แรงงานในภาคอุตสาหกรรม อีกเสี้ยวของ "คนจน" ในสังคมไทย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หากจะมองให้เห็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานไทยซึ่งหากนับที่ตัวเลขประชากรวัยแรงงานก็จะมีถึงกว่า 33 ล้านคนเศษ กระจัดกระจายทำงานอยู่ในภาคส่วนต่าง ๆ และหากมองไปที่กลุ่มแรงงานในภาค อุตสาหกรรมจะพบว่าประกอบด้วยคนหลายกลุ่มที่มีศักยภาพในการเข้าถึงสวัสดิการหรือได้รับความยุติธรรมจากการทำงานแตกต่างกันไป

ในการศึกษาโครงการพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับคนจนและคนด้อยโอกาสในสังคมไทย ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ระบุว่า ลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรม เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มคนจนและคนด้อยโอกาส โดยพิจารณาถึงปัจจัยด้านทรัพย์สินและรายได้ โอกาสในการเข้าถึงปัจจัยการผลิตและสวัสดิการสังคม ความมั่นคงในงานอาชีพ หลักประกันด้านความปลอดภัยในชีวิต สุขภาพและอำนาจต่อรองของลูกจ้าง โดยทำการศึกษาลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรม 4 กลุ่ม คือ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นทางการ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นทางการ(แรงงานนอกระบบ) แรงงานต่างด้าว และแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ รวม 22 กรณี

การศึกษาชี้ให้เห็นว่า พัฒนาการของเศรษฐกิจในยุคโลกาภิวัตน์ ทำให้เกิดลูกจ้างประเภทต่าง ๆ ที่สถานภาพของความจนและความด้อยโอกาสแตกต่างกันไป ยิ่งในปัจจุบันเมื่อทิศทางหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจไทยคือ การมุ่งสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า ดังนั้นการพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมสำหรับลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะลูกจ้างเป็นปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรม ตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต

การศึกษาระบุว่า เมื่อประเทศไทยต้องเผชิญกับกระแสโลกาภิวัตน์ การแข่งขันเสรี ประกอบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2541 นายจ้างในปัจจุบันจึงมักจะมองว่า การหักเงินสมทบประกันสังคมกลายมาเป็น "ค่าใช้จ่าย" ของผู้ประกอบการ เป็นภาระต่อต้นทุนการผลิตซึ่งต้องควบคุมหรือลดให้ต่ำไว้ ดังนั้นภาคธุรกิจจึงพยายามแข่งขันด้วยการลดต้นทุนการผลิต โดยปรับโครงสร้างการจ้างงานใหม่เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการจ้างงาน เป้าหมายก็คือการลดคนงานลง และหันมาใช้การจ้างงานที่มีลักษณะชั่วคราวมากขึ้น เช่น การใช้สัญญาจ้างงานระยะสั้น การจ้างงานแบบรายชั่วโมง การจ้างงานแบบเหมาช่วง การจ้างงานแบบรายชิ้น การให้บริษัทเอกชนมารับช่วงการจัดบริการบางอย่างในบริษัท เช่น การรักษาความปลอดภัย การทำความสะอาด ฯ การใช้ระบบรับช่วงเพื่อผลิตสินค้าให้โรงงาน และการนำแรงงานต่างชาติเข้ามาใช้

ขณะเดียวกันรัฐได้ตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจในการนำเอาแรงงานราคาถูกเข้ามาใช้ผ่านการปรับโครงสร้างการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ การปรับตัวของทุนนิยมเพื่อฟื้นตัวออกจากวิกฤติจึงเป็นต้นทุนทางสังคมซึ่งถูกผลักให้เป็นภาระต่อผู้ใช้แรงงานและชนชั้นล่างในสังคมไทย ให้เป็นผู้เสียสละเพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจขึ้นมาอีกครั้ง

การศึกษาระบุว่า จากการจัดสนทนากลุ่มของแรงงานในภาคอุตสาหกรรม (การผลิต) พวกเขานิยมตัวเองว่าเป็น "คนจน" โดยหลายคนเห็นว่า "คนจน คือ คนที่ทำงานในโรงงาน" หรือไม่มีทางเลือกอื่น คนงานเหล่านี้มีลักษณะร่วมกันคือ เป็นแรงงานที่หลุดออกมาจากภาคเกษตรด้วยเหตุปัจจุบันต่างที่ทำให้ต้องอพยพเข้ามาหางานทำในเขตเมือง และกลืนกลายจากการเป็นแรงงานตามฤดูกาลก็กลายมาเป็นแรงงานอพยพถาวร ยึดอาชีพกรรมกรในโรงงานเพราะการศึกษาต่ำ ไม่มีทางเลือกอื่น

"คนจนเหล่านี้เมื่อเข้ามาทำงานในโรงงานก็จะมีรายได้ประจำและสามารถเข้าถึงสวัสดิการที่จัดโดยรัฐ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็ต้องหา OT (ทำล่วงเวลา) เพื่อหารายได้เสริมเพื่อความอยู่รอดของตัวเองและภาระที่จะต้องส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวในชนบท ซึ่งคนงานที่ถูกเลิกจ้างเป็นคนจนในภาคอุตสาหกรรม เป็นแรงงานที่กินค่าแรงต่ำ มีชั่วโมงการทำงานสูง จึงมักจะเผชิญกับปัญหาสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน และคนงานที่เป็นคนจนในภาคอุตสาหกรรมเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิง"

ขณะที่คนจนที่มีสาเหตุมาจากการปรับโครงสร้างภายหลังวิกฤติ คือ คนจนใหม่
ที่เมื่อนายจ้างนำเอาระบบจ้างงานแบบยืดหยุ่นเข้ามาใช้ ทำให้บางคนต้องถูกเลิกจ้าง สูญเสียสถานภาพของการเป็นลูกจ้างประจำเปลี่ยนไปเป็นลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งมักประสบปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติในเรื่องของค่าจ้างและสวัสดิการ หลายคนขาดข้อมูลความรู้ในเรื่องสิทธิและกฎหมายแรงงาน จึงไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ สามารถถูกเลิกจ้างได้ง่ายเพราะขาดการรวมกลุ่มหรือความช่วยเหลือจากสหภาพแรงงาน จึงขาดอำนาจต่อรองโดยสิ้นเชิง ลูกจ้างชั่วคราวเหล่านี้จึงขาดความมั่นคงในงานสูง ทำงานไปวัน ๆ แบบเลื่อนลอย ไม่มีอนาคต ถ้าไม่มีงานทำก็ต้องออกแล้วหางานไปเรื่อย ๆ

การศึกษานี้ยังกล่าวถึงคนงานที่ถูกปลดออกและมีข้อจำกัดเรื่องอายุมาก การศึกษาน้อย หรือขาดทักษะอันเป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมสมัยใหม่ คนงานเหล่านี้จึงกลายเป็น "คนชายขอบ" หรือ "คนจนถาวร" ในสังคมที่ไม่อาจเข้าสู่การจ้างงานและสวัสดิการต่าง ๆ ได้ หลายคนจึงต้องดิ้นรนเพื่อเลี้ยงชีวิตในภาคเศรษฐกิจไม่เป็นทางการ เช่น เศรษฐกิจนอกระบบและเศรษฐกิจที่ผิดกฎหมาย กลุ่มคนงานที่ตกขอบของสังคมอีกกลุ่มหนึ่งคือ คนงานที่ถูกปลดออกจากงานก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ โดยเฉพาะคนงานที่ป่วยด้วยโรคอันเนื่องมาจากการทำงานและมีชีวิตอยู่ในภาวะยากลำบาก ไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้เพราะต้องใช้ทั้งเงินและเวลา

ส่วนแรงงานต่างชาติหรือคนข้ามชาติในยุคกระแสโลกาภิวัตน์ ก็เป็น "คนจน" อีกประเภทหนึ่ง แม้ว่าการออก ไปหางานทำในต่างประเทศจะทำให้พวกเขามีรายได้สูงกว่าประเทศต้นทาง ซึ่งเป็นแรงจูงใจของการเคลื่อน ย้ายแรงงาน แต่แรงงานต่างชาติโดยเฉพาะแรงงานไร้ฝีมือเหล่านี้มักจะจนด้านสิทธิและการถูกเลือกปฏิบัติ ขณะเดียวกันก็ขาดการคุ้มครองทางกฎหมายเพราะไม่มีสิทธิเป็นพลเมือง แรงงานต่างชาติส่วนใหญ่มักจะทำงานในสาขาที่ขาดแคลนแรงงาน (งานที่แรงงานท้องถิ่นไม่ทำ) คือ ค่าจ้างต่ำแล้วยังเป็นงานประเภท 3 ส คือ สุดลำบาก สกปรก และเสี่ยงอันตราย ซึ่งในกรณีที่เป็นแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายก็จะขาดโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ

จะเห็นว่า ด้วยรูปแบบการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมมีความหลากหลายขึ้นและการเคลื่อนย้ายไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ภายในพรมแดนประเทศอีกต่อไป ทำให้ กลุ่มลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมประกอบไปด้วยแรงงานหลายกลุ่มที่ได้รับสวัสดิการ

ทางสังคมไม่เท่าเทียมกัน อีกทั้งจากการศึกษาข้อเรียกร้องด้านสวัสดิการสังคมของลูกจ้างที่ผ่านมาและการต่อสู้เคลื่อนไหวของลูกจ้างเพื่อให้ได้รับสวัสดิการทางสังคม ตามสิทธิของลูกจ้างหรือเพื่อให้มีการเปลี่ยน แปลงระบบสวัสดิการสังคมที่มีอยู่ในปัจจุบันได้สะท้อนให้เห็นว่าการใช้สวัสดิการสังคม เพื่อแก้ปัญหาความยากจนและด้อยโอกาสของลูกจ้างในภาคอุตสาหกรรมยังจะต้องมีการพัฒนาแก้ไขทั้งในด้านของปรัชญาความคิดและการบริหารงานเพื่อให้ลูกจ้างสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี และมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าเทียมกับคนกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม

การศึกษานี้จึงย้ำข้อเสนอแนะที่ให้การพัฒนาระบบสวัสดิการสำหรับลูกจ้างใน ภาคอุตสาหกรรมกลุ่มต่าง ๆ ควรมีความแตกต่างกันไป โดยตั้งอยู่บนหลักการของการพัฒนาระบบสวัสดิการที่มีอยู่แล้วให้ตอบสนองต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของลูกจ้างให้ดียิ่งขึ้น.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท