Skip to main content
sharethis

กรุงเทพฯ-19 พ.ค.48 รายงานข่าวจากสมัชชาคนจนระบุว่า เวลาประมาณ 10.00 น. ตัวแทนชาวบ้านเครือข่ายสมัชชาคนจนประมาณ 150 คน ได้เดินเท้าออกจากที่ชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภา มายังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เจรจากับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนสิรินธร จ.อุบลฯ เขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา จ.ศรีสะเกษ และปัญหาของโครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินการก่อสร้าง คือ เขื่อนโป่งขุนเพชร จ.ชัยภูมิ, เขื่อนลำโดมใหญ่ จ.อุบลราชธานี, เขื่อนคลองกราย จ.นครศรีธรรมราช, เขื่อนแม่ขาน จ.เชียงใหม่, โครงการผันน้ำข้ามลุ่ม จ.เชียงใหม่ และเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร

เมื่อชาวบ้านเดินทางมาถึงบริเวณหน้ากระทรวงฯก็พบกับกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยปราบจราจลประมาณ 40 คนรอรับอยู่ จากนั้นเจ้าหน้าที่ของกระทรวงฯได้ออกมาเจรจาให้ชาวบ้านส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม โดยบอกว่ารัฐมนตรีฯ กำลังเดินทางมาร่วมประชุมด้วย ชาวบ้านจึงตกลงส่งตัวแทนเข้าเจรจาจากแต่ละกลุ่มปัญหารวมทั้งสิ้น 50 คน

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่า การประชุมได้เริ่มขึ้นโดยไม่มีรัฐมนตรีฯเป็นประธาน คงมีแต่นายละเอียด สายน้ำเขียว รองอธิบดีกรมชลประทาน, นายพูนประโยชน์ ชัยเกียรติ ผู้อำนวยการกองกฎหมายที่ดิน กรมชลประทาน, นายมนตรี อ่อนวิมล หัวหน้าสำนักงานชลประทานเขต 8 จ. นครราชสีมา เจ้าหน้าที่ของสปก.ที่ดูแลเรื่องเขื่อนสิรินธร และเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่ เข้าร่วมประชุมกับชาวบ้าน

"คนที่มาคุยกับเราเป็นแค่รองอธิบดี เขาก็รับปากทุกเรื่อง แต่ก็ไม่มีหลักประกันอะไรที่จะบอกว่าเขาจะปฏิบัติตาม ซึ่งปัญหาที่ผ่านมาก็คือมันไม่มีการปฏิบัตินั่นแหละ มันต้องเป็นคำสั่งของคนที่มีอำนาจจริงๆ ไม่ใช่แค่มานั่งคุยแบบนี้ นี่มันแค่การเจรจาเพื่อให้เรากลับบ้าน" นายสุจินต์ กตะศิลา ตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนหัวนา กล่าวภายหลังการหารือ

นางผา กองธรรม ตัวแทนชาวบ้านกล่าวว่า กรณีปัญหาราษีไศล ที่ชาวบ้านเสนอว่าให้จัดการเรื่องค่าชดเชย และผลกระทบให้เรียบร้อยก่อนปิดประตูน้ำ แต่ฝ่ายราชการกลับพูดง่ายๆ ว่า ส่วนที่เก็บน้ำก็เก็บไป ส่วนที่แก้ปัญหาก็แก้ไป ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าแม้กระทั่งมาฟังปัญหาชาวบ้าน ก็ยังฟังไม่เข้าใจเลย

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนชาวบ้านที่มาชุมนุมกันอยู่หน้ากระทรวงฯ มีมติร่วมกันที่จะไม่เจรจาต่อในช่วงบ่าย จนกว่ารัฐมนตรีฯ จะมาเป็นประธานในการประชุมด้วยตัวเอง

ที่หน้ารัฐสภา ตัวแทนสมัชชาคนจนได้ออกแถลงการณ์ประณาม "กระทรวงพลังงานไร้น้ำยา ไม่กล้าสั่งกฟผ.เปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูน" โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งในแถลงการณ์อ้างถึงมติครม.ให้เปิดเขื่อนปากมูนในวันที่ 1 พฤษภาคม จนถึงสิงหาคม เป็นเวลา 4 เดือน

แต่กระทั่งบัดนี้กฟผ.ยังไม่ได้ดำเนินการเปิดประตูน้ำ ทั้งที่เป็นฤดูกาลปลาจำนวนมากจากแม่น้ำโขงขึ้นวางไข่ในแม่น้ำมูน โดยกฟผ.อ้างว่า ต้องทำตามข้อเสนอของจังหวัดอุบลฯ ที่ให้ชะลอการเปิดประตูน้ำเนื่องจากเกิดปัญหาภัยแล้ง ทั้งที่ที่ประชุมของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในจ.อุบลฯในวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบให้กฟผ.ดำเนินการเปิดประตูน้ำทันที เพราะขณะนี้ปัญหาภัยแล้งในจ.อุบลได้หมดไปแล้ว

"ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่เคยมีความจริงใจในการแก้ปัญหามาโดยตลอด ปล่อยให้กฟผ.ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอิทธิพลมหาศาลในประเทศไทย เป็นมาเฟียตัวใหญ่ที่คอยย่ำยีรังแกชาวบ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้รับใช้อย่างซื่อสัตย์ เราจึงอาจกล่าวได้ว่า สำหรับในประเทศไทยแล้ว ขณะนี้กฟผ.เป็นพ่อนายกฯอย่างแท้จริง" เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net