Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 26 เมษายน 2548 -- "ดิฉันขอไว้ตรงนี้ว่า นโยบายเรื่องการทำให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครแห่งการเรียนรู้นั้น ต้อง ไม่ใช่การเอาแบบเรียนสำเร็จรูปที่กำหนดจากส่วนกลางไปให้คนในท้องถิ่นเรียน แต่ควรให้เยาวชนเลือกเอง"

มนัสสวาส กุลวงศ์ ผู้วิจัยโครงการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นวิถีวัฒนธรรมริมน้ำย่านตลาดพลูจากคลองบางหลวงถึงคลองด่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวในการอภิปรายเรื่อง "แนวคิดหลักในการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น" ที่ หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ มนัสสวาส กล่าวว่า จากประสบการณ์ทำวิจัยโครงการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นฯ พบว่า นักเรียนมีความกระตือรือร้นต่อประวัติศาสตร์ในชุมชนของตนเองมากขึ้น และมีความรู้สึกสัมพันธ์กับชุมชนของตัวเองมากขึ้น โดยเป็นผลมาจากที่นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้และหัวข้อในการเรียนรู้มีความใกล้ชิดตนเองซึ่งต่างไปจากแบบเรียนสำเร็จรูปจากส่วนกลาง

ด้านรองศาสตราจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม กล่าวว่า การจะทำหลักสูตรประวัติศาสตร์ท้องถิ่นได้นั้นต้องเริ่มจากครูผู้อยู่ในท้องถิ่นเอง เพราะเป็นผู้ที่ใกล้ชิดท้องถิ่นมากที่สุด แต่อุปสรรคจากการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ท้องถิ่นก็อยู่ที่การประเมินผลการเรียนการสอนทุก ๆ 6 เดือนตามนโยบายปฏิรูปการศึกษา ของกระทรวงศึกษาธิการเอง ซึ่งทำให้ครูขาดอิสระในการจัดการเรียนรู้แก่นักเรียน

"ถามว่า กระทรวงศึกษาคิดบ้า ๆ บอ ๆ เรื่องการปฏิรูปการศึกษาเนี่ย ถามท่านตรง ๆ ว่าทำได้ไหม...ทำไม่ได้เพราะไม่เข้าใจ ครูในท้องถิ่นคือนักวิจัยท้องถิ่นเพราะไม่มีใครรู้เรื่องท้องถิ่นได้ดีกว่าท่าน การจะสร้างข้อมูลท้องถิ่นได้ ระบบการศึกษาต้องปลดปล่อยครูให้กับคนท้องถิ่น ให้ขลุกอยู่กับชุมชนนั้น และซึมซับวิถีชีวิตต่าง ๆ นั้นเข้ามา"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net