า "การที่จะพิจารณาถึงความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ย่อมอยู่ในอำนาจของการองค์กรในกระบวนการยุติธรรมตามที่กฎหมายบัญญัติ" ส่วนข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระฯ นั้นไม่ได้ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับสมบูรณ์นี้แต่อย่างใด

การเปิดเผยรายงานดังกล่าวน่าจะให้แง่มุมบางประการ เพื่อเป็นบทเรียนในการดำเนินการต่อไปในอนาคต ดังคำชี้แจงของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ที่ว่า "การเปิดเผยรายงานทั้งสองฉบับ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการเปิดเผยความจริงในสังคมไทย และขอยืนยันว่าความโปร่งใส เปิดเผยเป็นคุณสมบัติสำคัญของกระบวนการสร้างสมานฉันท์ทุกแห่ง" .... ปัญหาคือทุกฝ่ายโดยเฉพาะ "รัฐ" จะมองเห็นความผิดพลาดในอดีตของตนเองหรือไม่ เพียงไร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net