Skip to main content
sharethis

เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 29 พ.ค.48 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี องค์การนักศึกษาและสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้นำตัวแทนของนักศึกษาจาก 30 สถาบันทั่วประเทศกว่า 100 คน เดินทางไปพบปะกับญาติผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสมานฉันท์ผู้นำและองค์กรนักศึกษากับปัญหาชายแดนใต้

ทั้งนี้ได้แบ่งกลุ่มออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกจำนวน 25 คน เดินทางไปพบกับผู้สูญเสียและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส 5 จุด ได้แก่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ บ้านเกาะสะท้อน ตำบลเกาสะท้อน บ้านบาเดาะมาตี บ้านจาเราะ และบ้านนะกูวิง ตำบลศาลาใหม่ อำเภอตากใบ โดยมี รศ.เกษียร เตชะพีระ นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเดินทางไปด้วย

ส่วนกลุ่มที่ 2 จำนวน 60 กลุ่ม เดินทางไปที่หน่วยเฉพาะกิจ 2 ปัตตานี ซึ่งตั้งอยู่ที่สวนเย็นศิระ เขื่อนแม่ลาน อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พ.อ.จำลอง ขุนสงค์ ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ 2 ปัตตานี เป็นผู้บรรยายสรุป

พ.อ.จำลอง กล่าวถึงภารกิจของหน่วยว่า ได้ยึดถือพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ การเข้าถึง เข้าใจและพัฒนาในการพัฒนาและแก้ปัญหาในชุมชนมุสลิม เพื่อให้เกิดความสันติสุข

ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจ 2 ปัตตานี ได้ตอบคำถามต่อมุมมองการดำเนินการของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.)ว่า หากคณะกอส.ใช้วิธีการเปิดเวทีประชุมอย่างเดียว โดยไม่ลงมาสัมผัสในระดับชุมชน จะทำให้การแก้ปัญหาไม่ได้แตกต่างไปจากหน่วยงานอื่นของรัฐที่ดำเนินการแก้ปัญหาอยู่แล้ว ซึ่งไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก

ส่วนกรณีข่าวที่ว่า มีทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ มีความสัมพันธ์กับสตรีมุสลิมจนตั้งครรภ์ ว่า น่า จะมีสาเหตุมี 4 ประการ คือ เกิดจากความรักกัน การหนีตามกัน การถูกหลอกลวง ซึ่งตรวจสอบพบแล้ว 1 ราย และการถูกข่มขืน ซึ่งยังไม่ตรวจพบแต่อย่างใด

หลังบรรยายสรุป นักศึกษาได้แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม แยกย้ายกันเดินทางไปพบกับญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์วันที่ 28 เมษายน 2547 ได้แก่ ที่ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ และที่ตำบลม่วงเตี้ย อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ที่ตำบลเปาะเส้ง อำเภอเมืองยะลา ที่ตำบลห้วยกระทิง อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา และที่บ้ายสุโสะ ตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา

ในเวลา 21.00 น.วันเดียวกัน กลุ่มนักศึกษาทั้งหมดจะประชุมสรุปถึงการเดินทางไปพบกับญาติผู้เสียชีวิต ผู้สูญเสีย และผู้ที่เดือดร้อนจากเหตุการณ์ไม่สงบ รวมทั้งกำหนดแนวทางการดำเนินงานต่อไป และจะแถลงข่าวในเวลา 09.00 น.วันที่ 30 พฤษภาคม 2548

ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 21.00 น.วันที่ 28 พฤษภาคม 2548 ที่ห้องHR101 อาคารเรียนรวม 19 มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี องค์การนักศึกษาและสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตัวแทนนักศึกษาจาก 30 สถาบันได้เข้าเวทีวิเคราะห์สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสมานฉันท์ผู้นำและองค์กรนักศึกษากับปัญหาชายแดนใต้ โดยมี รศ.เกษียร เตชะพีระ พร้อมด้วย นายปิยะ กิจถาวร อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

นายโคทม อารียา กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ และนายอัฮหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ ร่วมเป็นวิทยากร

รศ.เกษียร กล่าวถึงปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า การเอากำลังลงมาแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมากเพื่อต้องการแสดงให้เห็นถึงเข้มแข็ง ทั้งที่ไม่รู้ว่าศัตรูอยู่ที่ไหนในภาวะสงครามกองโจรและผู้ก่อการร้ายไม่ปรากฏตัว จึงเกิดกระแสตรรกะข่าวกรองขึ้นมา นับตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมาผู้นำทางทหารออกมายอมรับแล้วว่า รัฐเป็นเหมือนคนตาบอด ดังนั้นหน่วยงานที่มีอิทธิพลมาก สามารถกำหนดการตัดสินใจของรัฐมากขึ้นใน 1 ปีที่ผ่านมา คือหน่วยงานข่าวกรอง

เพราะฉะนั้นตรรกะข่าวกรองเป็นตรรกะที่น่าสงสัย เป็นตรรกะที่ตั้งอยู่บนความสงสัย ไม่ได้ตั้งอยู่บนความเป็นจริง ซึ่งการจับกุมคนบนความน่าสงสัยไม่สามารถดำเนินการทางกฎหมายได้ หลักกฎหมายดำเนินงานบนความน่าสงสัยไม่ได้ แต่ต้องดำเนินการบนข้อพิสูจน์ การจะเอาผิดผู้ใดต้องมีข้อพิสูจน์มีความผิด

รศ.เกษียร กล่าวอีกว่า 1ปีที่ผ่านมา ตรรกะของหน่วยงานข่ายกรองกำลังครอบงำการทำงานด้านความมั่นคงของรัฐ และครอบงำนโยบายของรัฐบาล มันจึงเกิดความหวาดระแวง มองเห็นการสมคบกันเต็มไปหมด มองเห็นมือที่สามเข้ามาแทรกแซงเต็มไปหมด มองเห็นถึงการจัดตั้งเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ก่อการใหญ่โตมากกำลังเตรียมจะก่อการครั้งใหญ่

นักการข่าวกรองให้ความ สำคัญกับสิ่งที่มองไม่เห็น ทำตามคำแนะนำของมือที่สามแนะนำ ถือว่าความสงสัยคือความผิด นั่นคือผู้ที่ต้องสงสัยคือผู้ที่มีความผิดไปแล้ว แทนที่จะถือตามหลักกฎหมายว่า ข้อพิสูจน์ถึงจะเป็นความผิด

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการแสดงความเห็นและเสนอแนะเกี่ยวกับบทบาทของนักศึกษาต่อการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสร้างบทบาทการเป็นผู้นำในการส่งเสริมให้ใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ลดการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ และสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่ ให้นักศึกษาเรียนรู้สภาพสังคมที่มีความหลากหลาย เพื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน

รวมทั้งทำความเข้าใจเกี่ยวกับหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม นำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพปัญหาและสถานการณ์ในพื้นทีจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับคดีความต่างๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ให้เกิดความกระจ่างโดยเร็ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net