Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

๑๗ พฤษภาคม ปีนี้ ครบ ๑๓ ปีของกรณีพฤษภาคม ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งของประชาชนไทย เพราะไม่เพียงแต่มีขนาดใหญ่โต ผู้คนเข้าร่วมหลายแสนคน สามารถทำลายระบบเผด็จการทหารลงไปได้เท่านั้น หากยังนำมาสู่การสร้างสรรค์ประชาธิปไตย และการปฏิรูปทางการเมืองโดยเฉพาะการจัดทำและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ท่านผู้อ่านที่เข้าร่วมหรือรับรู้การต่อสู้ดังกล่าวคงยังจำได้ว่า การต่อสู้นี้เริ่มขึ้นตั้งแต่คืนวันที่ ๗ เมษายน เมื่อเรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร ไปนั่งอดข้าวประท้วงการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.สุจินดา คราประยูร หน้ารัฐสภา การต่อสู้ค่อยๆขยายตัวกลายเป็นการต่อสู้ใหญ่ในเดือนพฤษภาคมตั้งแต่วันที่๔ พฤษภาคม โดยใช้รูปแบบการต่อสู้สลับกันไประหว่างการชุมนุมใหญ่กับการเดินขบวนหลายครั้งหลายที่และใช้โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์ติดตามตัว และโทรสารส่งข่าวและระดมคนมาชุมนุมและเดินขบวน ยุติลงด้วยชัยชนะในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม เมื่อพล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่ง

แต่ทว่า ลักษณะเด่นที่สุดของการต่อสู้ใหญ่เดือนพฤษภาคม เมื่อ๑๓ ปีที่แล้ว มิใช่ขนาดและรูปแบบของการต่อสู้ หากเป็นลักษณะของผู้นำและผู้เข้าร่วมการต่อสู้ ที่นอกจากส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง จนได้รับการเรียกขานว่า เป็น " ม็อบรถยนต์ หรือม็อบมือถือ " แล้ว ยังมีพรรคการเมืองที่รวมกันเป็นพันธมิตรประชาธิปไตย ๔ พรรค พรรคพลังธรรม พรรคความหวังใหม่ พรรคเอกภาพ และพรรคประชาธิปัตย์ ถือว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนไทยที่มีพรรคการเมืองมานำ

และที่สำคัญ การต่อสู้กรณีพฤษภาคม ๒๕๓๕ ถูกปราบปรามอย่างนองเลือด มีคนเสียชีวิต บาดเจ็บ และสูญหาย หลายร้อยคน

พวกเขาเป็นวีรชนประชาธิปไตย ผู้สละเลือด พลีชีพเพื่อโค่นล้มคณะผู้รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ นำระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงคืนมา

ฉะนั้น เมื่อถึงเดือนพฤษภาคมทุกปี ผู้ที่ร่วมการต่อสู้ ญาติของวีรชน กลุ่มและองค์กรประชาธิปไตยจะจัดงานรำลึก เพื่อฟื้นความจำ เสริมความสำนึกทางประวัติศาสตร์ และสืบทอดภารกิจประชา
ธิปไตย รวมทั้งเพื่อติดตามความคืบหน้าในการสร้างอนุสรณ์สถานวีรชนพฤษภาคม และการช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายในกรณีนี้

ความจริงแล้ว วัตถุประสงค์ทั้งหมดเคยเป็นมติคณะรัฐมนตรีมาหลายชุดโดยเฉพาะของนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร สมัยที่แล้ว

โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในการจัดสร้างอนุสรณ์สถานในบริเวณสวนสาธารณะที่เป็นที่ตั้งเดิมของกรมประชาสัมพันธ์ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ เช่น การรักษาพยาบาล การให้ทุนศึกษา การฝึกอาชีพและฟื้นฟูสมรรถภาพ และการให้สิทธิค่าลดหย่อน หรือค่าบริการต่าง ๆ ของรัฐ และการจ่ายค่าทดแทนและความเสียหายสมควรที่จะได้รับตามความเหมาะสมจำเป็น และตามควรแก่กรณี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และผู้แทนคณะกรรมการอิสระฯ โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบไปพิจารณาดำเนิน
การกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องนี้ แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

กล่าวเฉพาะการจัดงานรำลึก ๑๓ ปีพฤษภาประชาธรรมปีนี้ คณะกรรมการจัดงานรำลึกพฤษภาประชาธรรม ๒๕๔๘ จะวางเข็มมุ่งการสร้างอนุสรณ์สถานวีรชนพฤษภาคม โดยจะวางศิลาฤกษ์ เพื่อเริ่มต้นการสร้างอนุสรณ์สถานฯ และการค้นหาผู้สูญหายจากสาเหตุทางการเมืองในช่วง ๑๓ ปีที่ผ่านมา

ทำไมต้องวางศิลาฤกษ์สร้างอนุสรณ์สถานวีรชนพฤษภาคม ปีนี้ เหตุผลง่ายๆ ก็คือ จะต้องลงมือก่อสร้างได้แล้ว หลังจากที่รัฐบาลตั้งแต่รัฐบาลนายชวน หลีกภัย เคยมีมติคณะรัฐมนตรีให้จัดสร้างอนุสรณ์สถานฯที่สวนสันติพร มาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๓๖ อย่าลืมว่า อนุสรณ์สถานวีรชน๑๔ ตุลาคม ใช้เวลา ๒๗ ปี จึงเริ่มก่อสร้างกันได้ เพราะการเคลื่อนไหวสร้างอนุสาวรีย์วีรชนประชาชนไม่ว่ากรณีใดๆ เป็นการต่อสู้ทางความคิดและการเมือง มีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยโดยเฉพาะอำนาจส่วนหนึ่งมักไม่เห็นด้วยให้สร้างอนุสาวรีย์ดังกล่าว

ส่วนประเด็นการหาผู้สูญหายจากเหตุการณ์พฤษภาคม ๒๕๓๕ การลักพาตัวหรือ การอุ้มผู้มีความ
คิดทางการเมืองแตกต่างกัน ทั่งที่เกิดก่อนหน้าและหลังกรณีนี้ จากผู้นำคนงาน นายทนง โพธิ์อ่าน มาถึงทนายสมชาย นิละไพจิตร เท่าที่ศึกษาปัญหาคนหาย พอสรุปได้ว่า สังคมไทยไม่มีบทเรียนประสบการณ์ในการหาผู้สูญหาย ไม่เหมือนในหลายประเทศเช่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ อินโดนีเชีย และศรีลังกา ดังนั้นในงานรำลึกพฤษภาประชาธรรม ๒๕๔๘ จึงเอาประเด็นนี้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน โดยจะมีพ่อ แม่ ลูกเมียของผู้สูญหายมาเล่าถึงความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน และผู้ที่เคยร่วมการติดตามค้นหาผู้สูญหายมาถ่ายทอดบทเรียนประสบการณ์ให้ฟัง

นี่จะเป็นส่วนหนึ่งของการรำลึกถึงกรณีพฤษภาคม ๒๕๓๕ ความจริงแล้ว กรณีนี้มีเรื่องที่จะต้องรำลึก สืบทอดอีกมาก ตั้งแต่สภาพทางการเมืองที่ทำให้นายทหารกลุ่มหนึ่งก้าวขึ้นมามีอำนาจและบทบาททางการเมือง จนนำไปสู่รัฐประหาร ของคณะผู้รักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(ร.ส.ช. ) เมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ การมีรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับ ร.ส.ช. การเลือกตั้งทั่วไป ๒๕๓๕ /๑ และการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ. สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี การอดอดอาหารและจัดเวทีประท้วงหน้ารัฐสภา การจัดชุมนุมใหญ่ของพรรคการ
เมืองพันธมิตรประชาธิปไตย การจัดชุมนุมใหญ่ที่สนามหลวงและการประกาศอดอาหารของพล.ต.จำลอง ศรีเมือง การชุมนุมใหญ่หน้ารัฐสภา และการเดินขบวนกลับไปยังสนามหลวง(๖ -๗ พ.ค.) การชุมนุมและเดินขบวนไปยึดถนนราชดำเนิน การจัดตั้งสมาพันธ์ประชาธิปไตย และเดิน
ขบวนการถูกสกัดกั้น จับกุมและปราบปราม(๑๗ -๑๘ พ.ค.) พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้ พล.อ.สุจินดา และพล.ต.จำลองเข้าเฝ้า พล.อ.สุจินดา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามข้อเรียกร้องของประชาชน และกระแสสูงของการเคลื่อนไหวประชาธิปไตยหลังกรณีนี้

สุดท้าย การรำลึก นึกถึงกรณีพฤษภาคม ๒๕๓๕ จะต้องประสานกับสภาพทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน และมองไปข้างหน้าว่า ดอกผล บทเรียนประสบการณ์ของการต่อสู้ใหญ่เดือนพฤษภาคมเมื่อ๑๓ ปีที่แล้ว ยังดำรงอยู่และนำมาใช้ได้เพียงใด
จรัล ดิษฐาอภิชัย
ประธานคณะกรรมการจัดงานรำลึกพฤษภาประชาธรรม ๒๕๔๘

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net