ไปรู้จัก "เปียงหลวง" ดินแดนแห่งความหลากหลาย ตอนที่ 1- รายงานพิเศษ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เด็กหญิงไทใหญ่ในชุดสดใส
-------------------------------------

"เปียงหลวง มีอะไรให้ค้นหามากมาย ไปเถอะ ลงไปดูสิว่ามันมีความหลากหลายให้เราเรียนรู้" มาลา คำจันทร์ นักเขียนรางวัลซีไรท์คนแรกคนเดียวของล้านนา เอ่ยออกมาในบ่ายวันหนึ่ง บนเรือนไม้เก่า ของโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญา ของเมืองเชียงใหม่ ก่อนที่ผมจะตัดสินใจเดินทางไปเยือนเปียงหลวงอีกครั้งหนึ่ง

คงจริงดังว่า- -พอเอ่ยชื่อ เปียงหลวง ครั้งใด ทำให้ผมมีความรู้สึกทั้งสดชื่นรื่นรมย์ คล้ายได้กลิ่นของดอกไม้เฉพาะถิ่นโชยมาให้สูดดมหอมหวน เป็นกลิ่นอายของความบริสุทธิ์ ความสะอาด สงบ ล่องลอยมาแต่ไกล

ทว่าบางครั้ง,ผมกลับรู้สึกหม่นเศร้าใจหมองยังไงก็ไม่รู้ เมื่อยินหลายๆ คนเอ่ยถึง เปียงหลวง คราใด ภาพอดีตพลันแจ่มชัดในความคิดคำนึง เป็นภาพของความแปลกแยก ในความเป็นเชื้อชาติ ชนชั้น หลายคนพูดกันว่า เป็นชุมชนพลัดถิ่น ที่หลายผู้หลายคน- -หลายชีวิต ถูกกระแสลมแห่งความขัดแย้งในดงสงคราม โหมพลัดให้ระเหเร่ร่อนควะคว้างปลิวมาจากแต่ไกล

ก่อนสงบนิ่งอยู่บนผืนดินไทยตรงนี้- -ดินแดนที่เรียกขานกันว่า "เปียงหลวง" ชุมชนแห่งความหลากหลายติดแนวชายแดนไทย-พม่า ทางฟากฝั่งตะวันตกของอำเภอเวียงแหง อำเภอเล็กๆ ของจังหวัดเชียงใหม่

เป็นครั้งที่เท่าไรจนไม่จำเป็นต้องจำ ที่ผมเดินทางไปเยือนเปียงหลวง ทั้งไปในฐานะคนทำงานที่หลบหนีใบหน้าความวุ่นวายของเมืองใหญ่ เพื่อไปผ่อนพักในชุมชนบนเนินเขา สนทนากับคนแปลกหน้าที่ไม่รู้จัก ทว่ามีรอยยิ้มเปื้อนหมอกหนาวให้มองเห็นดูสดใส บางครั้งก็ไปเยี่ยมเพื่อนที่ทำงานอยู่ตามแนวชายแดน หรือไปเยือนในฐานะคนทำข่าว คนเขียนหนังสือ

161 กิโลเมตร คือระยะทางที่ผมใช้ในการเดินทางไกลจากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปเยือนเปียงหลวง กว่า 4 ชั่วโมง บนถนนโชตนาสายหลักจากเชียงใหม่-เชียงดาว ก่อนตัดแยกเมืองงายเลี้ยวซ้ายไปตามทางตะวันตก ก่อนแยกทางแม่จา เส้นทางที่สัญจรไปก็เริ่มขึ้นสู่เนินเขาสูง คดเคี้ยวไปตามดงป่าเขียวสดรกครึ้ม ผ่านป่าสน บางช่วงของถนนถึงกับไต่ไปบนยอดเขาจากลูกหนึ่งไปอีกลูกหนึ่ง นานหลายนาน- -ครั้นพอเข้าเขตอำเภอเวียงแหง ถนนกลับดิ่งลึกลงไปในความลาดต่ำลดเลี้ยวลงไป เมื่อมองลิบๆ ไกลออกไปเบื้องหน้า มองเห็นจุดเล็กๆ สีขาว กระจัดกระจายอยู่ในหุบเขา

"นั่นละ,เวียงแหง อำเภอที่ซุกซ่อนอยู่ในหุบเขา" ใครคนหนึ่ง เอ่ยออกมา แต่เมื่อถึงตัวอำเภอเวียงแหง เรายังไม่หยุดพัก หากมุ่งผ่านไปอีก 18 กิโลเมตร จนพบกับซุ้มประตูทางเข้าหมู่บ้านเปียงหลวง

หลายคนรู้ดีว่า- -เปียงหลวง มีความหลากหลายทั้งในเรื่องของคนพลเมือง วิถีการดำรงอยู่ วัฒนธรรมประเพณี รวมไปถึงความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ที่มีมานานนับหลายร้อยปี โดยที่โดดเด่นมากที่สุด ก็คือ เป็นชุมชนที่มีผู้คนหลายเชื้อชาติชนเผ่าอาศัยอยู่ร่วมกัน

ใช่แล้ว คนส่วนใหญ่ของชุมชนบ้านเปียงหลวงนั้นอพยพมาจากรัฐฉาน ประเทศพม่า อีกทั้งกลุ่มผู้เข้ามาก่อตั้งชุมชนแห่งนี้ ต่างเคยเป็นทหารของกองกำลังกู้ชาติไทใหญ่

และยังมีกลุ่มคนจีนตั้งถิ่นฐานอยู่รวมกัน ตามประวัติศาสตร์บอกว่า คนจีนกลุ่มนี้เป็นอดีตทหารจีนคณะชาติ หรือก๊กมินตั๋ง นอกจากนั้น มีชนเผ่าลีซอ ปะหล่อง และชาวไทยที่อาศัยอยู่ร่วมกันมานาน

ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่ง หากใครสนใจใคร่รู้จัก เปียงหลวง ให้แจ่มชัด จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้ศึกษาหลายๆ มิติ ไม่ว่า มิติทางประวัติศาสตร์ของเชื้อชาติ ประวัติศาสตร์การสู้รบระหว่างไทใหญ่กับพม่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทใหญ่กับประเทศไทย มิติทางสังคม รวมไปถึงมิติในวิถีวัฒนธรรมของชุมชนเปียงหลวง

เมื่อพูดถึงความเป็นมาของชาวไทใหญ่ หลายคนต่างยอมรับกันดีว่า ชนชาติไต หรือไทใหญ่ เป็นเชื้อชาติที่เก่าแก่และยิ่งใหญ่มาก่อน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประชากรส่วนใหญ่อยู่ในรัฐฉาน ประเทศพม่า และบางส่วนอยู่ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน และอีกส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในเขตภาคเหนือของประเทศไทย

เมื่อเอ่ยคำเรียกขานถึง ไทใหญ่ ในแต่ละพื้นที่จึงย่อมเรียกแตกต่างกัน
คนจีนในยูนนาน เรียกชาวไทใหญ่ว่า "เซม" คนพม่าเรียกชาวไทใหญ่ว่า "ชาน" ซึ่งเพี้ยนมาจากคำว่า "สยาม" ต่อมาจึงกลายเพี้ยนเป็น "ฉาน" หรือที่มีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "Shan" และในที่สุด จึงเรียกแผ่นดินของคนไทใหญ่ว่า รัฐชาน หรือรัฐฉาน(Shan State) นับแต่นั้นมา

ในขณะที่คนไทยล้านนามักชอบเรียก ชาวไทใหญ่ว่า "เงี้ยว" แต่คนไทใหญ่ไม่ชอบเท่าใดนัก เพราะเป็นคำที่ส่อในเชิงดูหมิ่นดูแคลน ครั้นเมื่อถามพี่น้องชาวไทใหญ่ พวกเขากลับเรียกตัวเองว่า "ไต"

"คำว่าชนชาติไทย-ไต เปรียบเหมือนคำว่า "ช้าง" ช้างมีขา มีหู มีงา มีงวง และหาง ชนชาติไทย-ไต ก็มีกลุ่มชาติพันธุ์ไทย คือไทยน้อย กลุ่มชาติพันธุ์ไต คือ ไทใหญ่ และกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขิน" ชายชื้น คำแดงยอดไตย ได้เล่าให้ฟังถึงเรื่องภูมิปัญญาพื้นบ้านไทย-ไต เอาไว้อย่างน่าสนใจ

ฟ้า เวียงอินทร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท