พบสินค้าซื้อจากเน็ตเสียหาย 1ใน 5

ประชาไท-19 พ.ค. 48 นักวิชาการจุฬา ชี้ ซื้อของทางอินเตอร์เน็ต พบสินค้าเสียหาย 1 ใน 5 ระบุ กฎหมายไทยยังไม่ให้ความคุ้มครองเพียงพอ

การประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องปัญหาผู้บริโภค และมาตรการการคุ้มครองผู้บริโภคจากการซื้อขายผ่านระบบอินเตอร์เน็ต วันนี้(19 พ.ค.) ผศ.ดร. วิทยา กุลสมบูรณ์ หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวว่า จากการวิจัยพบว่าความน่าเชื่อถือของการสั่งซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ตยังมีน้อย และพระราชบัญญัติ (พรบ.) คุ้มครองผู้บริโภคไม่ครอบคลุม ขณะที่การสั่งซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ตขยายตัวเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ ผลการวิจัยพบว่าของที่สั่งซื้อจากอินเตอร์เน็ตมักจะเสียหายถึง 25 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ 50เปอร์เซ็นต์ไม่ระบุความสัมพันธ์ระหว่างสินค้า กับตัวเว็บไซต์ ทำให้ติดตามเพื่อเรียกร้องกรณีสินค้าเสียหายยาก อีกทั้งการให้ข้อมูลสินค้ามักเน้นการโฆษณา บางทีอาจใช้รูปสินค้าเก่า ซึ่งผู้บริโภคอาจสับสนและสั่งสินค้าผิด

นอกจากนี้การแสดงราคาสินค้าในหลายๆ ครั้งไม่มีการระบุราคารวม แต่จะขึ้นมาเมื่อมีการสั่งสินค้าไปแล้ว อีกทั้งไม่ระบุวิธีการยกเลิกการสั่งซื้อหรือคืนสินค้า สินค้าบางชิ้นไม่สามารถคืนได้ บางครั้งส่งสินค้าล่าช้า และหลายกรณีพบว่า หลังสั่งสินค้าจะมีเมล์ขยะมากเข้ามาในเมล์ส่วนตัว

ด้านผู้จำหน่ายสินค้าผ่านทางอินเตอร์เน็ต เมื่อมีการร้องเรียนปัญหาพบว่า มีเพียง 36 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่พยายามแก้ปัญหา ทำให้ยังมีผู้บริโภคไม่พอใจอีกถึง 40 เปอร์เซ็นต์ วิธีการแก้ปัญหาคือการไม่ซื้อสินค้าหรือไม่เข้าเว็บไซต์นั้นอีก หรือหากต้องการเรียกร้องก็มักดำเนินการด้วยตัวเอง

การคุ้มครองทางด้านกฎหมายในปัจจุบันนั้น นายไพศาล ลิ้มสถิตย์ ผู้วิจัยเรื่องกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่เกี่ยวกับธุรกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า กฎหมายบางฉบับถูกนำไปใช้แอบอ้างในการโฆษณาสินค้า เช่น ประกาศกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ 2546 ระบุให้ผู้ทำธุรกิจทางอินเตอร์เน็ตเข้ามาจดทะเบียนสินค้า ซึ่งเมื่อจดทะเบียนแล้ว ผู้ผลิตสินค้าจะใช้ใบรับรองดังกล่าวไปโฆษณาว่าสินค้าได้รับประกันจากกระทรวง
ส่วน กฎหมายอีกฉบับอย่าง พรบ.ธุรกรรมอิเล็กโทรนิกส์ ก็ยังไม่สามารถนำมาใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมเพราะเพิ่งออกมาเมื่อ พ.ศ. 2544 ยังไม่มีกฎหมายลูกออกมาบังคับใช้ ซึ่งควรมีการผลักดันในเรื่องดังกล่าวด้วย

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กรรมการผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การสั่งซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ตยังเป็นที่นิยมและกำลังขยายตัวมากขึ้น เป็นผลดีในแง่ธุรกิจโดยรวมที่น่าส่งเสริม ในส่วนผู้บริโภคก็พึงพอใจเนื่องจากประหยัดเวลา และสามารถรู้ข้อมูลสินค้าก่อนได้ ดังนั้นในส่วนกฎหมายควรต้องคุ้มครองเรื่องการสั่งซื้อ กับการคืนสินค้าด้วย

ส่วน ผศ.ดร. วิทยากล่าวสรุปทิ้งท้ายว่า ในภาพรวมของการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งรวมทั้งประเด็นการซื้อสินค้าทางอินเตอร์เน็ต ควรต้องผูกไปกับแนวทาง กฎหมายมาตราที่ 57 ด้วย

การวิจัยครั้งนี้เก็บข้อมูลจาก เว็บไซต์กระปุก เป็นระยะเวลา 2 เดือน จากกลุ่มตัวอย่าง 189 คน ซึ่งผู้วิจัยยอมรับว่ายังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มตัวอย่าง เพราะลักษณะเว็บไซต์เป็นแนววัยรุ่น ข้อมูลจึงอาจคลาดเคลื่อนไปทางวัยรุ่นได้

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท