Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-4 เม.ย.48 ชาวบ้านแม่เมาะกว่า 200 คน ปักหลักชุมนุมกดดันผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ให้ดำเนินการอพยพชาวบ้าน 4 หมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ พร้อมทั้งดำเนินคดีผู้บุกรุกพื้นที่อพยพ ถ้าไม่เช่นนั้น จะทำการฟ้องดำเนินคดีข้อหาละเว้นการปฏิบัติงานในหน้าที่ ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางรับปากจะเรียกประชุมเพื่อจัดการแก้ไขปัญหาโดยด่วน

ตามที่ มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2547 เห็นชอบให้มีความช่วยเหลือราษฎรบ้านหัวฝาย บ้านห้วยคิง บ้านห้วยเป็ด และบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง จำนวน 1,720 คน 669 ครอบครัว ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ โดยให้มีการอพยพไปอยู่พื้นที่ใหม่ที่รัฐจัดหาพื้นที่รองรับ ที่บ้านห้วยรากไม้ ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ในพื้นที่จำนวน 950 ไร่ อีกทั้งช่วยดำเนินการขนย้ายและก่อสร้างที่อยู่อาศัยให้นั้น

แต่จนบัดนี้ การดำเนินการยังไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังเพิกเฉย ไม่ยอมดำเนินคดีผู้บุกรุกครอบครองพื้นที่ที่ใช้รองรับการอพยพของชาวบ้านแต่อย่างใด

นางมะลิวัลย์ นาควิโรจน์ ชาวบ้าน บ.ห้วยคิง ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นหนึ่งที่เรียกร้องให้มีการอพยพออกจากพื้นที่อันตราย เปิดเผยว่า ชาวบ้านได้เร่งให้รัฐดำเนินการมาหลายครั้งแล้ว รวมทั้งการเข้ายื่นหนังสือถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐ มนตรี ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอให้เร่งดำเนินการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ที่ได้รับสารพิษจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะโดยเร็ว แต่ก็ยังละเลยต่อหน้าที่

"ดังนั้น ตนจึงพาชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้านมาชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมที่หน้าศาลากลางจังหวัดลำปาง เพื่อให้เร่งรัดการอพยพชาวบ้านโดยด่วน หลังจากที่ทราบข่าวว่า ทางจังหวัดจะไปประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งนายอมรทัต นิรัติศยกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้บอกว่า ไม่ได้ไปประชุมเรื่องการอพยพชาวบ้าน แต่เป็นการประชุมในเรื่องการออกเอกสารสิทธิ ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะเห็นว่า การอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน แต่จังหวัดกลับทำเป็นไม่สนใจที่จะแก้ปัญหา " นางมะลิวัลย์ กล่าว

หลังจากนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าเจรจากับผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ให้เร่งดำเนินการตามแผนอพยพชาวบ้าน รวมทั้งให้เร่งดำเนินคดีกับผู้บุกรุกที่ดินที่ใช้รองรับชาวบ้านที่จะอพยพเข้ามาอยู่ ซึ่งจากเดิมมีอยู่ 18 ราย แต่ขณะนี้มีผู้บุกรุกเข้ามาจับจองอยู่เพิ่มเป็น 70 ราย

นางมะลิวัลย์ กล่าวอีกว่า ทั้งๆ ที่มติ ครม.ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นผู้ว่าฯ ซีอีโอ มีอำนาจ สามารถดำเนินการและตัดสินใจได้อยู่แล้ว แต่ทำไมถึงไม่มีการเร่งอพยพชาวบ้าน พร้อมทำการจับกุมดำเนินคดีกับผู้บุกรุก แต่กลับปล่อยให้มีผู้บุกรุกเข้าไปจับจองเพิ่มมากขึ้น

ในที่สุด นายอมรทัต นิรัติศยกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้ออกมาพบกับกลุ่มผู้ชุมนุม พร้อมกับรับปากว่า จะเร่งดำเนินการแก้ปัญหาทั้งหมดโดยเร็ว โดยจะทำการเรียกประชุมคณะกรรมการในระดับจังหวัด ในกรณีผู้บุกรุกพื้นที่ที่ใช้ในการรองรับชาวบ้านที่อพยพ ในวันที่ 9 พ.ค.นี้ และประชุมหารือ กรณีการอพยพราษฎรไปอยู่พื้นที่ใหม่ที่รัฐจัดหาพื้นที่รองรับ ในวันที่ 12 พ.ค.นี้

ทั้งนี้ กลุ่มชาวบ้านยังคงชุมนุมกันอยู่ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดลำปาง เพื่อรอจนถึงวันที่มีการประชุมว่าผลจะออกมาอย่างไร และกลุ่มผู้ชุมนุมยังยืนยันอย่างหนักแน่นว่า หากรัฐยังไม่เร่งดำเนินการจัดการกับกลุ่มผู้บุกรุก และยังไม่ทำการอพยพชาวบ้านเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ในครั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมจะเข้าแจ้งความเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐในข้อหาละเว้นการปฏิบัติงานในหน้าที่ทันที

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net