Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 19 พ.ค. 48 ปิยสวัสดิ์ อมระนันท์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เสนอมาตรการประหยัดพลังงาน 3 แนวทาง พร้อมวิพากษ์ โครงการพลังงานทดแทนของรัฐส่วนใหญ่ไม่คุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์

"ประหยัดคือคำตอบของสังคมที่ต้องมาก่อน" นายปิยสวัสดิ์ กล่าวและอธิบายว่า การประหยัดพลังงานต้องดูภาพรวมการใช้พลังงานของประเทศ ซึ่งการที่รัฐบาลมุ่งไปที่พลังงานทดแทนนั้น อาจจะไม่ใช่คำตอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลังงานทดแทนแต่ละชนิดที่รัฐเลือกจะใช้นั้น ยังไม่มีการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์อย่างแท้จริงเลย ยกเว้น กรณีของแก๊สเอ็นจีวีเท่านั้น

ทั้งนี้ นายปิยสวัสดิ์ ได้เสนอแนวทางประหยัดพลังงาน 3 แนวทางคือ การปล่อยลอยตัวคาน้ำมัน โดยนายปิยสวัสดิ์กล่าวว่า การลอยตัวค่าน้ำมันเป็นแรงจูงใจที่ดีที่สุดให้ประชาชนประหยัดน้ำมัน เพราะจากสถิติการลอยตัวค่าน้ำมันดีเซลในเดือนมีนาคมที่ผ่านมานั้น พบว่าประชาชนลดการใช้น้ำมันทันที อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ารัฐบาลนี้จะกลัวภาวะเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันลอยตัวจนเกินไป

นายปิยสวัสดิ์ เสนอว่า รัฐบาลควรปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลขึ้นอีกลิตรละ 2 บาท และหลังจากนั้นควรปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลให้เป็นไปตามราคาตลาดโลก เพื่อสะท้อนราคาที่แท้จริง และทำให้นักธุรกิจสามารถวางแผนการลงทุนได้ชัดเจนขึ้น ไม่ต้องรอการตัดสินใจเรื่องราคาน้ำมันจากรัฐบาล

โดยนายปิยสวัสดิ์ เชื่อว่า การลอยตัวราคาน้ำมันจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในระยะสั้น ซึ่งรัฐบาลสามารถจัดการได้

มาตรการพลังงานประการต่อมา นายปิยสวัสดิ์ เสนอเรื่องพลังงานทดแทนต้องดูเรื่องความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่แท้จริง

"การเลือกใช้พลังงาน ควรดูที่ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์หมายถึงเศรษฐศาสตร์ที่แท้จริง ไม่ใช่แค่มูลค่าทางการเงินเท่านั้น แต่รวมถึงมูลค่าทางสิ่งแวดล้อม มูลค่าทางสังคมด้วย อย่างไบโอดีเซล ถ้าทำจากน้ำมันพืชใช้แล้ว ผมก็เห็นด้วย และต้องไม่ลืมภาพรวมทั้งหมด"

ทั้งนี้ นายปิยสวัสดิ์ไม่ยกตัวอย่างพลังงานทดแทนที่มุคุ้มค่า แต่กล่าวว่า ในบรรดาพลังงานทดแทนทั้งหมดที่รัฐจะปรับไปใช้นั้น มีเพียงก๊าซเอ็นจีวีตัวเดียวเท่านั้น ที่มีการศึกษาและพบว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์

นอกจากนี้ นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า รัฐไม่ควรส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน เพราะเป็นการผลิตไฟฟ้ารายย่อย

มาตรการสุดท้ายที่นายปิยสวัสดิ์เสนอก็คือ ควรทบทวนยุทธศาสตร์เชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า เพื่อกระจายการพึ่งพิงพลังงาน โดยนายปิยสวัสด์กล่าวว่า เห็นด้วยกับการหาแหล่งพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ก็ต้องระวังในเรื่องของความล่าช้า เช่นกรณีของเขื่อนน้ำเทิน 2 ที่ไทยทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับลาวแต่ก็ต้องใช้เวลาถึง11 โครงการจึงจะดำเนินการได้จริง แม้ว่าขณะนี้ ไทยกำลังจะทำ MOU เรื่องเขื่อนสาละวินกับพม่า ก็ต้องระวังเรื่องความล่าช้าโดยดูกรณีตัวอย่างจากโครงการน้ำเทิน 2 ด้วย

นอกจากนี้ รัฐอาจต้องหันมาพิจารณาทางเลือกที่เคยไม่ให้ความสำคัญเช่น ถ่านหิน ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีทำให้ถ่านหินเป็นพลังงานสะอาดขึ้น สร้างมลภาวะน้อยลง หรือแม้กระทั่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งก็ควรนำมาศึกษาด้วย เพราะมีต้นทุนไม่แพง สามารถใช้แทนในช่วงที่น้ำมันราคาขึ้นได้

พิณผกา งามสม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net