Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในสายตาของคนภายนอกอาจมองว่า สาเหตุของการสูญเสียพื้นที่ป่าโดยเฉพาะในเขตผืนป่าตะวันตก "มรดกโลก" นั้น มาจากการบุกรุกทำลายของ "ชาวเขา" ซึ่งตั้งชุมชนและทำกินในพื้นที่ดังกล่าว แต่สำหรับ "ไพบูลย์ ช่วงบำรุงวงศ์" ผู้ใหญ่บ้านกองม่องทะ ผู้นำชุมชนซึ่งตกเป็นจำเลยของสังคมนั้น กลับเห็นว่า พวกเขาเองเป็นส่วนหนึ่งของเหยื่อเช่นเดียวกับ "ธรรมชาติ" ที่ได้รับผล กระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐเช่นกัน

"ปัญหาการขยายหมู่บ้าน เกาะสะเดิ่ง เกิดจากการพัฒนาเขื่อนเขาแหลม เสียพื้นที่ป่า 2 ต่อ เพราะมีการจัดการที่ห้วยมาลัยไม่ดี " ไพบูลย์ จากหมู่บ้านกองม่องทะ ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ หมู่บ้านเกาะสะเดิ่งกล่าว

เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร พาสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อฟังข้อมูล "ไร่หมุนเวียน" ของชาวกระเหรี่ยง บ้านสะเนพ่อง บ้านกองม่องทะและบ้านเกาะสะเดิ่ง อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งผู้นำชาวกะเหรี่ยงในทั้งสามหมู่บ้านตั้งข้อสังเกตว่า การพัฒนาที่มาจากรัฐส่วนกลาง อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาการรุกล้ำและทำลายพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร

ชาวกระเหรี่ยงทั้งสามหมู่บ้านเป็นกระเหรี่ยงโปว์ ซึ่งนิยมตั้งถิ่นฐานบริเวณต้นน้ำ ในอดีตมีบริบททางประวัติศาสตร์ถึงขั้นเป็น" เมือง" คาดว่าถิ่นฐานดั้งเดิมน่าจะอยู่ในพม่า แต่ช่วงปลายสมัยอยุธยาหรือต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ถูกพม่าโจมตีจึงอพยพมาตั้งถิ่นฐานบริเวณแนวป่าตะวันตก หรือทุ่งใหญ่นเรศวร จ.กาญจนบุรีดังปัจจุบัน

พระมหากษัตริย์ไทยในช่วงเวลานั้นได้รับอุปถัมภ์กะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวไว้ในพระบรมโพธิสมภาร และอนุญาตให้ตั้งเป็นชุมชนได้ โดยทำหน้าที่สอดแนมทางการทหารและเป็นเมืองหน้าด่าน

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ชุมชนกะเหรี่ยงได้รับพระราชทานให้ขยายเป็นเมือง และมีเจ้าเมืองชัดเจน เมืองสังขละบุรี ซึ่งมีบรรพบุรุษของชาวกะเหรี่ยงทั้งบ้านสะเนพ่อง กองม่องทะ เกาะสะเดิ่งอาศัยอยู่ก็ได้ยกระดับเป็นเมืองด้วย โดยมีพระศรีสุวรรณคีรีเป็นเจ้าเมือง

ทว่าในปัจจุบันประวัติศาสตร์ของชาวกระเหรี่ยงกลับไม่ได้รวมอยู่กับประวัติศาสตร์ของป่าตะวัน ตก และซ้ำด้วยการถูกตีตรายัดเยียดคำว่า" ชนกลุ่มน้อย" และ" ผู้บุกรุกทำลายป่า" มาให้

หลังจากการประกาศเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ปี 2517 ซึ่งทับซ้อนไปบนพื้นที่ บ้านสะเนพ่อง บ้านกองม่องทะ และบ้านเกาะสะเดิ่ง ซึ่งเป็นชุมชนกระเหรี่ยง ประวัติศาสตร์การอยู่กับป่ามากว่าร้อยปีก็กลับกลายเป็นผู้บุกรุกและทำลายป่าไปโดยปริยาย

.ปัจจุบันหมู่บ้านทั้งสามกำลังเผชิญปัญหาการขยายตัวของหมู่บ้านอันเกิดจากนโยบายพัฒนาของรัฐ จนทำให้ต้องถูกจับตาจากหน่วยงานรัฐว่า ชาวกะเหรี่ยงทั้งสามหมู่บ้านจะทำลายป่ามากขึ้น

ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือ...... และใครกันแน่ที่กำลังทำลายป่า?

ผู้ใหญ่ไพบูลย์ แห่งหมู่บ้านกองม่องทะ เล่าให้คณะเดินทางฟังว่า วิถีชีวิตของชาวกระเหรี่ยง มีความผูกพันกับป่า มีการทำไร่หมุนเวียนเป็นอาชีพหลัก ชาวกระเหรี่ยงมองว่าไม่ใช่การทำลายป่า ในแต่ละหมู่บ้าน มีการใช้พื้นที่ชัดเจน แต่การถางป่าทำไร่หมุนเวียนอาจเพิ่มขึ้น เพราะการขยายตัวของหมู่บ้าน

ผู้ใหญ่ไพบูลย์เล่าต่อว่า การขยายตัวของหมู่บ้านส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของรัฐเอง กรณีการสร้างเขื่อนเขาแหลมเป็นตัวอย่างชัดเจน เพราะชาวกระเหรี่ยงบริเวณห้วยมาลัยได้รับผลกระทบจนต้องอพยพมาบริเวณ บ้านกองม่องทะ และ เกาะสะเดิ่ง มากขึ้น ทำให้มีการขยายพื้นที่ไร่หมุนเวียนและที่อยู่อาศัย อย่างไรก็ตาม ทางหมู่บ้านได้จัดประชุมและแก้ปัญหาด้วยการแบ่งโซนพื้นที่ในการที่จะทำไร่หมุนเวียนให้ชัดเจน เพื่อลดปัญหาการขยายพื้นที่การถางป่าอย่างไร้ขอบเขต

"การจัดการของรัฐ หลังจากมีการสร้างเขื่อนเขาแหลม มีการจัดสรรพื้นที่ให้ชาวกระเหรี่ยงที่ห้วยมาลัย แต่ละบ้านจะมีพื้นที่ทำกินอย่างชัดเจนบ้านละ 15 ไร่เพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่ไม่ให้ความรู้ในการเกษตรแผนใหม่ ชาวกระเหรี่ยงจึงอยู่ไม่ได้และอพยพมาที่หมู่บ้าน สรุปว่าเสียทั้งป่าเพื่อทำเขื่อนและเสียป่าเพื่อทำไร่เพิ่มขึ้นอีก" ผู้ใหญ่ไพบูลย์กล่าว

นอกจากนี้ ผู้ใหญ่ไพบูลย์ยังชี้ปัญหาของการปลูกพืชเชิงเดี่ยวตามนโยบายรัฐ ว่า การระบุพื้นที่ทำการเกษตรของชุมชนชัดเจนในเขตอนุรักษ์ป่า แม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่กลับเป็นเหตุที่ทำให้การทำลายป่ามีเพิ่มขึ้นเพราะเป็นเครื่องมือของนายทุนใช้ครอบครองกรรมสิทธิ์บนพื้นที่

"ที่กองม่องกะและสะเนพ่อง เริ่มปลูกไม้ผล นำมาสู่การจองกรรมสิทธิ์บนพื้นที่ ไม้พวกนี้มีอายุยืน ส่วนชาวบ้านก็ทำสวนแบบนี้ไม่เป็น ต่อมานายทุนก็มาซื้อที่จากชาวบ้าน ชาวบ้านก็ไปแผ้วถางป่าใหม่ เพื่อดำรงชีพ ป่าไม้ก็ต้องจับ" ผู้ใหญ่ไพบูลย์กล่าว

เมื่อมีโอกาสได้คุยกับนายอานนท์ ชะแล กำนัน ตำ.ไร่โว่ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลทั้งหมู่บ้านสะเนพ่อง กองม่องทะ และเกาะสะเดิ่ง นายอานนท์ ให้ความเห็นว่า "วิถีชีวิตต้องค่อย ๆ เปลี่ยน เปลี่ยนทีเดียวชาวบ้านก็รับไม่ได้ ถ้าเปลี่ยนได้ก็อยากเปลี่ยน การเผาที่ทำไร่ก็ไม่อยากทำ แต่มันจำเป็น ถ้าทำได้ก็ไม่อยากทำ"

นายอานนท์ ยังกล่าวต่อว่า การศึกษาในระบบโรงเรียนก็มีส่วนที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของชาวกระเหรี่ยง ซึ่งแม้ชาวกระเหรี่ยงจะใช้พื้นที่ป่าทำไร่หมุนเวียน แต่ก็มีระบบประเพณีเป็นเครื่องมือในการควบคุมสมดุลของป่า เช่น ไม่ตัดต้นไม้ใหญ่ ไม่ฆ่าสัตว์บางชนิด หรือไม่ทำไร่บนหลังตาน้ำ เป็นต้น

"โรงเรียนสอนให้ต้องเข้าเรียนไปตามหลักวิชา หารายได้ สมัครงาน ไม่ชอบทำไร่ทำนา เด็กก็ต้องไปทำงานข้างนอก ถ้ายังเชื่อวัฒนธรรมก็ดี แต่บางคนไปข้างนอกกลับมาก็แต่งตัวโป๊ ไม่เคารพคนเฒ่าคนแก่ ที่ทางเดิมอาจตกเป็นของนายทุนในรุ่นหลัง ตอนนี้ก็มีบ้างแล้ว แต่ทางหมู่บ้านก็มีการจัดประชุมบ่อย ๆ เพื่อแก้ปัญหา" กำนันอานนท์กล่าว

หลังจากที่มีโอกาสเข้าไปรับฟังปัญหาในพื้นที่แล้ว บางครั้งก็ทำให้นั่งกลับมาคิดว่าเรากำลังละเลยอะไรบางอย่าง

เรากำลังมองว่า "ป่า" เป็นเหมือน "สวน" ของ "คนเมือง" หรือไม่ หลังจากที่เราพัฒนาเทคโนยี และพึงใจในวัตถุมากขึ้น ป่าไม่ใช่สิ่งที่เคยพึ่งพาและผูกพันสำหรับคนเมืองอีกแล้ว เราแค่ต้องการป่าไว้ เพื่อบอกตัวเองต่างชาติว่า "ประเทศไทยยังมีผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์" หรือไม่ก็มองว่าป่าเป็นแค่สวนที่เอาไว้พักผ่อนท่องเที่ยว โดยลืมมิติของความผูกพันของคนกับป่าแบบเก่าก่อน ดังนั้นเมื่อจะจัดการดูแลป่าจึงคิดง่ายๆ แค่หยิบสีมาระบายบนแผนที่ แล้วออกฎหมายให้ชัดว่าห้ามรุกล้ำสีที่ระบายไว้ ไม่สนใจทุกสิ่งทุกอย่าง ลืมแม้กระทั่งว่าก่อนที่เราจะมาอยู่ป่าคอนกรีต เราเองก็เคยอยู่ป่าต้นไม้มาก่อน

เรากำลังเอาวิธีการของคนป่าคอนกรีตไปจัดการคนในป่าต้นไม้แล้วบอกว่า เขาผิดที่อยู่กับป่า เหมือนกับที่เราบอกให้กะเหรี่ยงย้ายออกจากป่าที่เคยอาศัยด้วยการสร้างเขื่อน หรือการที่กะเหรี่ยงทำการเกษตรแบบดั้งเดิม(ไร่หมุนเวียน)ก็มองว่าเป็นการทำลายป่า(ป่าเพื่อคนเมือง)ทั้งๆที่กะเหรี่ยงเคยทำการเกษตรในลักษณะนี้มาเป็นร้อยปีป่าก็ยังอุดมสมบูรณ์มาให้รัฐออกพื้นที่อนุรักษ์ได้ ป่าที่กำลังหมดเพิ่งเกิดเมื่อ" คนเมือง" เข้าไปครอบครองและจัดการใช่หรือไม่

เราควรจัดการป่าแบบใดกันแน่ จะก้าวเข้าไปดูแล้วคิด หรือจะถอยออกมาห่างๆ จัดการจากภายนอกเหมือนที่เป็นอยู่ ตอนนี้รัฐเองก็กำลังถกกันเรื่องกฎหมายป่าชุมชน ฝากให้เป็นการบ้านก่อนออกกฎหมายฉบับนี้ก็แล้วกัน

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net