Skip to main content
sharethis

ชัยชนะยกแรกของคดีที่ดินลำพูน

ขณะที่ปัญหาที่ดินชายฝั่งอันดามันกำลังคุกรุ่น เพราะกำลังถูกนายทุนรุมทึ้ง พร้อมกับการกีดกันชาวประมงออกจากชายหาด มีข่าวดีเล็ก ๆ ที่ไม่ปรากฏเป็นข่าว คือ ข่าวชัยชนะของคดีที่ดินลำพูน ที่เคยเป็นคดีฮือฮาเมื่อปี 2545 ด้วยเหตุที่มีการจับกุมดำเนินคดีกับชาวบ้านที่เข้าไปปฏิรูปที่ดินในพื้นที่จำนวนนับพันคดี ชาวบ้านกว่าร้อยราย

ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ศาล จ.ลำพูนมีคำสั่งยกฟ้องคดีชาวบ้านที่บ้านหนองสูน ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จำนวน 8 รายที่เข้าไปปฏิรูปที่ดินในที่ดินสาธารณประโยชน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดสรรที่ดินผืนใหญ่บ้านโฮ่ง-ป่าซาง (หนองปลาสวาย) จำนวน 15,000 ไร่

สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายความ และผู้ประสานงานศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนด้านกฎหมายชี้แจงว่าเหตุศาล จ.ลำพูนยกฟ้องชาวบ้านหนองสูน เนื่องจากขาดประจักษ์พยาน ไม่มีใครชี้ได้ว่าจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุในวันนั้นหรือไม่

กล่าวเฉพาะโครงการจัดสรรที่ดินหนองปลาสวาย นอกจากชาวบ้านหนองสูนแล้ว ก็มีชาวบ้านหมู่บ้านอื่น ๆ 7 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านศรีเตี้ย บ้านศรีเจริญ บ้านศรีลาภรณ์ บ้านดงขี้เหล็ก บ้านท่ากอม่วง บ้านหนองเขียด บ้านท่าหลุก และบ้านแพะใต้ ซึ่งมีชาวบ้านจำนวนถึง 4,181 รายที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกปฏิรูปที่ดิน

เหตุที่ชาวบ้านทั้ง 8 หมู่บ้านรวมทั้งหนองสูนด้วยนั้นเข้าไปปฏิรูปที่ดินในที่ดินรกร้างว่างเปล่าหนองปลาสวาย เป็นเพราะชาวบ้านพบว่าภายหลังจากที่นายทุนสามารถออกโฉนดในที่ดินหนองปลาสวายได้แล้วนั้น ข้อมูลจากแนวร่วมกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ หรือ นกน.ระบุว่า ที่ดินหนองปลาสวายจำนวน 15,000 ไร่นั้น อยู่ในกรรมสิทธิ์ของนายทุนประมาณ 9,500 ไร่ และในจำนวนนี้ที่ดินจำนวน 7,250 ไร่ หรือ 76.3 % ถูกปล่อยทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ใด ๆ

ดังนั้น ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ชาวบ้านจึงเข้าไปปฏิรูปที่ดินในที่ดินดังกล่าว เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ในรายงานการวิจัย "การศึกษาการจัดการที่ดินระดับท้องถิ่นในพื้นที่ภาคเหนือ" โดยอัจฉรา รักยุติธรรม และคณะ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ได้ศึกษาพบว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการปฏิรูปที่ดินจำนวน 8 หมู่บ้าน มีมูลค่าเศรษฐกิจรวม 6,162,710 บาท เพียงชั่วระยะเวลาโดยเฉลี่ย 4-6 ปี

การแปรมูลค่าที่ดินที่เคยตกอยู่ในมือของนายทุน ให้กลับมามีมูลค่าอีกครั้ง สร้างรายได้แก่เกษตรกรจึงนับว่าเป็นทางออกที่น่าสนใจของการแก้วิกฤตเศรษฐกิจระดับชาติ แต่ดูเหมือนทางออกดังกล่าวยังเป็นทางออกที่ชาวบ้านต้องฝ่าฟันกันเองค่อนข้างมาก ขณะที่รัฐบาลยังไม่สนใจ แต่กลับไปสนใจแนวทางการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน เร่งออกเอกสารสิทธิ์อยู่เช่นเดิม

ทั้ง ๆ ที่ปัญหาที่ดินลำพูนนั้นสะท้อนชัดว่าแนวทางการแปลงที่ดินเป็นสินค้า โดยการออกเอกสารสิทธิ์นั้นเป็นแนวทางที่ผิดพลาดมาแต่ต้น

ความล้มเหลวจัดสรรที่ดินหนองปลาสวาย

สืบสกุล กิจนุกร กองเลขนุการสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) กล่าวถึงชัยชนะของชาวบ้านหนองสูนในครั้งนี้ว่าเป็นความชอบธรรมแล้ว เนื่องจากที่ดินผืนนี้เคยอยู่ในโครงการจัดสรรที่ดินผืนใหญ่หนองปลาสวายที่จะต้องจัดสรรให้แก่เกษตรกร แต่สุดท้ายโครงการดังกล่าวก็ล้มเหลว เพราะพบว่ามีนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินนำไปออกโฉนดโดยมิชอบ เมื่อฟองสบู่แตก ธนาคารก็มาประกาศยึดที่ดิน และปล่อยให้รกร้างไม่ทำประโยชน์

ย้อนหลังเมื่อปี 2509 ครั้งนั้นกรมที่ดิน และจ.ลำพูนมีการดำเนินการจัดที่ดินผืนใหญ่ในเขตบ้านโฮ่ง-ป่าซางหรือที่เรียกกันว่า "หนองปลาสวาย" ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อจัดสรรที่ดินให้ราษฎรที่ไม่มีที่ดินประมาณ 1,000 ครอบครัว เนื้อที่ประมาณ 10,000 ไร่

แต่กระบวนการจัดการที่ดินดังกล่าวก็ไปไม่ถึงมือคนไร้ที่ดินตัวจริง ชาวบ้านเล่าว่าในช่วงเวลานั้น กรมที่ดินไม่ได้ติดประกาศหรือประชาสัมพันธ์ใด ๆ เลย ชาวบ้านมารู้อีกทีหนึ่งที่ดินก็ตกไปอยู่ในมือของคนมีเงินไปแล้ว

สุริยันต์ ทองหนูเอียด กองเลขา สกน. กล่าวว่า การจัดการที่ดินของภาครัฐนั้นล้มเหลว ใน 3 ด้านคือ 1.ล้มเหลวในเชิงเป้าหมาย กล่าวคือแทนที่จะจัดสรรให้คนไม่มีที่ดินเพื่อนำไปประกอบอาชีพ แต่สุดท้ายกลับตกไปอยู่ในมือของนายทุน 2.ล้มเหลวในเชิงกลไกการจัดการที่ดิน กล่าวคือพอตรวจสอบพบว่าในขั้นตอนการออกใบจองให้แก่ราษฎร เจ้าหน้าที่มีการทุจริตออกใบจองให้แก่นายทุน แต่รัฐไม่สามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ได้ 3.ล้มเหลวในการจัดการความขัดแย้ง เพราะเมื่อมีการร้องเรียนถึงความไม่เป็นธรรมในการจัดการที่ดิน และขอให้รัฐแก้ปัญหา นอกจากการแก้ปัญหาจะไม่คืบหน้า แล้วยังจบลงด้วยความรุนแรงอีกด้วย

บทเรียนการจัดสรรที่ดินแปลงใหญ่เช่นหนองปลาสวายนี้มีให้เห็นในอีกหลาย ๆ พื้นที่ทั่วประเทศ และกลายเป็นบทเรียนซ้ำ ๆ ที่หมักหมมไว้จนกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคนท้องถิ่นกับนายทุนที่มีอยู่ทั่วหัวระแหง ทั้งนี้ มี ต้นตอมาจากการแปลงที่ดินให้เป็นสินค้า ไม่ใช่ที่ดินในฐานะ "ปัจจัยการผลิต" นั่นเอง

คดีที่เหลืออยู่ และความคุกรุ่นของปัญหาที่ดิน

แม้ว่าชาวบ้านหนองสูนจะถูกยกฟ้องไปแล้ว แต่ยังมีชาวบ้านลำพูนที่จะต้องขึ้นศาลต่อสู้คดีที่ดินนี้อีกเป็นจำนวนเกือบ 100 ราย นอกจากนี้ปัญหาการตรวจสอบการทุจริตที่ดินที่ออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบก็ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร ทั้งนี้ที่ผ่านมาชาวบ้านได้ยื่นฟ้องต่อกรมที่ดิน และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. ไปแล้วว่าผลการตรวจสอบโดยคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินลำพูนนั้นชี้ชัดว่า ที่ดินดังกล่าวมีการออกโฉนดโดยมิชอบ ซึ่งกรมที่ดินจะต้องดำเนินการเพิกถอน แต่เรื่องดังกล่าวก็เงียบหายไป

หากไม่มีการดำเนินการเพิกถอนที่ดิน ก็จะมีผลต่อการพิจารณาคดีชาวบ้านอย่างมาก เพราะเท่ากับว่าชาวบ้านกลายเป็นผู้บุกรุกที่ดิน ทั้ง ๆ ที่ที่ดินแปลงดังกล่าวมีการออกโฉนดโดยมิชอบเมื่อชาวบ้านเข้าไปทำประโยชน์

นอกจากคดีที่ลำพูนแล้วก็ยังมีคดีคนจนในภาคใต้ ต่อสู้กรณีพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรมกลายเป็นเป็นพื้นที่ให้เช่าสำหรับบริษัทเอกชน และนักลงทุนจากต่างประเทศเพื่อปลูกพืชส่งออก เช่นยางพารา และปาล์มน้ำมัน ข้อมูลจากมูลนิธิสถาบันที่ดินเมื่อปี 2543 ระบุว่าเฉพาะในจังหวัด สุราษฎร์ธานีมีพื้นที่ป่าสงวน และพื้นที่ป่าในส่วนอื่น ๆ ของรัฐที่ทางราชการอนุมัติให้นายทุนเข้าไปใช้ประโยชน์เพื่อปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันถึง 200,000 ไร่ และอีก 80,000 ไร่ในจ.กระบี่ ขณะที่มีเกษตรกรในภาคใต้ถึง 202,071 ครอบครัว หรือประมาณ 1 ใน 3 ของเกษตรกรในภูมิภาคที่ไม่มีที่ดินทำกิน

แต่กลับกลายเป็นว่าที่ดินที่มีอยู่กลับมิได้ถูกจัดสรรให้แก่เกษตรกร กลับไปอยู่ในมือของนักลงทุนต่างชาติเสียเป็นส่วนใหญ่

จะเห็นว่าปัญหาที่ดินไม่ว่าจะเป็นลำพูน หรือกรณีการให้นักลงทุนต่างชาติเช่าที่ดินที่ภาคใต้ จนถึงกรณีพิพาทที่ดินชายฝั่งอันดามันหลังภัยพิบัติสึนามิล้วนมาจากรากปัญหาไม่ต่างกัน นั่นคือการจัดสรรที่ดินที่มุ่งตอบสนองตัวเลขจีดีพี และเอื้อประโยชน์แก่นักลงทุนมากกว่าเกษตรกรรายย่อย ประมงพื้นบ้าน จนนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้ง

ได้แต่หวังว่า ชัยชนะของหนองสูนจะขยายผลความสำเร็จไปสู่ที่อื่น ๆ ด้วย

เบญจา ศิลารักษ์
สำนักข่าวประชาธรรม
77/1 ม.5 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50200
โทร.053-810779,09-759-9705
Email : newspnn@hotmail.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net