รายงานพิเศษ: จากตุ๊เจ้าเข้าก๋ำ สู่เกษตรอินทรีย์ปลดหนี้เป็นแสน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ช่วงนี้ จะเห็นว่า รัฐบาลชุดนี้ยังคงเดินหน้าผลักดันนโยบายที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งนโยบายศูนย์กลางแฟชั่น ศูนย์กลางเทคโนโลยีผลิตรถยนต์ ศูนย์กลางครัวโลก รวมทั้งการเปิดการค้าเสรี FTA กับประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

การพัฒนาประเทศที่ผ่านมา เรายังคงเน้นเรื่องการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมเป็นหัวใจหลัก นโยบายการค้าเสรีและการผลิตที่เน้นการส่งออก ทำให้เกษตรกรต้องเสี่ยงมากขึ้น ทั้งจากความผันผวนของค่าเงิน กลไกเศรษฐกิจที่อยู่เหนือการควบคุมของเกษตรกรชาวไร่ชาวนา เป็นสิ่งที่อยู่ห่างออกไปและจับต้องไม่ได้

สิ่งเหล่านี้ ได้พิสูจน์มาแล้วด้วยวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 กระทั่งกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้จุดความคิด " ทฤษฎีพอเพียง" ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่หลายชุมชนพยายามปฏิบัติ ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ โดยเข็มมุ่งของเกษตรกรไทยยุคนี้ จึงน่าจะอยู่ที่ "พอเพียงพอสมควร" คือไม่รวยแต่ก็ไม่จน มีกินในครอบครัว และมีพอที่จะค้าขาย แต่ขายอย่างไรจึงขายแบบไม่เสียเปรียบ แบบต่อรองได้ ควบคุมและตัดสินใจได้ทุกกระบวนการ แบบที่มีอนาคตที่วาดได้เอง โดยไม่ต้องรอให้รัฐบาลมาวาดให้

จากตุ๊เจ้าเข้าก๋ำกลางทุ่ง
สู่เกษตรอินทรีย์ปลดหนี้เป็นแสน

บ้านแม่ทา กิ่งอ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่พยายามดิ้นรนหาทางเลือก และต่อสู้กับระบบเกษตรแบบวัวพันหลัก สู่ระบบเกษตรแบบตลาดพึ่งตนเอง

เกษตรกรบ้านแม่ทา ไม่ต่างจากเกษตรกรอื่นๆ ทั่วประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากการส่งเสริมนโยบายการผลิตแบบแข่งขันและเน้นเทคโนโลยี ผลผลิตหลักในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา อันเป็นความหวังในเรื่องรายได้ คือข้าวโพดฝักอ่อน มีการนำเข้ามาตั้งแต่ปี 2526

มีการประกันราคากิโลกรัมละ 20 บาท ปุ๋ยกระสอบละ 100 บาท จนกระทั่งปัจจุบัน ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้นเป็นกระสอบละ 600 บาท แต่ราคาประกันยังคงเท่าเดิม ประกอบกับข้าวโพด เป็นพืชที่ต้องได้รับดูแลทุกขั้นตอน เกษตรกรต้องใช้เวลากับแปลงข้าวโพดทั้งวันทั้งคืน จนกลายเป็นคำเรียกขานติดปากคนในชุมชนว่า "ข้าวโพดไร้ญาติ" สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ชาวบ้านบางส่วนเริ่มหันมาทบทวนตัวเอง

สว่าง ชัยมาสพงค์ เล่าถึงช่วงการปรับเปลี่ยนในช่วงแรกๆ ว่า เริ่มมีปัญหาหนี้สินที่เพิ่มมากขึ้นจากการทำเกษตรแบบพาณิชย์ โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพดฝักอ่อน เราก็ได้รวมกลุ่มกันคิดทบทวน จนมาสู่การพยายามพัฒนารูปแบบการผลิตข้าวโพดฝักอ่อนอินทรีย์ ตอนแรกๆ จะเปลี่ยนเลยมันก็ยาก ชาวบ้านเขาชินกับแบบเก่า แต่เราก็ลองทำดู

"แรกๆ เจอเพลี้ยลง ชาวบ้านเขาก็โวยวายเรา เขาว่า ตุ๊เจ้าเข้าก๋ำกลางทุ่ง คือปลูกแล้วมันเหลืองเต็มทุ่ง แต่ผ่านไปปีสองปี เริ่มเห็นว่างามกว่าที่ปลูกด้วยเคมี แล้วก็ราคาก็ดีกว่าเกษตรเคมี ของเขารับซื้อ 20 บาท แต่ของเรารับซื้อ 30 บาท เดี๋ยวนี้ สมาชิกกลุ่มข้าวโพดฝักอ่อนอินทรีย์มี 100 กว่าครอบครัว ขายได้เรื่อยๆ ตอนนี้เราทำส่งที่กรีนเนท ส่งออกต่างประเทศ ปีหนึ่งเราทำ 2 รุ่น มันเห็นผล ชาวบ้านก็เริ่มเข้าใจ" สว่าง บอกเล่าให้ฟัง

ปัจจุบัน มีเกษตรกรหลายรายที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์ แล้วสามารถปลดหนี้สิ้นที่เกิดขึ้นจากการผลิตเชิงพาณิชย์เป็นจำนวนนับแสนบาท

เทอดศักดิ์ กองพรม ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา เล่าถึงวิธีการปลดหนี้ว่า มีคนหนึ่ง เป็นหนี้สะสมจากการทำเกษตรเคมีแบบเก่า พอหันมาทำเกษตรอินทรีย์ ค่อยๆ ทำไป ตอนนี้หนี้ 2 แสนบาทที่มีเหลืออยู่ 5 หมื่นบาท

"ภายใน 3-4 ปี รายได้เขาคิดเฉลี่ยปีหนึ่งได้ประมาณ 6 หมื่นบาท ที่ได้กินไม่นับ ปีแรกได้เงินพันกว่าบาท ปีที่สองที่สาม ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในสวนเขามีทุกอย่าง ได้ขายทุกอาทิตย์ อย่างต้นกล้วยขายได้ทั้งต้น ขายใบ ขายหยวก ขายลูก ขายปลี ขายได้ทุกอย่าง ขายได้แล้วก็เอาเงินออมาซื้อวัวเลี้ยง ปีสองปี ก็ขายได้เป็นหมื่น นี่คือ วิธีการปลดหนี้ปลดสิน" ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา บอกเล่า

แต่ถึงอย่างไร จำนวนเกษตรกรที่เข้าร่วมกลุ่มเกษตรอินทรีย์ ก็ยังนับว่าน้อยมากจากจำนวนเกษตรกรทั้งหมด

เขาบอกว่า ทุกวันนี้ ชาวบ้านวิเคราะห์ว่า ไปไม่รอด แต่พยายามหลอกตัวเอง ช่วงทำเกษตรเคมีจะไม่มีรายได้อะไรเลย มีแต่จ่ายตลอด แต่พอได้เงินมาก็ย้อนมาจ่ายหนี้ที่เสียไป

รวมขาย เพิ่มทางเลือกให้คนเมืองใหญ่
ผลผลิตพืชผักนานาชนิดของบ้านแม่ทา ถูกลำเลียงเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ เกือบทุกเช้า ทั้งจากพ่อค้าเข้ามารับซื้อถึงในแปลง และชาวบ้านรวมกลุ่มกันเพื่อนำผักไปขายยังตลาดต่างๆ แต่ละฤดูกาลจะมีผักพื้นบ้านให้ชาวบ้านแม่ทากินและขายได้ตลอดทั้งปี ผักพื้นบ้านเหล่านี้ ไม่ต้องใช้ต้นทุนสูง ใช้วิธีการปลูกแบบอินทรีย์ โดยชาวบ้าน ได้พัฒนาและทดลองด้วยตัวเอง

"เราต้องปลูกให้ชาวบ้านกินก่อน ลดค่าใช้จ่ายตัวเอง เหลือแล้วค่อยเอาไปขาย เดี๋ยวนี้พยายามขยายตลาดเพิ่ม เราเน้นขายกับผู้บริโภคโดยตรง ทั้งในลานในหมู่บ้าน และเจาะจงเข้าไปในใจกลางเมือง เงินได้กันทุกอาทิตย์ ขายผักแล้วได้เลย คือมันไม่มีหนี้เพิ่ม ไม่รวยแต่ก็ไม่จน" เทอดศักดิ์ กล่าว

ทุกวันนี้ ตลาดที่ชาวบ้านนำผักไปขายเป็นประจำคือ "ตลาดเช้าอิ่มบุญ" ทุกวันพุธและวันเสาร์ และยังมีตลาดเช้าที่เข้าไปเปิดขายในโรงเรียนปริ้นส์รอยัลฯ และโรงเรียนดาราวิทยาลัย ในอนาคตอาจะขยายไปขายที่สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่

พอเพียง เป็นของจริง
ปัจจุบัน ที่บ้านแม่ทา มีเกษตรกรกว่า 70 ครอบครัว ได้ปรับเปลี่ยนระบบการผลิต หันมายึดแนวทางเกษตรผสมผสาน มีรายได้หมุนเวียน จากพืชผักสารพัดชนิดตามฤดูกาล เน้นการผลิตแบบปลอดสารพิษ และการรวมกลุ่ม ภายใต้ชื่อ "สหกรณ์การเกษตรยั่งยืนแม่ทา"

ผักปลอดสารและอาหารสุขภาพทั้งหลาย กำลังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคในเมือง ถึงแม้ว่าจะต้องซื้อหามาในราคาที่แพงกว่า เมื่อเทียบกับราคาท้องตลาดทั่วไป แต่ตลาดนัดอินทรีย์ก็ยังคงเป็นสิ่งที่สร้างทางเลือกให้กับคนจำนวนไม่น้อย

ปัญหาที่ชาวบ้านแม่ทาเริ่มพบในขณะนี้ คือ ถึงแม้ว่าจะสามารถเปิดตลาดได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อหันกลับมาดูศักยภาพการผลิตของชุมชนยังนับว่าน้อย และไม่เพียงพอ

นโยบายการทำให้ไทยเป็นครัวโลกของรัฐบาล ดูจะเป็นเทพนิยายที่เกษตรกรไทยนึกไม่ออก หากหันกลับมาดูในครัวของตัวเอง ทุกวันนี้ยังไม่มีเพียงพอจะกิน บทเรียนที่เกิดขึ้นจากการลงมือลงแรงทำของชาวบ้านแม่ทา ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความพยายามในการดำรงชีวิต แบบที่ตัวเองสามารถควบคุมและตัดสินใจได้ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการทบทวน เพื่อหยุดไม่ให้ตัวเองไหลไปกับกระแสเศรษฐกิจที่จับต้องไม่ได้

แปรเปลี่ยนเป็นพืชผักอาหารที่จับต้องและสัมผัสได้จริง เหมือนกับคำที่ว่า "เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง" ดังนั้น คงไม่ต้องหวังสูงถึงครัวโลก เอาเพียงแค่พอมีพอกินในครัวเราก็เพียงพอ

ปาริชาต กลิ่นขจร : รายงาน
จาก Local Talk Newsletter

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท