Skip to main content
sharethis

ยะลา-8 พ.ค.48 ตั้งแต่เวลา 10.00น.ถึง 17.00 น. ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จังหวัดยะลา นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ พร้อมด้วยคณะ กรรมการฯ 29 คน อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระ ทรวงต่างประเทศ เดินทางมารับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยชาวบ้านจากอำเภอต่างๆ ของจังหวัดยะลา เกือบ 1,000 คน รวมทั้งชาวบ้านสุโสะ ตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา 10 คน ซึ่งเป็นญาติของผู้เสีย ชีวิตในเหตุการณ์นองเลือดวันที่ 28 เมษายน 2547
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โดยสรุปที่ประชุมฯ ต้องการให้กำหนดจุดยืนของประเทศให้เป็นประเทศที่เป็นกลาง เนื่องจากขณะนี้สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจกำลังต่อสู้อยู่กับปัญหานอกบ้านของตัวเองนั่นคือ กลุ่มองค์กรทางด้านศาสนาที่สหรัฐกำลังสร้างภาพให้เป็นสิ่งที่น่ากลัว ซึ่งหากประเทศไทยเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจทำให้กลายเป็นเป้าหมายของการก่อการร้ายได้
นอกจากนั้น ได้เรียกร้องให้รัฐบาลกระจายอำนาจทางการปกครองให้กับคนในพื้นที่ให้มากขึ้น เนื่องจากคนในพื้นที่จะมีความเข้าใจมากกว่า เช่น ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งการกระจายอำนาจทางการศึกษาด้วย
รวมถึงเรียกร้องให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าวสารที่ตรงกับความเป็นจริงในพื้นที่ด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาสื่อมวลชนมักจะมีการประโคมข่าวที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งทำให้คนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน
และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ของตน รวมทั้งให้ภาครัฐมีความโปร่งใสและตรวจอบได้ และขอยืนยันต่อคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติว่า การนำข้อเสนอของนายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี ที่มาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชา ชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อต้นปี 2547 นั้น นำมาใช้นั้นเป็นที่ต้องการประชาชนในพื้นที่

ที่ประชุมยังเรียกร้องให้มีการเปิดเผยผลการสอบสวนคดีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม กำหนดให้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ปลอดการขายเหล้าและปลอดอบายมุข แก้ไขเรื่องการให้ความยุติธรรมเบื้องต้นให้กับประชาชนในพื้นที่ เช่น ไม่ควรโอนคดีความที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ขึ้นไปพิจารณาในส่วนกลาง เนื่องจากสร้างความยากลำบากให้ กับประชาชน รวมทั้งเรียกร้องให้ส่งเสริมการดูแลเด็กและสตรีในพื้นที่ รวมทั้งอย่าใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาของเด็กและสตรี
ระบุสังคมไทยระแวงสตรีมุสลิม
นางปาตีเมาะ บินดาโอ๊ะ ประธานชมรมผู้ดูแลเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นมุสลิมคนหนึ่ง และสัญลักษณ์ของสตรีมุสลิมคือ การคลุมศีรษะ แต่เมื่อตนเดินทางออกนอกพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นไปภาคอื่น จะถูกมองอย่างหวาดระแวง อย่างเช่น ครั้งหนึ่งเมื่อตนเข้าไปในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ พนักงานของร้านจะโทรศัพท์แจ้งตำรวจว่ามีสตรีชาวมุสลิมท่าทางไม่น่าไว้วางใจเข้าในในร้าน ครั้งนั้นตนก็ถูกตรวจค้นกระเป๋า
"น้องสาวคนหนึ่งซึ่งเดินทางมาจากภาคกลางถูกพนักงานบนรถโดยสารถามว่าเรียนอยู่ปอเนาะหรือไม่ เมื่อตอบว่าเรียนอยู่ที่ปอเนาะแห่งหนึ่ง ปรากฏว่าพนักงานได้จอดรถและไปรื้อกระเป๋าที่เก็บในช่องเก็บสัมภาระใต้ท้องรถมาตรวจค้นอย่างละเอียด ถามว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะอะไร อยากขอให้รัฐบาลไปแก้ไขตรงนี้ด้วย" นางปาตีเมาะ กล่าว
ชาวบ้านรายหนึ่งกล่าวว่า ประเทศไทยมีอิสรเสรีในการนับถือศาสนามาก เพราะฉะนั้นการที่สตรีมุสลิมคนหนึ่งสามารถคลุมศีรษะได้ก็เพราะเกิดจากความศรัทธาในศาสนา ซึ่งที่ผ่านมาจะพบว่าผู้ที่ศรัทธาในศาสนาไม่ว่าศาสนาใดก็ตาม มักจะเป็นคนที่มีคุณภาพ นิสัยดีแน่นอน
โดยเฉพาะสตรีชาวมุสลิม ซึ่งมีหลายคนที่จบจากมหาวิทยาลัย แต่มาบ่นว่าไม่มีงานทำ เนื่องจากหน่วยงานต่างๆ ตั้งเงื่อนไขว่าถ้าจะทำงานที่หน่วยงานนี้ก็ต้องถอดผ้าคลุมศีรษะออก ซึ่งเป็นการบังคับให้เขาต้องละเมิดหลักคำสอนทางศาสนา เพราะฉะนั้นสตรีมุสลิมจึงมีโอกาสในการหางานทำได้น้อยมาก จึงขอเรียกร้องให้สร้างโอกาสให้สตรีมุสลิมเหล่านี้ด้วย
เผยกลุ่มไม่รู้แต่ชอบชี้เพิ่มเชื้อไฟใต้
นายดลรอหีม สุนทรมาลาตี ครูสอนศาสนาโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิ กล่าวว่า ตนได้แบ่งคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่รู้ไม่ชี้ กลุ่มไม่รู้และไม่ชี้ กลุ่มไม่รู้แล้วชี้ ซึ่งกลุ่มนี้ที่ทำให้ครูสอนศาสนาในโรงเรียนธรรมวิทยามูลนิธิหายตัวไปหลายคน ซึ่งตนเองก็ถูกคนกลุ่มนี้ชี้ว่าตนเป็นผู้ก่อความไม่สงบด้วย ซึ่งก็ได้ไปชี้แจงต่อกองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้(กอ.สสส.จชต.)แล้ว คนกลุ่มนี้ชี้เพราะต้องการเงินรางวัล เป็นกลุ่มที่สร้างปัญหามาก บางคนที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดเช่นนี้แล้ว แทนที่เขาจะแสดงความบริสุทธิ์ ก็หันไปทำผิดซะเลย ปัญหาก็เลยเพิ่มขึ้นไปอีก
นายดลรอหีม กล่าวอีกว่า กลุ่มต่อมาคือกลุ่มรู้แต่ไม่ชี้ สุดท้ายคือกลุ่มที่รู้แล้วชี้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่รัฐต้องการมากที่สุดในการเข้ามาแก้ปัญหา แต่กลับมีน้อยที่สุด กลุ่มที่รู้แต่ไม่ชี้ มีหลายสาเหตุ อาจเป็นเพราะความกลัว เมื่อชี้แล้วอาจจะไม่มีชีวิตอยู่ต่อไปได้ ซึ่งรัฐต้องให้หลักประกันกับกลุ่มนี้และให้เขากลายมาเป็นคนที่ชี้แนวทางแก้ปัญหาให้ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net