Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 26 เม.ย.48 "รัฐพยายามทำลาย "มาตุภูมิ" และสร้าง "ชาติภูมิ" ให้เป็นของใช้ได้กับทุกคน จึงแก้ปัญหาภาคใต้ไม่จบ เพราะมองว่านี่เป็นมุสลิม นี่เป็นแขก" นายศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวในการปาฐกถาหัวข้อ "ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นไทย" ณ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ นายศรีศักร อธิบายว่าประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ ความรู้ท้องถิ่นและความหลากหลายทางสังคมและวัฒนธรรมนั้น ยึดโยงอยู่กับบริบท 3 ประการคือ มาตุภูมิ หมายถึงความเป็นท้องถิ่นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ชาติภูมิ หมายถึงการอยู่ร่วมกันของคนในชาติ โลกภูมิ หมายถึงการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในโลกอย่างเสมอภาค

"แต่สิ่งที่สังคมไทยขาดคือ มาตุภูมิ เราบ้าความเป็นไทยมากเหลือเกิน คำว่าไทย ย-ยักษ์ เป็นชื่อสมมติทั้งนั้นแหละเป็นชื่อของ ชาติภูมิ แต่ มาตุภูมิ คือถิ่นกำเนิดของท่าน คือแผ่นดินเกิด สัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์ และประวัติความเป็นมาของเรา นี่คือความเป็นจริง" นายศรีศักร กล่าวพร้อมตั้งข้อสังเกตว่าสำนึกท้องถิ่นต้องเป็นรากฐานของสำนึกความเป็นชาติ ไม่ใช่การส่งความเป็นชาติออกจากส่วนกลาง

"แต่อย่าหลงนะครับ อย่าเน้นชาติพันธุ์ เวลานี้ที่ยังหลงทิศมาก เวลาบอกว่า นี่เป็นหมู่บ้านของพวกกะเหรี่ยง พวกโซ่ง พวกภูไท ก็จะไปมองอย่างแบ่งแยกออกเป็นกลุ่ม เป็นพวก ๆ ที่จริงไม่ใช่ ในท้องถิ่นเล็ก ๆ เป็นบูรณาการคนหลายชาติพันธุ์ให้มาเป็นท้องถิ่นเดียวกัน และมีการผสมผสานทางวัฒนธรรม เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่น"

ทั้งนี้ นายศรีศักร เสนอว่า การศึกษาวัฒนธรรมท้องถิ่นควรศึกษาจากภูมิประเทศ แล้วดูว่าในพื้นที่นั้น ๆ มีกลุ่มชนกี่กลุ่มชน และมีต้นกำเนิดจากลุ่มชาติพันธุ์ใด และเมื่อเวลาผ่านไปกลุ่มชนเหล่านั้นสัมพันธ์กันอย่างไร มากกว่าที่จะเน้นเรื่องชาติพันธุ์ใดชาติพันธุ์หนึ่งเป็นหลัก

"ถ้าไปเน้นเรื่องชาติพันธุ์โน้นชาติพันธุ์นี้ แล้วคุณจะเป็นชาติได้อย่างไร" นายศรีศักร ตั้งคำถาม

พิณผกา งามสม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net