Skip to main content
sharethis

ความหวัง
เขื่อนน้ำเทิน 2 เป็นโครงการแห่งความหวัง รัฐบาลลาวหวังว่าระยะเวลา 25 ปีของการเป็นเจ้าของสัมปทานโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำเทิน 2 จะสร้างรายได้อย่างต่ำ 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 7.6 หมื่นล้านบาทจากการขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทย

ฯพณฯ สมดี ดวงดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเงิน สปป. ลาว เคยกล่าวในการประชุมเกี่ยวกับโครงการเขื่อนน้ำเทิน ที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 3 กันยายน ปี 2547 ว่า "เราไม่ได้มีทางเลือกมากนัก และไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อลดระดับความยากจน เราพึ่งองค์กรให้ความอนุเคราะห์ค่อนข้างมาก ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนั้น เราเป็นประเทศ และควรยืนด้วยลำแข้งของตัวเอง กำหนดรายได้ด้วยตัวเอง สร้างแหล่งรายได้ของตนเองและกำหนดทิศทางการพัฒนาของตนเองได้"

ทั้งนี้ ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาที่ลึกซึ้งยาวนานของลาว กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของคนลาวมีรายได้เฉลี่ยต่อวันต่ำกว่า 2 ดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงตัวบ่งชี้ทางสังคมอื่น ๆ เป็นต้นว่า ภาวะการตายของทารกแรกเกิด การเข้าถึงการดูแลรักษาสุขภาพ จำนวนคนรู้หนังสือ ซึ่งทั้งหมดเกือบจะอยู่ในระดับต่ำสุดในเอเชียตะวันออก
http://www.prachathai.com/news/show.php?Category=vm&No=291

โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำเทิน 2 เป็นการผลิตไฟฟ้าด้วยจากแรงดันน้ำ โดยจะกั้นเขื่อนระยะทาง 195 กิโลเมตร ซึ่งบางส่วนของเขื่อนจะสร้างขวางแม่น้ำเทิน ในแขวงคำม่วน ตอนกลางของประเทศลาว บนที่ราบสูงนากายซึ่งจะกลายเป็นเขื่อนที่มีพื้นที่รับน้ำ 450 ตารางกิโลเมตร เพื่อส่งน้ำลงมายังโรงไฟฟ้าด้วยท่อขนาดใหญ่ที่มีความยาว 4.25 กิโลเมตร จากนั้น น้ำที่เหลือจากการผลิตไฟฟ้าจะถูกผันลงสู่แม่น้ำเซบั้งไฟ และน้ำกะถาง

ทางการลาวคาดว่าประชากรประมาณ 4,000 คนจะมีมีอาชีพจากโครงการดังกล่าวด้วย หากเป็นไปตามที่กำหนด เขื่อนไฟฟ้าน้ำเทิน 2 จะส่งจ่ายไฟฟ้ากับประเทศไทยได้ในปี 2552 โดยไทยจะต้องดำเนินการเรื่องการส่งไฟเข้ามายังประเทศไทยเอง โดยคณะรัฐมนตรีไทยได้อนุมัติงบประมาณ 7,410 ล้านบาท สำหรับสร้างสายส่ง 500 เควี เพื่อรับไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำเทิน 2 เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2547

ความร่วมมือ (ด้านพลังงาน)

โครงการน้ำเทิน 2 เป็นโครงการหนึ่งในหลายโครงการความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ซึ่งไทยตกลงกับจีน, มาเลเซีย, พม่า และลาว

เฉพาะประเทศลาวนั้น ไทยมีโครงการความร่วมมือด้านพลังงานอยู่ทั้งสิ้น 8 โครงการ ได้แก่ โครงการที่ยังไม่มีการลงนามทำสัญญาซื้อขายไฟ 5 โครงการคือ โครงการน้ำงึม 2 โครงการน้ำงึม 3 โครงการลิกไนต์หงสา โครงการเซเปียน - เซน้ำน้อย และโครงการเซคามาน 1

ส่วนโครงการที่มีการลงนามซื้อขายไฟเรียบร้อยแล้วจำนวน 3 โครงการได้แก่โครงการน้ำเทิน-หินบูน, โครงการห้วยเฮาะ และโครงการน้ำเทิน 2

โครงการน้ำเทิน 2 เริ่มทำการศึกษาความเป็นไปได้ตั้งแต่ปี 1991 โดยธนาคารโลกและ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เป็นผู้ให้การสนับสนุน

ภายหลังศึกษาความเป็นไปได้แล้วเสร็จ กลุ่มบริษัทเพื่อการผลิตไฟฟ้าน้ำเทิน 2 (NTEC) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) และ Agence Francaise de Developement (AFD) ก็เข้ามารับผิดชอบด้านการพัฒนาและออกแบบโครงการ ในปี 1994

จากนั้น โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำเทิน 2 ถูกโอนมาเป็นความรับผิดชอบของบริษัทน้ำเทิน 2 (NTPC) ในวันที่ 1 มกราคม 2004

บริษัทน้ำเทิน 2 ตั้งขึ้นโดยการถือหุ้นร่วมกันขององค์กรธุรกิจพลังงาน 3 ชาติ ได้แก่ บริษัทผลิตไฟฟ้าแห่งประเทศฝรั่งเศส ถือหุ้น 35%, รัฐวิสาหกิจไฟฟ้า ส.ป.ป. ลาว ถือหุ้น 25%, บริษัทผลิตไฟฟ้า (มหาชน) จำกัด หรือ EGCO ถือหุ้น 25% และบริษัทอิตาเลียน ไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 15%

การคัดค้าน
แม้โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำเทิน 2 จะถูกคาดหวังจากรัฐบาลลาวว่าจะเป็นโครงการแรกที่สร้างรายได้ให้กับรัฐบาล และจะช่วยกู้ศักดิ์ศรีของเป็นประเทศให้สามารถใช้งบประมาณพัฒนาประเทศจากรายได้ของตนเอง ไม่ใช่ต้องอาศัยงบประมาณจากความช่วยเหลือขององค์กรระหว่างประเทศอย่างที่ผ่านมา

แต่โครงการน้ำเทิน 2 ก็ถูกคัดค้านอย่างหนักจากองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในระดับนานาชาติและในประเทศไทยเองซึ่งจะเป็นผู้ซื้อไฟฟ้าจากโครงการนี้ ด้วยเหตุผลว่า โครงการนี้ จะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ทำลายสภาพแวดล้อมของผืนป่าที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ประชากรบนที่ราบสูงนากายต้องอพยพที่อยู่อาศัยประมาณ 4,000 คน

และผลจากการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ลงสู่แม่น้ำอีกสายที่เรียกว่า "เซบั้งไฟ" จะส่งผลต่อระดับความรุนแรงของสายน้ำ และการหลากท่วมพื้นที่โดยรอบ ซึ่งธนาคารโลกก็ยอมรับว่าจะมีประชากรได้รับผลกระทบราว 70,000 คน

ผืนป่านากายน้ำเทิน ได้ชื่อว่าเป็นผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพสูง และมีการค้นพบสัตว์ป่าเฉพาะถิ่นหลายพันธุ์ เช่น เป็ดก่า ตัวซาวหล้า รวมถึงช้างป่าจำนวนเฉียด 1,000 ตัว ประเด็นเรื่องการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพของผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นประเด็นแรกที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้เพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าว

การตอบโต้จากเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกระทรวงการเงินของประเทศลาวคือ ประเทศลาวไม่ได้มีทางเลือกในการพัฒนามากเท่ากับประเทศไทย

และดูจะไม่เป็นธรรมนักหากเอ็นจีโอของไทยจะเรียกร้องให้ลาวต้องรักษาผืนป่าเพื่อโลก ในขณะที่ลาวยังขาดดุลการค้าประเทศไทยเป็นจำนวนมหาศาล

สมบูน มะโนลม ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและหัตถกรรมแห่ง สปป.ลาว กล่าวกับ ประชาไท ว่าลาวควรจะมีรายได้จากประเทศไทยบ้าง เพระปัจจุบันนี้ สินค้าในประเทศลาวส่วนใหญ่ก็มาจากไทยถึง 60-70 เปอร์เซ็นต์แล้ว

อย่างไรก็ตามประเด็นเรื่องรายได้ของ สปป. ลาวก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นความไม่คุ้มทุนทั้งไทยและลาว โดยกลุ่มเอ็นจีโอด้านพลังงานในประเทศไทยระบุว่า ค่าไฟที่รัฐบาลลาวจะขายไฟฟ้าให้กับไทยนั้น เป็นราคาที่ถูกเกินไปสำหรับลาว แต่ก็เป็นราคาที่สูงเกินไปสำหรับไทย
http://www.prachathai.com/news/show.php?Category=nm&No=3423
http://www.prachathai.com/news/show.php?Category=nm&No=3421

ธนาคารโลกกับโครงการน้ำเทิน 2

ในปี 2547 กระแสข่าวและการัดค้านโครงการน้ำเทิน 2 ถูกปลุกขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ธนาคารโลกเปิดเวทีประชาคมใน 4 ประเทศ คือไทย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และลาว ข้อมูลจากเวทีประชาคมจะเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจของธนาคารโลกว่าจะค้ำประกันโครงการดังกล่าวหรือไม่

ดูเหมือนว่า ธนาคารโลกจะมีน้ำหนักมากสำหรับการดำเนินการต่อไปของโครงการนี้ เพราะการค้ำประกันธนาคารโลกจะเป็นหลักประกันให้กับแหล่งเงินกู้ หากโครงการดังกล่าวไม่สามารถชำระหนี้ได้

ทางการลาวเชื่อมั่นว่าจะธนาคารโลกจะไม่ปฏิเสธhttp://www.prachathai.com/news/show.php?Category=nm&No=475

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายคัดค้านโครงการน้ำเทิน 2 ได้พยายามเตือนความทรงจำของธนาคารโลกโดยหยิบยกเอาตัวอย่างการตัดสินใจที่ผิดพลาดของธนาคารโลกในอดีต เช่นกรณีการให้เงินสนับสนุนโครงการเขื่อนปากมูล ที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมของประชาชนไทยเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา พร้อมระบุว่าการตัดสินใจของธนาคาร โลกครั้งนี้ จะเป็นการกลับมาทำลายสภาพแวดล้อมของโลกครั้งใหญ่อีกครั้งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาของธนาคาร โลก

แต่ไม่ว่าจะมีการคัดค้านอย่างไรก็ตาม ธนาคารโลก และ ADB ก็ได้ตกลงใจค้ำประกันเงินกู้ให้กับโครงการมูลค่า 1.2 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐเป็นที่เรียบร้อยในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

การตกลงใจของธนาคารโลก ทำให้โครงการน้ำเทิน 2 มูลค่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ได้รับเงินอุดหนุนและเงินกู้ถึง 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยได้จากธนาคาร COFACE ของฝรั่งเศส ธนาคาร EKN ของสวีเดน ในรูปของเอ็กซ์ปอร์ตเครดิต และได้รับเงินกู้โดยตรงทั้งในรูปทวิภาคีและพหุพาคีจากเอดีบี, ธ.นอร์ดิกอินเวสต์เม้นต์, องค์การเพื่อการพัฒนาฝรั่งเศส (Agence Francaise de Developpement-AFD), บริษัท PROPACO ในเครือของ AFD, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของไทย (Export-Import Bank of Thailand), และธนาคารระหว่างประเทศอีก 9 แห่ง

นอกจากนี้ บริษัทน้ำเทิน 2 ก็ยังได้เงินกู้จากธนาคารไทยอีก 7 แห่งได้แก่ ธ.กรุงเทพฯ ธ.ศรีอยุธยา ธ.กสิกรไทย ธ.กรุงไทย ธ.ไทยพาณิชย์ ธ.ทหารไทย และ ธ.นครหลวงไทย

นั่นหมายถึงโครงการไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเทิน 2 จะดำเนินการไปได้อย่างมั่นคง และคาดว่าการก่อสร้างเขื่อนน้ำเทิน 2 จะเริ่มดำเนินการในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

พิณผกา งามสม/บัณฑิต เอื้อวัฒนานุกูล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net