เยือนลาว เข้าป่า ตามความคืบหน้า น้ำเทิน 2: การก่อสร้างยังไม่เริ่ม

เด็กๆ ที่บ้านท่าลั่ง
----------------------------

ที่บ้านท่าลั่ง...น้ำเทินที่เราเห็น แม้ในหน้าแล้งก็ยังเป็นแม่น้ำสายกว้าง สายน้ำยามบ่ายไหลอ้อยอิ่ง แนวตลิ่งสูงบอกระดับน้ำในฤดูน้ำหลาก

เมื่อเราไปถึง เด็กชาย 4-5 คนกำลังกระโดดโลดเล่นอยู่ในสายน้ำอย่างสนุกสนาน ขณะที่แม่หญิง 2-3 คน ขึ้นจากน้ำและเก็บสัมภาระกลับ คงเป็นผลจากพวกเรา...รถตู้ กับคนที่ไม่คุ้นหน้าอีก 5 คน คงไม่ทำให้ใครเล่นน้ำต่ออย่างสบายใจนัก...เว้นแต่เขาจะเป็นเด็ก

ถนนสิ้นสุดลง ฝั่งที่เรายืนกับฝั่งตรงข้าม ถูกเชื่อมต่อกันด้วยสะพานเหล็กแข็งแรงซึ่งสร้างขึ้นในสมัยอาณานิคมฝรั่งเศส

ถนนฝั่งตรงข้ามสามารถพาเราไปถึงเวียดนามได้ คนขับรถชาวลาวบอกกับเราว่า ถ้าเดินทางต่อไปข้างหน้าประมาณ 70 กิโลเมตร จะถึง "หลักซาว" ซึ่งหมายความว่า ถัดจากนั้นไปอีก 20 กิโลเมตรจะถึงเวียดนาม แต่หลักซาวก็อยู่ไกลเกินกว่าที่เราจะไปวันนี้

เดินย้อนกลับไปไม่ถึง 70 เมตร เกสต์เฮาส์หรือจะเรียกให้ถูกก็คือ ห้องพักให้เช่าเล็ก ๆ ทำจากแพงไม้ไผ่กับหลังคามุงจากวางตัวอยู่ริมฝั่งน้ำ สาวน้อยซึ่งทำหน้าที่ดูแลและขายของให้เกสต์เฮาส์ บอกว่าที่นี่มีเรือพาล่องน้ำเทินด้วย แต่วันนี้เรือไม่อยู่ เราถามราคาเกสต์เฮาส์ ได้ความว่า ค่าที่พักคืนละ 50 บาทเท่านั้น

อันที่จริงทีมข่าวพิเศษบวกกับนักข่าวเฉพาะกิจอย่างลูกตาลอยากจะลองพักที่นี่สักคืน แต่ "ลุงเถียร" คนนำทางของเราต้องข้ามฝั่งโขงกลับประเทศไทยคืนนี้ เราจึงไม่ได้ไปถึงหลักซาวและไม่ได้ค้าง "เกสต์เฮาส์"

เราตัดสินใจเดินทางกลับไปยังท่าแขก เพื่อส่งลุงเถียรข้ามกลับฝั่งไทย ขณะที่ยังไม่ได้ตัดสินใจเกี่ยวกับทีมเราเองว่าจะเอาอย่างไร

ที่บ้านท่าลั่ง เราพบการก่อสร้างสะพานข้ามน้ำเทินสายใหม่ ขณะที่ชาวบ้านที่นี่บอกว่าบ้านที่จะอพยพไปอยู่ใหม่อยู่ไม่ไกลนัก (ทุกคนชี้มือไปทางหลังหมู่บ้านซึ่งยังมีสภาพเป็นป่า)

เราสันนิษฐานว่า ที่บ้านท่าลั่งนี้อาจจะเป็นจุดหนึ่งที่สันเขื่อนจะตัดผ่าน

เซบั้งไฟ
แดดบ่ายทำให้เราผล็อยหลับกันไปหลังออกจากบ้านท่าลั่งไม่นาน ตื่นขึ้นมาอีกครั้งเมื่อถูกปลุกด้วยเสียงลุงเถียร "ถึงแล้ว ๆ เซบั้งไฟ" เรางัวเงียตื่นขึ้นมาพบสายน้ำที่มี่เกาะแก่งเล็ก ๆ

หากใครเคยไปเที่ยวสังขละบุรี จะรู้สึกคุ้นตากับสะพานไม้ที่ทอดข้ามเซบั้งไฟแห่งนี้ด้วยมีลักษณะคล้ายคลึงกัน นึกไม่ออกเหมือนกันว่า ในยามน้ำหลาก สะพานไม้ที่ดูบอบบางนี้จะยังทรงตัวอยู่ได้อย่างไร

จุดที่รถจอดคือบ้านเซบั้งไฟ ขณะที่เราไปถึงชาวบ้านเพิ่งเลิกจากพิธีศพ ที่ศาลาวัด ผู้ชายประมาณ 20 คนนั่งประชุมกัน ขณะที่ศาลานอกกำแพงวัด ผู้หญิงจับกลุ่มช่วยกันตำส้มตำพร้อมกับกินไปพลาง บรรยากาศหลังงานศพที่นี่ ทำเอานักข่าวของเราเข้าใจผิดคิดว่าศาลาแห่งนี้เป็นร้านขายส้มตำ

สถาปัตยกรรมและลักษณะของพระประธานที่นี่ ดูไม่เหมือนศิลปะของลาว แต่ออกไปทางพม่ามากกว่า สอบถามประวัติได้ความว่า แถบนี้เคยมีคนไทยอาศัยอยู่ แต่ดูจากศาลาวัด และพระพุทธรูปแล้ว เราคาดว่าน่าจะหมายถึงไทยใหญ่

เซบั้งไฟ มีความเกี่ยวพันกับโครงการน้ำเทิน 2 ในฐานะที่จะเป็นที่รองรับน้ำจากโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 โดยน้ำที่ผ่านกระบวนการผลิตฟ้าแล้วจะถูกผันลงสู่แม่น้ำสายนี้ด้วยอัตราความเร็ว 220 ลูกบาตรเมตรต่อวินาที ซึ่งผู้ศึกษาโครงการระบุว่าเป็นอัตราความเร็วของการไหลของน้ำตามปกติ แต่ผลจากการการปล่อยน้ำ จะเปลี่ยนแปลงระดับน้ำ คุณภาพของน้ำ การพังทลายของตลิ่ง การเดินเรือ และการทำประมง

สองฟากของสายน้ำแห่งนี้ มีหมู่บ้านอยู่ไม่ต่ำกว่า 28 แห่ง ซึ่งธนาคารโลกคาดว่าประชากรที่จะได้รับผลกระทบจากน้ำที่หลากท่วมจากการผันน้ำจากโครงการน้ำเทิน 2 ประมาณไม่ต่ำกว่า 70,000 คน

ออกจากชุมชนเซบั้งไฟ เรามุ่งหน้ากลับไปยังแขวงคำม่วน เพื่อส่งลุงเถียรข้ามกลับฝั่งไทย

การก่อสร้างยังไม่เริ่ม
การข้ามมาฝั่งลาวอย่างไม่เป็นทางการครั้งนี้ ทำให้เราได้ข้อมูลว่า ความคืบหน้าของโครงการน้ำเทิน 2 ขณะนี้ คือ การขุดเจาะอุโมงค์บริเวณพื้นที่ราบยมมะลาด ได้ระยะทาง 100 เมตร จากที่ต้องขุดเจาะทั้งสิ้น 4.25 กิโลเมตร ส่วนการก่อสร้างตัวเขื่อนนั้นยังไม่เริ่มต้น

ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการสร้างเขื่อน ดูเหมือนว่าคนลาวที่มีความสนใจใคร่รู้ในตัวโครงการนี้ พอจะรู้ข้อมูลอยู่บ้าง...ความข้อนี้ อาจจะต่างกับโครงการในบ้านเราเอง

พิณผกา งามสม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท