Skip to main content
sharethis

ฉันก็เหมือนกันคนทั่วไป รู้เรื่อง "การปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน" จากหน้าหนังสือพิมพ์แบบเบลอๆ เขาบอกว่าชาวบ้านเข้าไปบุกรุกทำกินในที่ดินของนายทุน ฉันมีคำถามเหมือนคนอื่น ๆ ชาวบ้านมีสิทธิอะไรไปทำอย่างนั้น ? ถ้าที่ดินของแม่ฉันถูกใครก็ไม่รู้ยึดไปดื้อ ๆ ฉันคงไม่ยอมเหมือนกัน ในฐานะนักพัฒนา ฉันก็อยากเข้า ข้างชาวบ้าน แต่ฉันเองก็เป็นสามัญชนคนหนึ่ง จะให้เสียสละขนาดนั้นก็ทำใจลำบาก

แล้ววันหนึ่งโดยไม่คาดฝัน ฉันได้รับโอกาสให้ทำงานวิจัยประเด็น "การปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน" มีเวลาเกือบ 2 ปี ทั้งเพื่อตอบโจทย์การวิจัย และตอบข้อสงสัยของตนเอง แต่เพราะสวมหมวกหลายใบทำให้หลายครั้งฉันสับสนกับบทบาทของตัวเอง นักวิจัย นักพัฒนา มนุษย์เงินเดือน ประชาชนธรรมดา ๆ และอีกมากมาย

9 หมู่บ้านที่เข้าไปศึกษา อยู่ในจังหวัดลำพูน ประกอบด้วย หมู่บ้าน แพะใต้ ท่าหลุก ท่ากอม่วง หนองสูน หนองเขียด ในกิ่งอำเภอเวียงหนองล่อง ศรีเตี้ย ศรีเจริญ ศรีลาภรณ์ ดงขี้เหล็ก ในอำเภอบ้านโฮ่ง การเข้าถึงข้อมูลไม่ใช่เรื่องง่าย มันยากตั้งแต่จะเริ่มต้นแนะนำตัวว่าฉันเป็นใคร ชาวบ้านยังอยู่ในอาการหวาดระแวง เพราะในปี 2545 ที่ผ่านมา ชาวบ้าน 60 คน ในหมู่บ้านเหล่านี้ถูกนายทุนฟ้องร้องดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกและทำลายทรัพย์สิน หลายคนถูกจับไปขังอยู่ในคุกนานนับเดือน

ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือมีข่าวลับ ๆ ว่านายทุนเจ้าของที่ดินลงขันกันจ้างมือปืนมา "เก็บ" แกนนำชาวบ้านและนักพัฒนา ชาวบ้านหลายคนไม่กล้ากลับบ้าน ต้องซ่อนตัวอยู่ใน save house หลายเดือน เรื่องแบบนี้เหมือนเคยดูในหนังไทยน้ำเน่าสมัยยังเป็นเด็ก ฉันเพิ่งรู้ว่า "ผู้มีอิทธิพล" ไม่ได้มีแค่ในหนัง แต่มีอยู่จริงแม้จะเป็นยุคประชาธิปไตยแบ่งบานแบบนี้ก็เถอะ

การทำข้อมูลของฉัน เริ่มจากการสืบค้นประวัติของที่ดินที่เป็นปัญหา พร้อมๆ กับประวัติของหมู่บ้านและผู้คนในละแวกนั้น คำถามที่ว่า "ที่ดินเป็นของใครมาก่อน" ดูจะใช้ไม่ค่อยได้กับงานนี้ เพราะต่างคนก็อ้างต่างกันไป

ชาวบ้านบอกว่าที่ดินเป็น "ของหน้าหมู่" คนในท้องถิ่นใช้ประโยชน์ร่วมกันมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย เป็นป่าแพะ หรือป่าเต็งรัง ชาวบ้านเข้าไปเก็บผักหักฟืน เลี้ยงสัตว์ ล่าสัตว์ หรือหาไม้ใช้สอย เนื้อดินไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ แหล่งน้ำไม่ค่อยดี แต่บางครั้งก็มีคนไปจับจองทำกินในบางฤดูกาล เช่น ทำไร่ข้าว ทำนาน้ำฟ้า (นาดอน) ปลูกพริก หรือพืชไร่อื่น ๆ ที่อาศัยน้ำน้อย

กฎหมายบอกว่าที่ดินเป็นของรัฐ เพราะไม่มีใครถือกรรมสิทธิ์ ระบบกรรมสิทธิ์ตามกฎหมายนั้นมีแค่ 2 แบบ แบบแรก กรรมสิทธิ์ของเอกชน คือ ที่ดินที่ประชาชนถือเอกสารสิทธิ และแบบที่สอง กรรมสิทธิ์ของรัฐ คือ ที่ดินที่ไม่มีเอกชนคนใดมีเอกสารสิทธิ เริ่มต้นงานวิจัยแค่นี้ฉันก็เริ่มงงแล้ว ใครจะบอกได้ว่าจารีตประเพณีของชาวบ้าน หรือกฎหมายกันแน่ที่ผิด

ปี พ.ศ.2509 รัฐมีโครงการจัดที่ดินผืนใหญ่ บ้านโฮ่ง-ป่าซาง นำป่าแพะ 15,000 ไร่ ในละแวก 9 หมู่บ้านนี้มาจัดสรรเป็นแปลง ให้ชาวบ้านจับฉลากเลือก เจ้าหน้าที่บอกว่าจะออกเอกสารสิทธิให้หลังจากชาวบ้านเข้าทำกิน แต่แล้วก็ไม่มีใครเข้าไปใช้ที่ดิน เพราะมันไม่เหมาะจะทำเกษตร สมัยนั้นเทคโนโลยีเรื่องการจัดการเจาะน้ำ สูบน้ำ ยังไม่ดีเหมือนเดี๋ยวนี้ บางคนจับฉลากได้แปลงที่อยู่แสนไกล บางคนได้แปลงที่มีคนเข้าไปทำกินอยู่แล้ว ในที่สุดรัฐก็เลยไม่ได้ออกเอกสารสิทธิให้ใครสักคน

ต่อมา ในปี พ.ศ.2528 นายทุนหลายรายเข้ามากว้านซื้อที่ดินในละแวกนี้ เพราะได้ข่าวว่ารัฐมีโครงการเร่งรัดออกโฉนดที่ดินทั่วประเทศ ประจวบเหมาะกับยุคนั้นเป็นยุคที่เศรษฐกิจบูม ราคาที่ดินพุ่งกระฉูด สมัยที่พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณเป็นนายกรัฐมนตรี

ชาวบ้านที่จับจองทำกินอยู่ในป่าแพะ ถูกนายทุนหลอกว่าซื้อที่ดินโดยรอบไว้หมดแล้ว ถ้าไม่ยอมขาย ที่ดินของตนจะถูกปิดล้อมไม่มีทางเข้าออก เมื่อซื้อที่ดินไปแล้วนายทุนก็ออกโฉนดเกินขอบเขตไปอีกหลายเท่า ส่วนที่ดินส่วนรวมที่ไม่มีใครจับจอง นายทุนก็ติดสินบนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ร่วมมือกับตน (ตามระเบียบราชการกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้รับมอบอำนาจให้ตรวจดูว่าที่ดินออกโฉนดได้หรือไม่ กฎหมายไม่อนุญาตให้ออกโฉนดในที่ดินสาธารณประโยชน์)

ใครลุกขึ้นมาคัดค้านนายทุนก็แจกเงินให้ บางหมู่บ้านได้รับเงินครัวเรือนละ 90,000 บาท ใครที่ยังดื้อดึงก็ถูกขู่ฆ่า สมัยฉันเป็นนักศึกษา ความขัดแย้งเรื่องที่ดินลำพูนนี้โด่งดังมาก (ประมาณปี พ.ศ.2532-2534) รุ่นพี่เล่าให้ฟังว่ามีแกนนำชาวบ้านสันปูเลย ตำบลศรีเตี้ย ที่คัด ถูกลอบยิงเสียชีวิตไปคนหนึ่งเพราะขัดขวางผลประโยชน์นายทุน ทำเอาชาวบ้านแถบนั้นอกสั่นขวัญผวาไปตาม ๆ กัน เป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูที่ได้ผลทีเดียว

หลังปี พ.ศ.2532 ที่ดินสาธารณประโยชน์ที่เคยเป็นป่าแพะในละแวกนี้ ตกอยู่ในกรรมสิทธิ์ของนายทุนอย่างสมบูรณ์ มีการไถปรับพื้นที่เปลี่ยนสภาพกลายเป็นที่ดินโล่งเตียน ชาวบ้านเข้าไปเก็บผักหักฟืนไม่ได้อีกต่อไป ถามถึงเรื่องเก่าทีไร

อุ้ยหมู อายุกว่า 70 ปี อดีตผู้ใหญ่บ้านหนองเขียด ก็ยืนยันเหมือนเดิมว่าที่ดินผืนนี้เป็นของหลวง ไม่ใช่ของเอกชนคนใด เป็นไปไม่ได้ที่นายทุนจะมาอ้างว่าซื้อที่ดินต่อไปจากชาวบ้านในท้องถิ่น

ส่วน ลุงเริญ กับป้าทร บ้านหนองสูน ก็ตัดพ้อว่าสวนลำไยของตนเองทำกินมาไม่รู้กี่สิบปี จนถึงเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่มีเอกสารสิทธิ แต่นายทุนที่เข้ามาออกโฉนดล้วนแต่เป็นคนต่างถิ่น ปรับไถพื้นที่ไม่กี่เดือนก็ได้โฉนดอย่างง่ายดาย ปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกิน ถึงกับทำให้ชาวบ้านหลายแห่งทั้ง ท่าหลุก แพะใต้ ขาดแคลนที่ดินจนถึงกับต้องทิ้งบ้านช่องออกไปเช่าที่ดินต่างถิ่นเพื่อทำการเกษตร ไปไกลถึง อ.จอมทอง อ.สารภี อ.ฮอด อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่

ที่ราบเชียงใหม่-ลำพูน แม้ว่าจะเป็นที่ราบกว้างที่สุดของภาคเหนือ แต่ชาวบ้านก็ถือครองที่ดินน้อยมาก ถ้าเทียบกับเกษตรกรในภาคอื่น ๆ ฉันเก็บข้อมูลตัวเลขจากบ้านหนองสูน 208 ครัวเรือน (ประมาณ 95% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด) พบว่า ชาวบ้านมีพื้นที่ปลูกบ้านเฉลี่ยครอบครัวละ 1.43 ไร่ ซึ่งรอบบ้านก็เต็มไปด้วยต้นลำไย ไร่พริก และพืชผักสวนครัว เป็นการใช้ที่ดินให้คุ้มค่าที่สุด ส่วนที่ดินทำกินอื่น ๆ นอกพื้นที่ปลูกบ้านมีเฉลี่ยครอบครัวละ 2.12 ไร่ เท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ชาวบ้านประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก

ในจำนวนนี้ที่ดินหลายแปลงไม่มีเอกสารสิทธิ หรือมีเอกสารสิทธิที่เป็นชื่อของพ่อ แม่ หรือญาติพี่น้อง พอนับไปนับมาก็พบว่ามีถึง 119 ครอบครัว หรือ 57.21 % ที่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองเลย แต่อาศัยทำกินในที่ดินของญาติพี่น้อง เช่าที่ดินทำกินหรือรับจ้างรายวัน

ตัวเลขเหล่านี้ออกมาคล้าย ๆ กันทั้ง 9 หมู่บ้าน มันคงเป็นเหตุผลเพียงพอที่จะตอบว่าทำไมชาวบ้านจึงตัดสินใจไปยึดที่ดินคืนมาจากนายทุน!?

อ้ายนง บ้านแพะใต้ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ขณะที่ชาวไร่ชาวนาขาดแคลนที่ดินทำกินเดือดร้อนอย่างแสนสาหัส นายทุนกลับกักตุนที่ดินโดยไม่ทำประโยชน์อะไร เอาโฉนดไปจำนองกับธนาคาร สถาบันการเงิน ที่ดินหลายแปลงถูกธนาคารฟ้องยึดขายทอดตลาด

ฉันเก็บแบบสอบถามจากชาวบ้าน 60% ในหมู่บ้านหนองสูน พบว่า ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา (2543-2545) ชาวบ้าน 141 ครอบครัวมีรายได้จากที่ดินแปลงที่ยึดคืนมาจากนายทุนรวมกันถึง 2.17 ล้านบาท รายได้ส่วนใหญ่เกิดจาก พริก หอมแบ่ง กระเทียม หอมแดง ซึ่งเป็นพืชอายุสั้นที่ชาวบ้านปลูกแซมระหว่างต้นลำไยและมะม่วง ต่อไปอีกสัก 1-2 ปี ชาวบ้านจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่านี้ จาก มะม่วง และลำไย ซึ่งปลูกไปแล้วแต่ยังไม่โตเต็มที่ เป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้านทดแทนการปล่อยที่ดินทิ้งไว้รกร้างว่างเปล่า

เป็นธรรมดาที่งานวิจัยไม่ได้พบแต่ด้านดีเพียงอย่างเดียว มีข้อเท็จจริงบางอย่างที่ทำให้ฉันกังวลใจ ฉันพบว่าอาชีพหลักของชาวบ้านเกือบทั้งหมดคือการทำสวนลำไย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดลำพูน ใคร ๆ ก็รู้ว่าราคาลำไยไม่แน่นอนสักปี ถ้าชาวบ้านยังเอาชีวิตแขวนไว้กับเส้นราคาลำไยอยู่อย่างนี้ อนาคตของพวกเขาก็คงขึ้น ๆ ลง ๆ ไม่แน่นอนเหมือนราคาลำไยนั่นแหละ

ความหนักอกหนักใจของชาวบ้านในตอนนี้ คือ การที่พวกเขายังต้องวิ่งขึ้นวิ่งลงศาลจังหวัดลำพูนเพื่อแก้ต่างคดีที่ถูกนายทุนฟ้องร้อง ขณะที่ชาวบ้านคนอื่น ๆ ก็ใจตุ้ม ๆ ต่อม ๆ กับการนอนกอดที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ ยังไม่มีใครรู้ว่าบทสุดท้ายของการต่อสู้จะเป็นอย่างไร ชาวบ้านก็ได้แต่หวังว่าพวกเขาจะใช้ที่ดินให้คุ้มค่าที่สุด อย่างน้อยในระหว่างที่รอการตัดสินของศาล และรอการแก้ไขจากรัฐบาล พวกเขาก็คงเก็บผลผลิตขายได้อีกหลายล้านบาท

ทำวิจัยมาถึงตอนนี้ ฉันเริ่มเข้าใจชาวบ้านมากขึ้น ไม่ว่าจะฐานะนักวิจัย นักพัฒนา หรือมนุษย์เงินเดือนธรรมดาก็เถอะ ฉันหวังว่า "ขบวนการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน" จะทำให้ผู้มีอันจะกินทั้งหลายได้รับบทไม่ฉ้อฉลฮุบที่ดินของผู้อื่นเป็นของตน ไม่กว้านซื้อสะสมที่ดินเพื่อเก็งกำไรโดยไม่ทำประโยชน์ ต่อไปราคาที่ดินน่าจะลดลงกว่านี้ คนจนซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในประเทศจะได้มีปัญญามีที่ดินซุกหัวนอนกับเขาบ้าง

ดูอย่างฉันสิ ถ้าไม่ได้แม่เก็บเงินผ่อนที่ดินไว้ให้ ก็เห็นจะต้องเช่าบ้านอยู่ไปจนตาย แค่ซื้อที่ดินไม่กี่ตารางวา แม่ฉันยังต้องเก็บเงินมาตลอดชีวิตเลยทีเดียว.

อัจฉรา รักยุติธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net