แนะใช้กม.ปฏิรูปที่ดินแก้ปม" กะเหรี่ยงป่าผาก" อดข้าว

สถานีอาหารสัตว์ที่มีพื้นที่ในการใช้สอยถึง 1,300 ไร่
---------------------------------------------------------------

ประชาไท - 23 พ.ค.48 เมื่อวันที่ 21-22 พ.ค. ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จัดงานทอดผ้าป่าข้าวสารสามัคคี พร้อมลงพื้นที่ศึกษาและหาแนวทางแก้ปัญหาในเรื่องที่ดินทำกินของชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าผาก ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งถูกโครงการจากภาครัฐรุกที่ดินจนไม่มีพื้นที่สำหรับเพาะปลูกหาเลี้ยงชีพ

นางสุนี ไชยรส ประธานอนุกรรมการสิทธิในการจัดสรรที่ดินและป่ากล่าวว่า ปัญหาโครงการภาค
รัฐทับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านนั้นเป็นปัญหามานานแล้ว ไม่ใช่เฉพาะหมู่บ้านป่าผากเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายพื้นที่ เช่น หมู่บ้านห้วยหินดำและหมู่บ้านตากแดด จ.ราชบุรี เนื่องจากการทำงานของภาครัฐส่วนใหญ่ไม่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน

นางสุนีกล่าวต่อว่า ในกรณีของบ้านป่าผากนี้ ทางกสม. และมูลนิธิสืบฯ ได้ประสานและแลก
เปลี่ยนปัญหากับเจ้าหน้าที่ทางภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นอุทยานแห่งชาติพุเตย หรือสวนป่าเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ประกาศจัดตั้งทับที่ดินทำกินของชาวบ้านมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยทั้งหมดเห็นพ้องกันว่าเป็นความบกพร่องของภาครัฐ และควรคืนที่ดินอันเป็นสิทธิโดยชอบธรรมให้แก่ชาวบ้าน เพราะปัจจุบันชาวกะเหรี่ยงป่าผากแทบไม่มีพื้นที่ทำกินเป็นของตนเอง พวกเขาจึงต้องบุกรุกผืนป่าของรัฐเพื่อปลูกพืชหาเลี้ยงชีพ และมักถูกจับกุมดำเนินคดีในที่สุด

"จากพื้นที่ทำกินในถิ่นเดิมถูกทำให้เป็นสวนป่าสัมปทาน ชาวกะเหรี่ยงก็ต้องย้ายที่ พอย้ายก็เจอโครงการสถานีอาหารสัตว์ที่ใช้เนื้อที่ 1,300 ไร่ โครงการอ่างเก็บน้ำ และการกั้นเขตของอุทยานแห่งชาติพุเตย ทุกวันนี้กะเหรี่ยงในป่าผากต้องไปเป็นลูกจ้างนายทุนจากพื้นราบที่เข้ายึดครองพื้นที่ในแถบนี้ วิถีชีวิตดั้งเดิมที่เคยอนุรักษ์ไว้ก็แทบสูญสิ้นไป" นางสุนีกล่าว

ประธานอนุกรรมสิทธิในการจัดสรรที่ดินและป่าจากกสม. กล่าวอีกว่า กสม.เสนอแนวทางในการแก้ไขสำหรับเรื่องดังกล่าว 2 แนวทางคือ ต้องประสานกับเจ้าหน้าที่ของสถานีอาหารสัตว์เพื่อขอแบ่งบันพื้นที่ให้ชาวบ้าน เพราะการใช้ประโยชน์จากพื้นที่บริเวณนั้นยังไม่ชัดเจน อีกทั้งยังมีพื้นที่มากเกินความจำเป็น ส่วนที่การขอพื้นที่จากอุทยานแห่งชาตินั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่มีกฎหมายรองรับ

ขณะที่อีกแนวทางหนึ่งคือ รัฐต้องยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดในการทำงานของภาครัฐเอง ดังนั้นจึงควรใช้กฎหมายการปฏิรูปที่ดิน โดยใช้เงินกว้านซื้อที่ดินของเอกชนรอบๆ หมู่บ้าน แล้วมาแบ่งให้ชาวบ้านอย่างเป็นธรรมเพื่อช่วยเหลือกะเหรี่ยงกลุ่มนี้

ด้านนางยุพิน กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลให้ความเป็นธรรมกับชาวกะเหรี่ยงป่าผากด้วย ไม่อยากให้คิดว่าเป็นชนกลุ่มน้อยแล้วเลือกปฏิบัติ ทุกวันนี้คนในหมู่บ้านไม่สามารถปลูกข้าวกินเองได้ เพราะไม่มีที่ดิน รวมทั้งอยากให้ภาครัฐเข้าใจถึงวิธีการทำไร่หมุนเวียนของชาวกระเหรี่ยงว่ามิได้เป็นตัวการทำลายป่าเหมือนอย่างไร่เลื่อนลอย เพราะการทำไร่หมุนเวียนนั้นปริมาณป่าก็ยังเท่าเดิม

"ผืนดินตรงนี้บรรพบุรุษเราอยู่มาไม่เคยมีปัญหาในเรื่องพื้นที่ป่า ถ้ากะเหรี่ยงทำลายป่าจริง จะมีผืนป่าให้อุทยานฯ เข้ามาจัดตั้งดูแลหรือ กะเหรี่ยงก็เหมือนกับเกษตรกรคนหนึ่ง เครื่องมืออุปกรณ์ก็มีไม่มาก แค่จอบ มีด เสียม ซึ่งไม่สามารถเอาไปตัดไม้ถางป่าให้เตียนได้ เราเติบโตมากับป่าแต่วันนี้เราเข้าป่าไม่ได้ " นางยุพิน กล่าวทิ้งท้ายด้วยเสียงสั่นเครือ

อย่างไรก็ตาม จากผลการวิจัยที่อนุกรรมการสิทธิจัดสรรที่ดินและป่าร่วมกับ ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำขึ้นเกี่ยวกับการทำไร่ตามสิทธิชุนชนดั้งเดิมของราษฎรชนเผ่ากะเหรี่ยงพบว่า การทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงนั้นใช้พื้นที่น้อยกว่าการทำไร่ถาวร และพื้นที่ที่ใช้ในการทำไร่หมุนเวียนนั้นยังสามารถฟื้นตัวกลับมาเป็นป่าได้ ดังนั้น การทำไร่หมุนเวียนของกะเหรี่ยงจึงไม่ใช่การทำลายป่า แต่คือวนเกษตรฯ
สิรินภา อิ่มศิริ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท