Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาที่เรียกว่าเรียกว่า East-West Corridor ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งโครงการนี้รวมการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่จังหวัดมุกดาหารของไทยและการพัฒนาเส้นทางหมายเลข 9 จากเมืองคันทะบุลี แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาวไปสู่ชายแดนเวียดนามที่ลาวบาว ก่อนจะไปบรรจบกับเส้นทางหมายเลข 1 ของเวียดนามสู่ท่าเรือน้ำลึก โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาให้เป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญอีกเส้นทางหนึ่งที่จะทำให้พื้นที่ที่มีการพัฒนาน้อยซึ่งตั้งอยู่บนเขตแนวดังกล่าวได้มีการพัฒนามากขึ้น

โครงการดังกล่าวโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับ 3 ประเทศคือ ไทย ลาว และเวียดนาม ในขณะนี้ถือว่ามีความก้าวหน้าไปมาก โดยแต่ละประเทศต่างทำการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค และสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ เพื่อรองรับการใช้เส้นทางดังกล่าวในระยะเวลาอันใกล้ที่คาดหวังว่าจะได้ประโยชน์ร่วมกัน

ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ สกว.ได้จัดกิจกรรมนำสื่อมวลชนไทยจำนวนหนึ่งไปติดตามความคืบหน้าของการพัฒนาเส้นทางดังกล่าว รวมทั้งการรับฟังผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากการพัฒนาเส้นทางหมายเลข 9 ด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่ง สกว.สนับสนุนให้สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ ทำการศึกษาในประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้องค์กรเอกชนในพื้นที่ทำการศึกษาการเสิรมสร้างกลไกท้องถิ่นเพื่อจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาระเบียงตะวันออก-ตะวันตก

คณะเดินทางด้วยรถตู้จากอุบลราชธานีถึงมุกดาหารด้วยเวลากว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง เพราะเส้นทางบางช่วงกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างปรับปรุงขยายถนน รวมทั้งในเขตเมืองมุกดาหารก็กำลังมีการปรับปรุงขนานใหญ่เช่นกัน และเพื่อต้องการเดินทางไปดูเส้นทางหมายเลข 9 ที่เชื่อกันว่าจะเป็นถนนเศรษฐกิจที่ทำให้ไทย-ลาว-เวียดนามสามารถพัฒนาความสัมพันธ์และใช้ประโยชน์ร่วมกันทั้งในทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวได้นั้น คณะจึงข้ามเรือจากฝั่งมุกดาหารไปสะหวันนะเขต

ก่อนเข้าสู่เส้นทางหมายเลข 9 รถตู้พาคณะชมรอบเมืองคันทะบุลี ชมโบราณสถาน โบราณวัตถุซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยสงคราม จากนั้นจึงไปดูยังจุดตัดที่สะพานข้ามโขงมาลงในฝั่งลาวเข้าสู่ถนนหมายเลข 9 จากนั้นก็แวะสักการะพระธาตุอิงฮังอันเลื่องชื่อเพื่อเป็นศิริมงคล ก่อนมุ่งหน้าต่อไปจนถึงจุดตัดระหว่างถนนหมายเลข 9 กับถนนหมายเลข 13 ที่เมืองเซโน (เมืองอุทุมพอน)

โดยถนนหมายเลข 13 ถือเป็นกระดูกสันหลังจากเหนือสู่ใต้ของ สปป.ลาว บริเวณนี้จึงเป็นชุมชนขนาดใหญ่และเป็นแหล่งการค้าที่สำคัญของแขวงสะหวันนะเขต และที่นี่ยังเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ที่ลาวเตรียมพร้อมจะให้มีการลงทุนในหลายจุด ทั้งที่เมืองคันทะบุรี และเมืองอุทุมพอน (เซโน) ประกอบด้วยเขตจัดสรรสำหรับพัฒนา 3 เขตเศรษฐกิจ คือ เขตอุตสาหกรรมและการแปรรูปเพื่อส่งออก เขตการค้าปลอดภาษี และศูนย์ให้บริการและจัดส่งสินค้าปลอดภาษา ธุรกิจที่ได้รับการส่งเสริมและอนุญาตให้ดำเนินการภายในเขตเศรษฐกิจได้แก่ ธุรกิจผลิตและแปรรูป ธุรกิจการค้า ฯลฯ

ดังนั้นตลอดเส้นทางจากสะหวันนะเขตสู่เซโนนอกจากเราจะวิ่งอยู่บนถนนหมายเลข 9 ที่เรียบมาก ๆ ขนาดเขียนหนังสือหรือจดบันทึกได้แล้ว ยังเห็นภาพชีวิตการเคลื่อนไหวอย่างคึกคักของชาวลาว ในการค้าขายและการดำเนินชีวิต ที่ส่วนใหญ่จะใช้จักรยาน รถมอเตอร์ไซต์ และรถที่เมืองไทยเรียกว่า "รถอีแต๋น" ในการสัญจรบนถนนเส้นนี้ ขณะเดียวกันก็มีการก่อสร้างโกดังสินค้า การเกิดขึ้นของโรงแรมแหล่งที่พัก เกิดขึ้นเป็นระยะ

อดิศร เสมแย้ม นักวิชาการจากสถาบันเอเชียศึกษา และนักวิจัยในโครงการศึกษาผลกระทบด้านสังคมจากการพัฒนาเส้นทางหมายเลข 9 ต่อประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า การปรับปรุงเส้นทางหมายเลข 9 ในลาว จากจุดตัดที่เซโนไปจนถึงเวียดนามมีระยะทางประมาณ 83 กิโลเมตรโดยผ่านพื้นที่ยากจนในสะหวันนะเขตของลาว คือเมืองเซโปน (Sepone) เมืองพิน (Phine) เมืองอุทุมพอน (Outhoomhone) เมืองอาดสะพังทอง (Atsaphangthong) เมืองท่าพะลานไซ (Thaphalanxay) และไปเชื่อมโยงกับเส้นทางหมายเลข 9 และหมายเลข 1 ในเวียดนาม ซึ่งเป็นพื้นที่ยากจนในเวียดนาม ได้แก่เมือง Cum Lo,Dakyong,Huong Ho ในจังหวัดกวางจิ (Quang Tri)

ตลอดเส้นทางได้เห็นเห็นสภาพวิถีชีวิตของคนลาวที่ยังคงอยู่กันอย่างเรียบง่ายและมีอัธยาศัย ทั้งสภาพบ้านเรือนที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวซึ่งก็มีทั้งลาวลุ่ม ลาวเทิง และลาวต่ำ จึงเป็นความงดงามแปลกตาที่นักท่องเที่ยวน่าจะได้มาสัมผัส แต่อาจต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษในการใช้ถนนเส้นนี้เพราะจะมีสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านที่อยู่สองฝั่งถนนทั้ง แพะ วัว ควาย เป็ด ไก่ ฯลฯ ที่จะวิ่งหรือเดินข้ามถนนกันแบบเดาใจไม่ได้ จึงเป็นปัญหาทำให้การใช้ถนนในขณะนี้ไม่สะดวกและรวดเร็วอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้คนลาวเองก็อยู่ระหว่างการปรับตัวเช่นกัน

เมื่อมาถึงบริเวณชาวแดนลาว-เวียดนาม ที่บริเวณด่านตรวจคนเข้าเมืองเวียดนามและเสียเวลากับการตรวจเอกสารการเข้าเมืองนานพอสมควร ที่นี่เราได้เห็นรถบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่จอดรอการตรวจเป็นแถวยาวเหยียด ซึ่งขั้นตอนการผ่านด่านจุดนี้นับว่ายังไม่ค่อยสะดวกนัก ใช้เวลาพอสมควรคณะจึงผ่านเข้าไปได้ และใกล้ ๆ กับด่านนั้นก็คือ เขตเศรษฐกิจพิเศษลาวบาวของเมืองกวางจิ เวียดนาม ที่มีการส่งเสริมการลงทุนมาระยะหนึ่งแล้ว และมีนักธุรกิจไทยส่วนใหญ่ก็จากมุกดาหารเข้าไปลงทุนอยู่หลายราย ทั้งโรงงานผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง อุตสาหกรรมยางรถยนต์ และอุปกรณ์ต่อพ่วง รวมทั้งอุตสาหกรรมพลาสติก และร้านอาหารไทยก็มีเปิดกิจการที่นั่น จึงเป็นอีกเมืองหนึ่งในเส้นทางหมายเลข 9 ที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการการขยายตัวทางด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทย-เวียดนาม

ซึ่งข้อมูลจากกงสุลใหญ่ไทย ณ นครโฮจิมินท์ ยืนยันว่าในปีที่ผ่านมาไทยกับเวียดนามนั้นมีการอัตราทำการค้าต่อกันเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุดในโลกทีเดียว (ในแง่การทำการค้านะไม่ใช่ตัวเลขเงินตรา) การเดินทางด้วย จากนั้นคณะได้ไปดูย่านการค้าและการลงทุนของเขตเศรษฐกิจพิเศษลาวบาวและย่านชุมชนบนเส้นทางหมายเลข 9 ของเวียดนามซึ่งกำลังมีการปรับปรุงถนนเช่นกัน

โดยสรุปความคืบหน้าของโครงการพัฒนาดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับ 3 ประเทศหลัก คือ ไทย ลาว และเวียดนาม ในขณะนี้จะพบว่ามีความคืบหน้าไปมาก โดยในลาวการปรับปรุงถนนหมายเลข 9 เสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนในเวียดนามก็มีการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน การยกระดับท่าเรือเทียนซาที่ดานัง และอื่น ๆ รวมทั้งการก่อสร้างอุโมงค์ไฮวานเสร็จแล้ว เหลือเพียงการปรับปรุงถนนในเขตจังหวัดภาคกลางซึ่งก็ใกล้แล้วเสร็จ ในส่วนประเทศไทยการก่อสร้างสะพานข้ามโขงแห่งที่ 2 ก็คาดว่าจะเสร็จในอีก 2 ปีข้างหน้า

ด้วยเวลาเพียง 1 วันคณะของเราก็สามารถสำรวจเส้นทางหมายเลข 9 ไปจนถึงเวียดนามทำให้เห็นภาพของการพัฒนาเส้นทางนี้และเริ่มมีการขยับตัวทางด้านการค้าการลงทุนบ้างแล้ว ซึ่งคงต้องค่อยเป็นค่อยไป แต่ก็พอมีหวังว่าจะเป็นเส้นทางเศรษฐกิจ การค้าที่นำความเจริญมาสู่เมืองต่าง ๆ ตามแนวเส้นทาง รวมทั้งประเทศไทยที่จะมีสะพานข้ามโขงแห่งที่ 2 ไปเชื่อมต่อการใช้ประโยชน์ แต่ก่อนที่เส้นทางนี้จะเสร็จสมบูรณ์ 100% ทั้งไทย-ลาว-เวียดนามก็ควรต้องมีการปรับปรุงแก้ไขระบบหรือเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรค เช่น ขั้นตอนในการเข้าออกประเทศ เป็นต้น

จากเส้นทางหมายเลข 9 กลับสู่ประเทศไทยที่จุดเชื่อมการก่อสร้างสะพานข้ามโขงแห่งที่ 2 ผลวิจัยโครงการศึกษา ผลกระทบจากการพัฒนาเส้นทางหมายเลข 9 : ด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม " และ การสร้างเสริมกลไกท้องถิ่นเพื่อจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาระเบียงตะวันออก-ตะวันตก" ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผอ.สกว. ให้สัมภาษณ์ว่า การศึกษาดังกล่าวเป็นการวิจัยระยะแรกทำในช่วงก่อนและเริ่มก่อสร้างสะพาน พื้นที่ศึกษาทั้งในฝั่งไทยและลาว และบางด้านเลยไปถึงเวียดนามด้วย เป็นการสำรวจและประมวลสถานการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้แล้วมองไปข้างหน้าว่าจะเกิดผลอะไรขึ้นบ้างทั้งด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านสิ่งแวดล้อม และอีกด้านหนึ่งที่สำคัญคือการพัฒนากลไกของภาคประชาชน ทำให้ได้ฐานข้อมูลที่เรียกว่า base line data ที่ทำให้สามารถติดตามผลกระทบรวมทั้งประเด็นปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างเจาะลึกและชัดเจนขึ้นในการศึกษาวิจัยระยะที่ 2 ที่กำลังจะมีขึ้นต่อไปในหลายประเด็น

รศ.ดร.พุทธกาล วัชธร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ นำเสนอผลวิจัยผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นการคาดการณ์ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ ในด้านการคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน เมื่อการกำหนดให้แต่ละจังหวัดมีการผลิตสินค้าทั้งหมดเพิ่มขึ้นหลังจากที่มีการเปิดใช้สะพานและถนนหมายเลข 9 พบว่าหากไม่มีการขยายโครงข่ายการขนส่งภายในประเทศเพื่อรองรับแล้ว ต้นทุนค่าขนส่งสินค้าและความต้องการด้านสาธารณู ปโภคพื้นฐานของแต่ละจังหวัดจะเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนเรื่องการควบคุมชายแดนข้ามประเทศและการค้าขายแดนพบว่า การค้าชายแดนมีความสำคัญมากที่สุดสำหรับการค้าระหว่างไทยกับลาว จังหวัดที่มีมูลค่าการค้าชายแดนสูงสุดคือหนองคาย รองลงมาคือมุกดาหารและอุบลราชธานี การค้าชายแดนไทย-ลาว ยังมีอุปสรรคที่สำคัญอยู่หลายประการทั้งทางด้านภาษีศุลกากรและมิใช่ภาษีศุลกากร เช่น ทางการประเทศลาวกำหนดให้สินค้าบางประเภทห้ามนำเข้าและส่งออก หรือมีการจำกัดปริมาณการนำเข้าสินค้า (โควต้า) ในสินค้าหลายประเภท ดังนั้นประเทศไทยกับลาวจะไม่สามารถได้รับผลประโยชน์จากการมีสะพานข้ามแม่น้ำโขงและถนนที่ทำให้เดินทางได้รวดเร็วขึ้นอย่างเต็มที่ หากอุปสรรคการค้าระหว่างไทยกับลาวอื่น ๆ อีกมากมายยังมิได้ถูกขจัดออกไป เป็นต้น

ส่วนผลกระทบทางด้านสังคม ศ.ดร.สุภางค์ จันทวานิช จากสถาบันเอเชียศึกษา ได้นำเสนอว่ามีปัญหาหลายประเด็นที่น่าห่วง ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน พื้นที่ทำการเกษตรน้อยลง ปัญหาขยะและน้ำเสีย รวมทั้งชุมชนแออัดที่เกิดจากการขยายเมือง ปัญหาคุณภาพเส้นทางคมนาคมและขาดบริการขนส่งที่ดี ตลอดจนบริการทางอากาศที่ไม่สะดวก ประชากรบางส่วนอพยพออกไปทำงานที่อื่น ทำให้มีการเคลื่อนย้ายเข้ามาของแรงงานจากต่างถิ่นและแรงงานต่างด้าว ปัญหาด้านสาธารณูปโภคอื่น ๆ

ขณะที่ปัญหาด้านคุณภาพชีวิตก็พบว่า มีการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และการบริการทางสาธารณสุขที่เพียงพอ การประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีรายได้น้อย และการประมงที่มีการกำหนดเขตแดนและช่วงเวลาในการออกหาปลา การขาดแคลนสถานศึกษาในระดับสูงกว่ามัธยมศึกษา ประชากรวัยทำงานบางส่วนอพยพออกไปทำงานที่อื่นทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน นำมาสู่การย้ายถิ่นของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ยังมีประเด็นปัญหาคุณภาพชีวิตด้านวัฒนธรรมที่น่าสนใจ อาทิ การปล่อยปละละเลยให้เด็กและเยาวชนบางส่วนเข้าไปเที่ยวในสถานบริการในเวลากลางคืน มีสถานบริการทางเพศแอบแฝง และผู้หญิงที่ให้บริการทางเพศบางส่วนข้ามมาจากฝั่งลาว โดยมีข้าราชการบางส่วนนิยมข้ามฝั่งไปใช้บริการทางเพศ ทำให้มีความเสี่ยงต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคเอดส์

ขณะที่ในเรื่องการท่องเที่ยวก็มีปัญหาเรื่องเส้นทางคมนาคมในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว การขาดแคลนแรงงานระดับล่างในธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร รวมทั้งไม่มีแหล่งงานรองรับธุรกิจการท่องเที่ยว ยังไม่มีการจัดการท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ และไม่มีการประสานเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับจังหวัดใกล้เคียง เป็นต้น

สำหรับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ก็มีการนำเสนอไว้ว่าจะเป็นผลกระทบตามมากับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งสินค้ามีรถบรรทุกเข้ามา การตั้งโรงงาน รวมทั้งเรื่องของการกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว นั่นคือ มีการใช้ทรัพากรในพื้นที่มากขึ้นไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ อากาศ และป่าไม้ ซึ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราต้องประมาณการว่าถ้าสิ่งเหล่านี้เข้ามาอะไรมันจะเกิดขึ้นเพื่อจะได้ระมัดระวังป้องกัน

ส่วนกลไกท้องถิ่นเพื่อจัดการผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นยังต้องการความร่วมไม้ร่วมมือทั้งคนมุกดาหารและจากภายนอก ที่ต้องร่วมกันตอบคำถามที่ว่า "เราจะอยู่ท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมด้วยความร่วมมือและการประสานประโยชน์อย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไร"

ผอ.สกว.กล่าวอีกว่า สำหรับผลการศึกษาดังกล่าวนอกจากการเผยแพร่สู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในระดับจังหวัดได้นำไปใส่ในแผนยุทธศาสตร์ 4 ปีของจังหวัดมุกดาหารซึ่งจะนำเสนอต่อรัฐบาล ขณะเดียวกันก็จะเผยแพร่สู่ภาคส่วนอื่น ๆ ทั้งภาคธุรกิจเอกชน หน่วยงานท้องถิ่น และภาคประชาชน เพื่อสร้างความรับรู้สร้างความตระหนักต่อความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ ที่ควรจะสนใจและเตรียมพร้อม

จากภาพรวมทั้งหมดของผลการศึกษาในแง่ทัศนคติพบว่า ทั้งคนไทย คนลาว และคนเวียดนามต่างมีความรู้สึกดีต่อกันแม้จะมีความหวาดระแวงซึ่งกันและกันอยู่บ้างในบางเรื่อง แต่การเดินทางไปมาหาสู่กันและการใช้ประโยชน์ร่วมกันบนเส้นทางนี้จะทำให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจซึ่งกันมากขึ้น ดังนั้นนอกจากการเป็นเส้นทางเศรษฐกิจ เส้นทางหมายเลข 9 ยังอาจเป็นเส้นทางมิตรภาพที่จะเชื่อมสัมพันธ์ของทั้ง 3 ประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีกด้วย.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net