Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวภาคเหนือ-24 พ.ค.48 คนเชียงของร่วมประชุมหาทางแก้ปัญหาการจับปลาบึก เตรียมเชิญเจ้าแขวงบ่อแก้ว เมืองห้วยทราย ประเทศลาว ร่วมหลายองค์กรจัดเวทีหาทางออกในการอนุรักษ์ปลาบึกอย่างยั่งยืน ในวันที่ 4 มิ.ย.นี้

การจับปลาบึกในแม่น้ำโขงได้เป็นประเด็นร้อนกันขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากในปีนี้มีการจับปลาบึกในแม่น้ำโขง บริเวณบ้านหาดไคร้ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้จำนวน 3 ตัว โดยหลังจากทางเจ้าหน้า ที่กรมประมงได้ทำการรีดไข่ รีดน้ำเชื้อเพื่อทำการผสมเทียมเสร็จ ปลาบึกทั้งหมดได้ตายลงก่อนจะทำการปล่อยลงสู่แม่น้ำโขง จนทำให้เกิดปัญหาคลางแคลงใจคนทั่วประเทศ

ในมุมมองของชาวบ้านคนลุ่มน้ำโขงบอกว่า การจับปลาบึกนั้นเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมานานแล้ว โดยเฉพาะคนหาปลาบ้านหาดไคร้เชื่อว่า ปลาบึกเป็นปลาที่มีเจ้าของ มีภูติผีคุ้มครอง บ้างก็นับถือ ปลาบึก เป็นเสมือนปลาเทพเจ้าแห่งแม่น้ำโขง

ขณะที่เจ้าหน้าที่ประมงนั้น อนุญาตให้ "อาชญาบัตร" แก่คนหาปลา และเมื่อจับปลาบึกในแม่น้ำโขงได้ ต้องให้เจ้าหน้าที่ทำการรีดน้ำเชื้อ รีดไข่ เพื่อทำการผสมเทียม

ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่ง อยากให้หยุดเลิกการล่าปลาบึก และหันมาร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกตามธรรมชาติแทน

เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่วัดหาดไคร้ ทางชมรมปลาบึกอำเภอเชียงของ กลุ่มรักษ์เชียงของ และตัวแทนหน่วยงานองค์กรต่างๆ พร้อมด้วยชาวบ้าน เข้าร่วมประชุมหารือกันเพื่อหาทางออกในปัญหาดังกล่าว

นายพุ่ม บุญหนัก ประธานชมรมปลาบึก กล่าวว่า ที่หลายฝ่ายต้องการให้หยุดล่าปลาบึกและหันมาร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกนั้น ทางสมาชิกของชมรมปลาบึก ซึ่งขณะนี้มีทั้งสมาชิกทั้งหมด 272 คน พร้อมที่จะให้ความร่วมมือในเรื่องการอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึก

"แต่ถ้าจะให้ชาวบ้านหยุดการจับปลาบึกทันทีนั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะทุกคน ถือว่า การล่าปลาบึก เป็นประเพณีของหมู่บ้านที่มีมาช้านานแล้ว และถ้าหากจำเป็นให้หยุดจริงๆ รัฐจะต้องหาทางออกให้แก่ชาวบ้านด้วยการหาอาชีพมาทดแทนการจับปลาบึกด้วย" นายพุ่ม กล่าว

นายอาทิตย์ จันทาพิม เจ้าหน้าที่กลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า หลังจากที่มีการประชุมหารือกัน ทางกลุ่มชาวบ้านชาวประมง ได้เสนอทางออกเอาไว้ว่า หากจะให้ชาวประมงหยุดการจับปลาบึก ก็ขอให้ทางรัฐเข้ามาดำเนินการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรงบประมาณในการจัดซื้ออุปกรณ์หาปลาของชาวบ้านคืน เนื่องจากเครื่องมือจับปลาบึกประเภท" มอง" นั้นมีราคาแพง มองชุดหนึ่งตกประมาณ 30,000 บาท ซึ่งในขณะนี้ ทางชมรมปลาบึก มีทั้งหมด 69 ชุด

"นอกจากนั้น ทางชาวบ้านยังเรียกร้องให้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดหาอาชีพใหม่มาทดแทนการจับปลาบึก หรือขอให้มีการส่งเสริม ในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีการสร้างพิพิธพัณฑ์ปลาบึก ซึ่งหลังจากนี้ คงจะมีการประชุมเพื่อหาทางแก้ไขปัญหานี้กันต่อไป" เจ้าหน้าที่กลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าว

ทางด้าน นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว สมาชิกสภาผู้นำชุมชนแห่งชาติ จ.เชียงราย และประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ยังยืนยันว่า ทุกคนเห็นด้วย ว่าจะทำอย่างไรถึงจะมีการอนุรักษ์ปลาบึกให้มีชีวิตอย่างปลอดภัย และถูกยกเว้นจากการล่า โดยจะต้องมีการหาอาชีพใหม่มาทดแทนเพื่อช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวประมง หลังยุติการล่าปลาบึก

ล่าสุดวันนี้(24 พ.ค.2548) ที่ห้องประชุม อาคาร 2 ตึกรัฐสภา นางเตือนใจ ดีเทศน์ คณะกรรมา
ธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสมาชิก ได้เป็นประธานประชุมเพื่อหารือในการแก้ปัญหาในเรื่องการอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกอย่างยั่งยืน โดยได้เชิญตัวแทนมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชฯ ตัวแทนจากกลุ่มรักษ์เชียงของ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมหารือและหาแนวทางในการดำเนินงานต่อไป

นายสุมาตร์ ภูลายยาว เจ้าหน้าที่ประสานงาน เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า ในที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันว่า จะมีการจัดเวทีสัมมนาเพื่อหาทางออกในการอนุรักษ์ปลาบึกในแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน โดยทางคณะกรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา จะได้ทำหนังสือเชิญ เจ้าแขวงบ่อแก้ว เมืองห้วยทราย ประเทศลาว เข้าร่วมประชุมหารือร่วมกัน พร้อมกับ พร้อมด้วย สมาชิกวุฒิสภา จ.เชียงราย ชมรมปลาบึก กลุ่มรักษ์เชียงของ รวมทั้งตัวแทนจังหวัด และตัวแทนกรมประมง เข้าร่วมประชุม ในวันที่ 4 มิ.ย.2548 นี้ ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย

"โดยในภาคเช้า จะมีตัวแทนชาวบ้าน นักวิชาการ วุฒิสมาชิก เข้าร่วมพูดคุยกันเพื่อหาทางร่วมกันว่า ถ้าไม่ให้มีการจับ จะมีข้อเสนอแนะกันอย่างไร ส่วนในภาคบ่าย จะให้ทุกๆ ฝ่ายหาทางออกร่วมกันอีกครั้ง" นายสุมาตร์ กล่าว

องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net