Skip to main content
sharethis

"ตอนถูกคลื่นซึนามิ พวกป้าหนีไปอยู่บนเขา ไปพึ่งพาอยู่กับญาติพี่น้อง อยู่ได้สักพัก มีคนมาอ้างว่าเราบุกรุกที่ ป้าก็เลยลงจากเขา มาอยู่ที่เดิม จะไม่ไปไหน จะอยู่ไปจนตาย เหมือนกับที่พ่อแม่ของเราตายที่นี่ ฝังอยู่ที่นี่" ป้าลาภ หาญทะเล ชาวมอแกนหาดแหลมป้อม บ้านน้ำเค็ม เอ่ยออกมาด้วยสีหน้าไม่สู้ดี

เมื่อไม่นานมานี้ ทางชุมชนคนรักป่า ได้มีโอกาสลงไปเยือนชุมชนชาวเล ในเขต อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา เพื่อไปเรียนรู้ศึกษาชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์ซึนามิ ซึ่งนอกจากจะพบกับความสูญ เสียในชีวิตและทรัพย์สินจนล่มสลายไปเกือบหมดสิ้นแล้ว

ทว่าผู้คนซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมที่หลายคนรู้จักกันดีในนาม มอแกน กลับต้องเจอกับคลื่นปัญหาลูกใหม่ ที่เข้าถาโถมวิถีชุมชนที่นี่จนได้รับความเดือดร้อนกันไปทั่ว

หากใครได้ไปเยือนชุมชนชาวเล ในเขต อ.ตะกั่วป่าในขณะนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่บ้านน้ำเค็ม และบ้านทับตะวัน จะพบว่า มีป้ายประกาศ" ห้ามบุกรุก หรือปลูกสิ่งก่อสร้างใดๆ ทั้งสิ้น โดยมีการอ้างว่า ที่ดินแปลงนี้มีเอกสารสิทธิ์ เป็นสิทธิครอบครองตามเอกสารสิทธ์ น.ส.3 ก." ติดอยู่ทั่วไป

นั่นเป็นป้ายประกาศห้ามบุกรุกที่ดิน ของกลุ่มนายทุนที่เข้ามาอ้างว่ามีการครอบครองที่ดินได้มาโดยชอบธรรม ในขณะที่ชาวบ้านต่างออกมายืนยันกันว่า ที่ดินผืนดังกล่าวเป็นที่อยู่อาศัยของพวกเขามาหลายร้อยปีมาแล้ว และต่อมา นายทุนได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ แจ้งข้อหากับชาวบ้านว่า เป็นผู้บุกรุกที่ดิน จนกลายเป็นปัญหาเป็นคดีความและยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลอยู่ในขณะนี้

จำนง จิตรนิรัตน์ จากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เปิดเผยว่า ความจริงแล้ว ก่อนที่คลื่นซึนามิจะมา ก็มีปัญหาเรื่องที่ดินมาก่อนอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครรู้มาก่อน พอหลังการสูญเสียเพียง 2-3 วัน ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่ง มาแสดงตัวเป็นเจ้าของที่ดิน ทั้งที่ที่ดินตรงนั้น เคยเป็นหมู่บ้านมาเป็นร้อยๆ ปี จึงทำให้เรื่องนี้ถูกเปิดเผยขึ้นมาชัดเจนขึ้น

"ผู้ที่มาแสดงตัวเป็นเจ้าของที่ดินนั้น ส่วนใหญ่จะมีเอกสารสิทธิ เป็น น.ส.3 ก. เคยเป็นผู้สัมปทานบัตรทำเหมืองแร่ หรือไม่ก็เป็นผู้ที่รับช่วงซื้อที่ดินที่เคยสัมปทานสืบทอดกันมา ซึ่งผู้แสดงตัวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ มีทั้งเอกชนและรัฐ มีการแสดงตัวในหลายพื้นที่ ทั้ง 6 จังหวัด คือ ตั้งแต่ระนอง พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล" จำนง กล่าว

จำนง ยังกล่าวถึงที่มาของปัญหาการจัดการที่ดินในเขตชายฝั่งทะเลอันดามันว่า เมื่อ 30 ปีก่อน พื้นที่ดังกล่าว มีการสัมปทานบัตรเหมืองแร่ โดยมีการทำเหมืองแร่ทางทะเล ต่อมาเมื่อแร่ในทะเลหมด กลุ่มนายทุนได้ขึ้นมาทำการสัมปทานเหมืองแร่บนชายฝั่ง โดยมีชาวบ้านซึ่งเป็นชุมชนมุสลิม และชาวมอแกน อาศัยอยู่ใกล้ๆ แถวนั้น โดยทุกคนไม่รู้ว่า การสัมปทานขุดเหมืองแร่ของนายทุน จะกลายเป็นปัญหาที่เรื้อรังและยาวนาน

พอสัมปทานเหมืองแร่สิ้นสุด พวกเขาก็มีการขอออกเอกสารสิทธิ์ทันที แต่ไม่ได้ออกเพียงแค่พื้นที่สัมปทานเท่านั้น แต่กลับครอบพื้นที่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านในแถบนั้นด้วย นอกจากนั้น มีชาวบ้านบางครอบครัวได้ไปเคยขอเอกสารสิทธิ์เป็นแปลงเล็กแปลงน้อยกันมาก่อน แต่สุดท้ายก็พบว่า ถูกนายทุนทำการออกเอกสารสิทธิทับพื้นที่ทั้งหมด

"เป็นที่รับรู้กันว่า มีโฉนดแปลงเล็กแปลงน้อยของชาวบ้าน ถูกซุกอยู่ในแปลงใหญ่ของนายทุน ซึ่งปัญหาเช่นนี้ จะเกิดไปทั่วทั้งแถบอันดามัน" จำนง ระบุ

ทั้งที่กฎหมายสัมปทานบัตรเหมืองแร่ ระบุชัดว่า เมื่อหมดหรือสิ้นสุดการสัมปทานบัตรเหมืองแร่แล้ว จะต้องคืนพื้นที่ดังกล่าว แต่กลับมีการออกเอกสารสิทธิให้แก่นายทุนผู้สัมปทานได้ จนทำคนทั่วไป เริ่มตั้งคำถามกันมากขึ้นว่า30 ปีที่ผ่านมา ควรจะต้องมีการตรวจสอบว่า เอกสารสิทธิ์นั้นได้ออกโดยชอบหรือไม่!?

ในพื้นที่ของบ้านน้ำเค็ม ถือว่าเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ได้รับความสูญเสียจากคลื่นซึนามิมากที่สุด ประมาณ 2,000 หลัง และยังมีปัญหาเรื่องที่ดิน ตรงบริเวณหาดแหลมป้อม อีกประมาณ 52 ครอบครัว ที่มีปัญหากับนายทุนที่ดินมาอย่างต่อเนื่อง

"ชุมชนแหลมป้อม จึงไม่มีหน่วยงานรัฐใดๆ เข้ามาช่วยเหลือ มีแต่องค์กรพัฒนาเอกชนเท่านั้น และกว่าจะสร้างบ้านเองได้ ต้องทะเลาะกับนายทุน มาเฟีย บางครั้งเอาตำรวจมาจับบ้าง แต่ต้องปล่อยตัว เพราะหลักฐานเขาไม่พร้อม แต่ก็พยายามเอาเอกสารสิทธิ์มาอ้างว่าเป็นของเขา" ราตรี คงวัดใหม่ เอ่ยกับเรา

เหตุการณ์ความขัดแย้งเริ่มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ตั้งแต่ปี 2545 เมื่อนายทุนเข้ามาสร้างบังกะโลในพื้นที่แหลมป้อม พอถึง ปี 2546 ชาวบ้านทั้งหมด 52 ครัวเรือน ถูกนายทุนฟ้องขับไล่ออกจากพื้นที่ และตั้งข้อหาชาวบ้านบุกรุกที่ดิน

"ชาวบ้านก็ลุกขึ้นสู้กับความไม่เป็นธรรม บางคน ศาลแพ่งยกฟ้องไปแล้ว แต่พวกนายทุนไม่ยอม ยังทำเรื่องอุทธรณ์ต่อ ขณะนี้เรื่องยังอยู่ในชั้นศาล ซึ่งชาวบ้านก็มีทางเดียวคือ เอาความจริงเข้าต่อสู้" ราตรี กล่าวด้วยน้ำเสียงเครียด จริงจัง

26 ธันวาคม 2547 เกิดโศกนาฏกรรมรุนแรงที่สุด เมื่อคลื่นซึนามิเข้าถาโถมบ้านเรือนอย่างบ้าคลั่ง กวาดชีวิตผู้คน บ้านเรือน ทุกสิ่งทุกอย่าง พังทลายหายไปเพียงชั่วพริบตา

หลังเหตุการณ์สงบ ชาวบ้านพยายามขอเข้าไปขุดคุ้นค้นหาซากศพของญาติพี่น้องที่สูญหายไป ทว่ากลุ่มนายทุน กลับไม่ยอมให้เข้าไป พร้อมกับบอกว่า ที่ดินผืนนั้นเป็นของบริษัทไม่ได้เป็นของชาวบ้าน

"ที่ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ในครั้งนี้ ก็เพื่อถามว่า ความเป็นธรรมอยู่ที่ไหน ลูกสาววัย 8 ขวบของตนถูกน้ำพัดหายไป พยายามขอเข้าไปค้นหา แต่พวกนายทุนก็ไม่ยอมให้เข้าไป จนครบ 1 เดือน จึงค้นหาศพลูกสาวตัวเองเจอ" ราตรี คงวัดใหม่ เอ่ยออกมาด้วยน้ำเสียงเครียดและเศร้า

2 มกราคม 2548 นายทุนเข้ามาทำการปักรั้วล้อมรอบ พร้อมกับติดป้ายห้ามเข้าบุกรุกทุกทิศทาง

เมื่อเหตุการณ์เริ่มขัดแย้งรุนแรงขึ้นทุกขณะ ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันขึ้น เพื่อช่วยกันปลูกสร้างบ้านขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคนภายนอกและองค์กรพัฒนาเอกชน

ราตรี ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลในการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินของนายทุนกลุ่มนี้ว่า การสัมปทานบัตรเหมืองแร่ในพื้นที่ดังกล่าว สัญญาการสัมปทานจะสิ้นสุดปี 2539 แต่กลับมีการออกเอกสารสิทธิ์ขึ้นมาเมื่อปี 2526 ซึ่งทำให้ชาวบ้านแปลกใจ ว่าทำกันได้อย่างไร

"และชาวบ้านรู้ดีว่า ที่ดินแปลงนี้ไม่เคยมีการทำรังวัด ไม่เคยเห็นหน้าเจ้าของที่ดินแปลงนี้เลย และทุกคนก็เชื่อมั่นกันว่า ที่ดินผืนนี้เป็นที่ดินของเรา เพราะพ่อแม่บอกกันว่าเป็นผู้เข้ามาทำการบุกเบิกตั้งแต่แรก เพราะฉะนั้น ความต้องการมากที่สุดในตอนนี้ คือ อยากมีที่ดินเป็นของตัวเอง" ราตรี กล่าว

"ชีวิตมอแกนนั้นมันลำบาก" แจ่ม กล้าทะเล แม่หญิงชาวมอแกน พูดออกมาพร้อมกับร้องไห้สะอื้น เมื่อถูกถามถึงเรื่องนายทุนเข้ามายึดที่ดินของตัวเอง

ทางด้าน หีด หาญทะเล ผู้เฒ่าชาวมอแกนบ้านทับตะวัน วัย 87 ปี บอกว่า ตนเองอยู่มาตั้งแต่เกิด พ่อแม่ก็ตายที่นี่ บ้านทับตะวันตั้งมา 200 กว่าปีเห็นจะได้ เถ้าแก่นายทุนเข้ามาจับจองทีหลัง แล้วพวกตนจะไปอยู่ที่ไหน

หมู่บ้านทับตะวัน ตั้งอยู่ใน ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งเป็นอีกชุมชนหนึ่งที่มีปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินระหว่างนายทุนกับชาวบ้าน ซึ่งมีการซื้อที่ดินกันมาเป็นทอดๆ บางครั้ง จู่ๆ ก็มีนายทุนเข้ามาแสดงตัวว่าเป็นเจ้าของ แต่พอชาวบ้านให้ชี้เขตพื้นที่ของตน ก็ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า พื้นที่ตรงไหนเป็นของตน

ทำให้ชาวบ้านไม่เชื่อว่าเป็นเจ้าของจริง และเกิดการเคลื่อนไหวต่อสู้กัน ตั้งแต่นั้นมา บ่อยครั้งที่ชาวบ้านถูกข่มขู่ว่าจะทำการฟ้อง แต่ชาวบ้านทับตะวันก็บอกว่าไม่กลัว เพราะพวกเขาถือว่ามีความชอบธรรม เพราะเสาบ้านก็ยังมีให้เห็นอยู่

"ถ้าพวกเขาจะมายึด เราจะขอยืนยันตามเดิม เพราะเรามีต้นมะม่วงหิมพานต์ มะพร้าว ต้นเมา ต้นไม้เยอะแยะ ที่พวกป้าปลูกกันมานาน" ลาภ หาญทะเล กล่าวย้ำและยืนยัน

นางยังบอกอีกว่า กลัวเหมือนกัน กลัวว่าเขาจะมายึดที่ดินไป จะไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ทำกิน แต่ก็จะสู้ ถ้าต้องขึ้นศาล ก็ต้องไป ถึงไม่มีเงิน ก็จะสู้ด้วยปาก ด้วยใจ ด้วยแรงที่มีอยู่

เมื่อไปเยือนที่บ้านในไร่ ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ซึ่งก็กำลังประสบกับปัญหาการจัดการที่ดินเช่นกัน

วินัย จันทรเลิศ ชาวบ้านในไร่ ที่ถูกตั้งข้อหาบุกรุกที่ดิน ร่วมกับเพื่อนบ้านจำนวน 20 คน กล่าวว่า รู้สึกท้อแท้กับชีวิต หลังจากซึนามิคลื่นลูกแรกเราโดนไปแล้ว หมดเนื้อหมดตัวไปแล้ว ตอนนี้พอจะสร้างบ้าน แต่ก็ยังไม่มีองค์กรไหนที่จะเข้ามาสร้างบ้านให้ได้ เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์การถือครองที่ดินไปยืนยันเพื่อขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ได้

"ที่เราอยู่บนผืนดินผืนนี้ ไม่ได้อยู่เพื่อต้องการเอาไปขาย แต่อยู่เพื่ออาศัย เพื่อเก็บเอาไว้ลูกหลานได้อยู่กินต่อไป ซึ่งผมรู้สึกรันทด ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหา ทั้งๆ ที่ในหมายเรียกนั้น ก็ไม่ได้ระบุว่า ผมบุกรุกที่ของใคร และบุกรุกในที่โฉนดแปลงไหน นั่นทำให้ผมรู้สึกว่า ผมถูกกลั่นแกล้ง ถูกบีบบังคับให้ต้องรับข้อกล่าวหา" วินัย กล่าวด้วยน้ำเสียงโอดครวญ

จำนง จิตรนิรัตน์ จากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวอีกว่า แนวทางหนึ่งในการจัดการแก้ปัญหาที่ดิน จำเป็นที่ต้องมีการพิสูจน์ด้วยหลักฐานพยานต่างๆ ที่มีอยู่ ไม่ว่า ต้นไม้ บ่อน้ำ หรือสุสาน (กุโบร์) ว่าชาวบ้านได้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นมายาวนานเป็นร้อยๆ ปี

"แต่ก็เริ่มไม่มั่นใจ หากจะมีเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้น เพราะเชื่อว่าจะต้องมีปัญหาตามมาอีกเยอะ เนื่องจากเป็นการรวมอำนาจเบ็ดเสร็จ สามารถมีการเวนคืนที่ดินตรงไหนก็ได้ และสามารถเอานักลงทุนขนาดใหญ่เข้ามาสวมในพื้นที่ของชาวบ้านได้ ซึ่งจะต้องทำให้วิถีชีวิตเล็กๆ ของชาวบ้าน ชาวเลแถบนี้ต้องสูญหายไปแน่นอน" จำนง กล่าวด้วยน้ำเสียงห่วงใย

นี่คงจะเป็นกรณีศึกษาอีกพื้นที่หนึ่ง ที่มีปัญหาในเรื่องความขัดแย้ง ปัญหาการแย่งชิงที่ดินระหว่างนายทุนกับชาวบ้าน จำนวน กว่า 400 ไร่ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องหันมาทบทวนในเรื่องนโยบายการจัดการที่ดิน ซึ่งกำลังกลายเป็นปัญหาที่หมักหมมและเริ่มขยายเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศ

รายงานพิเศษ
องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net