มะละกอจีเอ็มโอ กับการทดสอบความปลอดภัย "แบบลวกๆ"

หากยังพอจำกันได้ "จีเอ็มโอ" หรือ เทคโนโลยีการดัดแปลงพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms) เปิดตัวให้สาธารณชนได้รู้จักกันอย่างครึกโครมเมื่อปลายปีที่แล้ว ในกรณีของ "มะละกอจีเอ็มโอ" ที่หลุดรอดออกไปจากแปลงทดลองของราชการสู่สวนของเกษตรกรในจังหวัดขอนแก่น ขณะนี้เรื่องนี้กำลังอยู่ระหว่างการสืบสวนข้อเท็จจริงกันอยู่ว่า "ลม" (ธรรมชาติ) หรือ "คน" พาไป ด้วยความตั้งใจหรือไม่ เพราะประเทศไทยยังไม่อนุญาตให้ทดลองในไร่นา หรือปลูกขายเชิงพาณิชย์

ความสำคัญของปัญหาการหลุดรอดของพืชจีเอ็มโอนั้น นอกเหนือจากกฎหมายจะไม่อนุญาตแล้ว ยังมีความกังวลว่าพืชจีเอ็มโอจะแพร่ขยายไปกลืนพันธุ์พื้นเมือง และสร้างความเสียหายให้กับความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศในเขตร้อนอย่างประเทศไทย

ส่วนเรื่องที่ใกล้ตัวที่สุดคือ เรื่องความปลอดภัยต่อมนุษย์ พืชซึ่งผ่านเทคโนโลยีการตัดแต่งยีนนี้ก็ยังมี "ความคลุมเครือ" อยู่มากว่าตกลงถั่วเหลืองทนยาฆ่าหญ้า ข้าวทนแล้ง มะเขือเทศเหี่ยวช้า เหล่านี้เมื่อบริโภคเข้าไปแล้วจะมีผลต่อสุขภาพใน "ระยะยาว" อย่างไร

ประเด็นนี้ แม้ในแวดวงวิทยาศาสตร์ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้
ความไม่ชัดเจนนี้เหล่านี้สะท้อนมาถึง "กระบวนการตรวจสอบความปลอดภัย" ของสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมด้วย โดยเมื่อวันที่ 6 พ.ค.ที่ผ่านมาสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ในฐานะที่เป็นตัวตั้งตัวตีคัดค้านการอนุญาตให้ปลูกพืชจีเอ็มโอ และเรียกร้องให้มีเรื่องการติดฉลากผลิตภัณฑ์ที่มีจีเอ็มโอ ได้จัดเสวนาว่าด้วย ผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นจากมะละกอตัดแต่งพันธุกรรม

โดยเชิญนักวิจัยจากองค์กรผู้บริโภคสากล "ดร.ไมเคิล แฮนเซน" มาแจกแจง " ความหละหลวม" ในการตรวจสอบความปลอดภัยในประเทศสหรัฐเอง ทั้งที่ป็นจ้าวเทคโนโลยีนี้ และพยายามส่งออกมันไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

หน่วยงานหลักที่ตรวจสอบความปลอดภัยและควบคุมการปลูกพืชจีเอ็มโอในสหรัฐอเมริกามีหลายหน่วยงาน คือ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) สำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (EPA) และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA)

ดร.แฮนเซน ได้ชี้แจงช่องโหว่ในการดำเนินงานของหน่วยงานเหล่านี้ เริ่มต้นจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ โดยระบุว่าหน่วยงานนี้ไม่ได้พิจารณาเรื่องความปลอดภัยที่สำคัญสองเรื่อง คือความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ และยีนที่ต้านทานยาปฏิชีวนะเตตราซัยคลินและเจนตามัยซินซึ่งมีอยู่ในมะละกอจีเอ็มโอที่สหรัฐคิดค้นขึ้น

เกี่ยวกับความสามารถที่จะทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ ซึ่งเป็นประเด็นที่พูดถึงอย่างมากนั้น ในช่วงที่มะละกอจีเอ็มโอต้านทานโรคไวรัสใบด่างวงแหวนอยู่ระหว่างกระบวนการอนุมัติในสหรัฐฯ เมื่อกลางทศวรรษที่ 90 ไม่มีใครให้ความสนใจกับคำถามเรื่องนี้ แต่หลังจากนั้นมาองค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ทำข้อตกลงระดับโลกว่าด้วยวิธีการทดสอบอาหารจีเอ็มโอทั้งหมด

นักวิทยาศาสตร์ชาวดัทช์คนหนึ่งใช้วิธีการนี้ในการประเมินการก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้แล้วพบว่า โปรตีนหุ้ม (Coat Protein ) ของไวรัสใบด่างวงแหวนที่ยิงเข้าไปในมะละกอจีเอ็มโอเพื่อทำให้มันต้านทานต่อไวรัสใบด่างวงแหวนเองนั้น มีลำดับที่คล้ายคลึงกับสารที่ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ในมนุษย์ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้

นักวิทยาศาสตร์ท่านนั้นสรุปในท้ายที่สุดว่า จำต้องทำการทดสอบทางการแพทย์เพื่อดูการก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ต่อไป แน่นอน นั่นหมายถึงเรื่องนี้ยังต้องถกเถียงกันต่อไปอีกไม่รู้จบ ทั้งนี้ ในปัจจุบันการแพ้อาหารในเด็กมีอัตรา 8% และในผู้ใหญ่มีอัตรา 2% อาการแพ้อาหารมีตั้งแต่อาการทางร่างกายเพียงเล็กน้อยไปจนถึงรุนแรงชนิดตายแบบเฉียบพลัน และตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ปี 2539 ถั่วเหลืองที่ตัดต่อยีนจาก "บราซิลนัท" ได้ก่อให้เกิดอาการแพ้ในสัตว์ทดลอง และตามมาด้วยปี 2543 กับกรณีของข้าวโพดตัดต่อยีน "สตาร์ลิงก์"

ในขณะที่เรื่องยาปฏิชีวนะนั้น ตาม "แนวทางการประเมินความปลอดภัยทางอาหารสำหรับอาหารที่มาจากพืชจีเอ็มโอ" ของโคเด็กซ์ (Codex) ซึ่งเป็นหน่วยงานกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยอาหารระดับโลก ระบุว่า ยีนต้านทานยาปฏิชีวนะที่สร้างความต้านทานต่อยาปฏิชีวนะที่ใช้ทางการแพทย์ ไม่ควรปรากฏอยู่ในอาหาร (CAG/GL 45-2003, para 58)

แต่ในฮาวาย มะละกอต้านทานไวรัสใบด่างวงแหวนสองสายพันธุ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาสำหรับการทดลองระดับไร่นา มีบางส่วนหรือทั้งหมดของยีนต้านทานยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด อันได้แก่ คานามัยซิน เจนตามัยซิน และเตตราซัยคลิน

อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยแล้ว เราไม่รู้เลยว่ามะละกอจีเอ็มโอที่กำลังทดลองระดับไร่นามียีนต้านทานยาปฏิชีวินะตัวไหนอยู่ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรมีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะของดีเอ็นเอที่ยิงเข้าไปในมะละกอจีเอ็มโอให้สาธารณชนได้รับรู้

ในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐที่รับผิดชอบในการประเมินความเสี่ยงของพืชจีเอ็มโอโดยตรง ดร.แฮนเซน ก็ระบุว่า หน่วยงานนี้ทำการประเมินความเสี่ยงแบบไม่บังคับ และพิจารณาว่าการเปลี่ยนแปลงทางโภชนาการและสารพิษที่อาจเกิดขึ้นในมะละกอจีเอ็มโอ โดยใช้ขนาดของตัวอย่างน้อยมาก (น้อยกว่า 15 ตัวอย่างต่อการศึกษาครั้งหนึ่ง) ทำให้การวิเคราะห์ผลทางสถิติเป็นไปไม่ได้ และยังไม่สามารถตอบข้อถกเถียงที่ว่าวิตะมินซีในมะละกอจีเอ็มโอนั้นต่ำกว่ามะละกอปกติหรือไม่

นอกจากนี้จากเอกสารที่ผู้พัฒนามะละกอจีเอ็มโอยื่นให้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐนั้น ก็ระบุชัดว่า "สารประกอบเบนซิลไอโซไธโอไซยาเนท" (Benzyl Isothiocyanate/BITC) ซึ่งมีอยู่ในมะละกอดิบทั่วไปนั้น ในมะละกอจีเอ็มโอก็มีปริมาณสารนี้ไม่แตกต่างกัน โดยสารนี้หากรับประทานแล้วอาจทำให้แท้งบุตรได้

แต่กระนั้นก็ไม่มีรายละเอียดการวิจัยประกอบให้ผู้บริโภคได้เชื่อมั่นแต่อย่างใด โดยเฉพาะผู้บริโภคไทยที่รับประทานมะละกอดิบกันเป็นประจำในอาหารหลายอย่าง

ด้านกระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ ก็พิจารณาความปลอดภัยของพืชจีเอ็มโอเพียงดูว่าพืชตัดต่อยีนไม่มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นศัตรูพืช หรือทำให้เกิดศัตรูพืช แต่ไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยของมนุษย์แต่อย่างใด

ส่วนสำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมของสหรัฐ พิจารณาว่าการบริโภคโปรตีนหุ้ม (Coat Protein ) ของไวรัสใบด่างวงแหวนที่ใส่เข้าไปในมะละกอจีเอ็มโอเพื่อให้มะละกอมีความต้านทานไวรัสใบด่างวงแหวนนั้นมีความปลอดภัย และให้การรับรองผ่านทางวาจาเท่านั้น โดยให้เหตุผลที่สร้างความงุนงงต่อผู้ที่จับตาเรื่องนี้ว่า เนื่องจากมนุษย์รับประทานมะละกอที่ติดโรคไวรัสใบด่างวงแหนมาหลายปีแล้วยังไม่มีรายงานว่าเกิดผลเสียหาย การรับประทานโปรตีนหุ้มของไวรัสใบด่างวงแหวนจึงปลอดภัย

นี่คืองานวิจัยชี้ช่องโหว่ของหน่วยงานในสหรัฐฯ ซึ่งดร.แฮนเซนนำเสนอในวันนั้น
กรณีของประเทศไทย ที่ผ่านมารัฐบาลอนุญาตให้นักวิจัยไทยทำการทดลองเพียงในห้องแลบ และพื้นที่แปลงทดลองแบบปิด ทั้งมะละกอ ข้าว มะเขือเทศ สับปะรด พริก รวมถึงพืชที่ไม่ได้เป็นอาหาร เช่น กล้วยไม้ ฝ้าย โดยยึดถือตามร่างระเบียบ "แนวปฏิบัติเพื่อดูแลความปลอดภัยทางชีวภาพ" ซึ่งประกาศใช้มาเกือบ 10 ปีแล้ว เพื่อตรวจสอบผลกระทบทางลบที่อาจเกิดกับสุขภาพอนามัยของคนและสัตว์รวมทั้งสิ่งแวดล้อม

แนวปฏิบัติดังกล่าวร่างขึ้นโดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) และจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งยึดตามแนวทางที่เรียกว่า Substantial Equivalence (หลักความเทียบเท่าในสาระสำคัญ) เนื้อหาที่เป็นแก่นของแนวคิดนี้คือ

"ถ้าคุณสมบัติและองค์ประกอบที่เป็น สาระสำคัญ ของอาหารตัดต่อพันธุกรรมไม่แตกต่างจากอาหารชนิดเดียวกันที่ได้จากธรรมชาติ ให้ถือว่าอาหารนั้นมีความปลอดภัยเท่าเทียมกัน"

กล่าวคือ ตามหลักนี้จะพิจารณาดูลักษณะที่ปรากฏภายนอก และองค์ประกอบของสารอาหารต่างๆ ที่เป็น สาระสำคัญ ถ้าองค์ประกอบนั้นเทียบเท่ากัน และไม่มีสารพิษ หรือสารก่อภูมิแพ้ เกิดขึ้นใหม่ ก็แสดงว่าอาหารนั้นมีความปลอดภัยเทียบเท่าอาหารธรรมชาติ

แม้หลักการนี้จะเป็นแนวทางสากล แต่ก็ยังมีคำถามเกิดขึ้นตลอดมาว่า หลักการตรวจสอบในประเด็นที่มีความห่วงกังวลนั้นเพียงพอหรือไม่ในการรับรองความปลอดภัยหรือผลข้างเคียงอื่นๆ ที่นอกเหนือความสามารถของวิทยาศาสตร์ในยุคปัจจุบันจะรับรู้ เพราะไม่มีใครรับประกันได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับมนุษย์ในระยะยาว .... ?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท