แนวทางอนุรักษ์ปลาบึก แบบแม่โจ้

มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สวก.)ตระหนักถึงความความสำคัญของการอนุรักษ์พ่อ-แม่พันธุ์ปลาบึกและเล็งเห็นว่าสามารถผลักดันให้ปลาบึกเป็นสัตว์เศรษฐกิจใหม่ได้ในอนาคตความสำคัญ ดังนั้น จึงได้สนับสนุน การวิจัย "การศึกษาพ่อ-แม่พันธุ์ปลาบึกจากการเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเชิงพาณิชย์" โดยมี รศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เม่งอำพัน จากภาควิชาเทคโนโลยีการประมง คณะผลิตกรรมการเกษตรเป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยชิ้นโบว์แดงอีกชิ้นหนึ่งที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ สาขาวิชาสัตวศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ในงานวันนักวิจัย ครั้งที่ 1 เมื่อ 25 พฤศจิกายน 47 ที่ผ่านมาเป็นเครื่องการันตีผลงาน

ในผลงานวิจัย ได้เกริ่นที่มาที่ไปของปลาบึกว่า "บึก" ซึ่งเพี้ยนมาจากคำ "หึก" ความหมายแปลว่าใหญ่เป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีถิ่นอาศัยเฉพาะในลุ่มแม่น้ำ สำหรับประเทศไทยพบปลาบึกอยู่ในตอนที่กั้นพรมแดนนับแต่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายลงไปถึงอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี แหล่งที่เคยพบปลาบึกชุกชุมที่สุด คือ วังปลาบึกหรืออ่างปลาบึก บ้านผาตั้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย สถิติปลาบึกที่จับได้ ในปี พ.ศ.2533สามารถจับปลาบึกได้มากที่สุด จำนวน 69 ตัว หลังจากที่ปริมาณการจับลดเรื่อยๆ

ทำให้ในปี 2539 สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) จัดให้ปลาบึกอยู่ในบัญชีแดง (Red list) โดยถูกจัดเป็นชนิดพันธุ์ที่ใกล้สูญพันธุ์และในปี 2544 และ 2545 ไม่สามารถจับปลาบึกได้เลยทำให้เมื่อพฤศจิกายน พ.ศ.2546 ที่ผ่านมาทาง IUCN มีมติเลื่อนสถานภาพปลาบึกเป็นชนิดใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งยวดปริมาณปลาบึกบ่งชี้ถึงจำนวนปลาบึกธรรมชาติลดลงมากกว่าร้อยละ 80 ในช่วง 13 ปี ที่ผ่านมาการหาแนวทางพัฒนาสร้างพ่อ-แม่พันธุ์จากแหล่งน้ำและบ่อเลี้ยงจะสามารถช่วยอนุรักษ์พันธุ์ปลาบึกในลุ่มน้ำโขงเนื่องจากการผสมเทียมปลาบึกเสียชีวิตหลังการรีดไข่และน้ำเชื้อยิ่งไปกว่านั้นปลาบึกจำนวนมากที่ถูกจับแต่ไข่และน้ำเชื้อยังไม่พร้อมผสมเทียมก็ต้องเสียชีวิตเช่นกัน ขณะเดียวกันการมีพ่อ-แม่พันธุ์จากบ่อเลี้ยงจะสามารถผลักดันให้เกิดการเลี้ยงปลาบึกเชิงพาณิชย์ที่ครบวงจรได้ในอนาคต

จากการศึกษาปลาบึกที่เลี้ยงในบ่อของภาควิชาเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยแม่โจ้จากเขื่อนแม่กวงอุดม ธาราเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล และจากแม่น้ำโขงสามารถวิเคราะห์อายุจากวงปีในกระดูกครีบหู ซึ่ง ช่วยทำให้ทราบอายุปลาที่แน่นอนโดยไม่ต้องฆ่าปลาซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการจัดการด้านการเพาะพันธุ์ปลาได้เหมาะสมยิ่งขึ้น

ด้านการศึกษาปริมาณฮอร์โมนและการพัฒนาระบบสืบพันธุ์ในรอบปีของปลาบึกที่เลี้ยงในบ่อดินพบว่าในบ่อเลี้ยงของจรัลฟาร์ม อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย และปลาบึกในบ่อเลี้ยงของภาควิชาเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มีปริมาณฮอร์โมนเพศสูงสุดใกล้เคียงกันคือ ช่วงเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม การกระตุ้นให้ปลาบึกเจริญพันธุ์โดยการฉีดฮอร์โมนพบว่าการใช้ GnRHa และ domperidone สามารถใช้กระตุ้นการสมบูรณ์เพศการใช้ Testosterone ผสมกับน้ำมันถั่วเหลือง สำหรับปลาบึกเพศผู้ และ Estradiol ผสมน้ำมันถั่วเหลืองสำหรับปลาบึกเพศเมีย โดยการใช้ฮอร์โมนผสมกับน้ำมันถั่วเหลืองนั้นจะช่วยคงสภาพฮอร์โมนไว้ได้นาน ประมาณ 7-10 วัน

จากผลการศึกษาพบว่าปลาบึกเพศผู้สามารถรีดน้ำเชื้อได้และมีความสมบูรณ์ดี แต่พบว่ายังไม่สามารถกระตุ้นให้ปลาบึกเพศเมียที่มีอายุน้อยเจริญพันธุ์ได้ โดยไข่ที่ได้มีคุณภาพไม่ดีหรือไม่สามารถพัฒนาไข่ให้สุกสมบูรณ์ได้

ทั้งนี้เนื่องจากปลาบึกที่ใช้ศึกษาครั้งนี้มีอายุเพียง 9 ปี ต่อมาทางโครงการได้ทำการกระตุ้นการเจริญพันธุ์ปลาบึกอีกครั้งด้วยการฉีด GnRHa 50 mg/kg ทุกสัปดาห์โดยในช่วงฤดูวางไข่จะลดปริมาณฮอร์โมนเหลือเพียงครึ่งหนึ่งสามารถรีดไข่และน้ำเชื้อได้เมื่อฉีดฮอร์โมนเหลือเพียงครึ่งหนึ่งสามารถรีดไข่และน้ำเชื้อได้เมื่อฉีดฮอร์โมนได้ 3 ครั้ง โดยมีความดกองไข่ 784 ฟอง/กรัม และน้ำเชื้อของปลาบึกเพศผู้เจือจางด้วย 0.9 %NaCI (1:5) เก็บที่อุณหภูมิ 5 ๐C และสามารถผสมเทียมกับไข่ปลาบึกที่มีอายุ 16 ปี ได้สำเร็จ โดยได้ลูกปลา 600 ตัว

นอกจากนั้นสามารถกระตุ้นการเจริญพันธุ์ปลาบึกที่มีอายุ 10 ปี โดยฉีดฮอร์โมน 4 ครั้ง รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 75 วัน ได้ลูกปลา 11 ตัว ซึ่งเช่นเดียวกับที่มีการประมงได้ทำการผสมเทียมพ่อ-แม่ ปลาบึกมีอายุ 16 ปี ซึ่งมีการพัฒนาเซลล์สืบพันธุ์ในระยะสูงสุดพร้อมสืบพันธุ์ได้โดยได้ลูกปลาบึกรุ่นการแรก (F1) จำนวนรวมทั้งหมด 355,000 ตัว

ต่อมาในปี 2547 ผู้วิจัยได้ประสบผลสำเร็จอีกครั้ง จากผสมเทียมพ่อ-แม่พันธุ์ปลาบึกอายุ 12 ปี โดยได้ลูกปลาบึกจำนวน 2,000 ตัว จากผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นได้ว่า อายุของปลาบึกเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งต่อพัฒนาการด้านการเจริญพันธุ์ โดยปลาบึกที่เลี้ยงในบ่อดินจะสามารถเป็นแม่พันธุ์ได้ต้องใช้เวลามากกว่า 11 ปี ดังนั้นสำหรับการเลี้ยงในเชิงพาณิชย์และการเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์ยังคงต้องหาวิธีการลดเวลาให้ปลาบึกมีการเจริญพันธุ์เร็วขึ้น

โดยสามารถนำผลการวิจัยครั้งนี้ไปพัฒนาต่อยอดได้ ซึ่งทางคณะผู้วิจัยได้เสนอแนะเพิ่มเติมอาจประยุกต์ใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ชนิดอื่นหรือรูปแบบอื่นหรือการใช้ฮอร์โมนที่ได้จากพืชสมุนไพร เช่น กวาวเครือขาวเพื่อเร่งการพัฒนาอวัยวะสืบพันธุ์ โดยให้ฮอร์โมนในระยะเวลาและปริมาณที่เหมาะสมประกอบกับการให้อาหารตามธรรมชาติเสริม เช่น สาหร่ายไก และสาหร่ายไฟ หรืออาหารสมทบ เช่น ระดับโปรตีน วิตามิน หรือกรดไขมัน

นอกจากนั้นควรมีการรักษาคุณภาพที่ดีของปลาบึกไว้โดยการคัดเลือกพันธุ์และปรับปรุงพันธุ์และเพื่อผลักดันให้เกิดระบบการเลี้ยงและการผลิตลูกปลาบึกที่ยั่งยืนเชิงพาณิชย์ได้ต่อไป

อย่างไรก็ตามแนวอนุรักษ์ "บึก" ของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ก็ยังมีอย่างต่อเนื่องในการพัฒนาองค์ความรู้สู่น่านน้ำไทย โดยไม่นานมานี้ มีการเสวนาวาระพิเศษเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการด้านปลาบึกหัวข้อ "แนวทางความเป็นเลิศด้านวิชาการปลาบึกเพื่ออุตสาหกรรมที่ยั่งยืน" มีผู้ร่วมเสวนามากมายอาทิ รศ.ดร.เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์ ผู้ประสานงานอุตสาหกรรมเกษตรพืชและสัตว์น้ำ ดร.จรัล ไชยองค์การ ผู้อำนวยการบริษัทจรัลฟาร์ม ดร.สนพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ รองกรรมการผู้จัดการบริหารวิจัยฯ สัตว์น้ำ ศ.ดร.อุทัยรัตน์ ณ นคร จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คุณชาญชัย ภู่รักษ์เกียรติ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด จ.พะเยา และ รศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เม่งอำพัน อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการประมงมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมด้วยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้กันอย่างมากมาย ณ ภาควิชาเทคโนโลยีการประมง คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

รศ.ดร.เกรียงศักดิ์ ได้เปิดเผยถึงสาเหตุที่ต้องเป็นเลิศวิชาการปลาบึกว่า เนื่องจากประเทศไทยได้เปรียบในการมีแหล่งทรัพยากรและมีองค์ความรู้มากกว่าประเทศอื่นๆ อีกทั้งผู้บริโภคมีความเชื่อว่าการบริโภคปลาบึกจะทำให้สุขภาพดี แข็งแรง หรือโชคดี

นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่เกี่ยวข้องกับประชาชนในหลายประเทศ รวมทั้งตลาดมีความต้องการลูกปลาบึกขนาด 3-5 นิ้ว ปีละประมาณ 5 แสนตัว มูลค่ากว่า 25 ล้านบาท ปริมาณการเลี้ยงปลาเป็นเนื้อตัวละ 20 กก. (3,000 บาท) มีมูลค่า 1,500 ล้านบาท ในด้านการท่องเที่ยวมีศักยภาพสูงในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การตกปลา และปลาสวยงาม

การเสวนาครั้งนี้ได้มีการรวบรวมผลการวิจัยเกี่ยวกับปลาบึกของนักวิจัยหลายท่าน พอสรุปได้ว่า การเลี้ยงปลาบึกในบ่อซีเมนต์ ทำให้เจริญเติบโตช้า เกิดการติดเชื้อราตามโคนครีบ เกิดการตายเป็นจำนวนมากแต่เกษตรกรส่วนใหญ่สนใจเลี้ยงมากในบ่อดินขนาดใหญ่ เช่น เป็นการเลี้ยงแบบผสมผสานร่วมกับกุ้งก้ามกรามและนิลแดง

อย่างไรก็ตามยังคงมีปัญหาด้านต้นทุนค่าอาหารและตลาดยังแคบ การศึกษาลักษณะปริมาณเนื้อและไขมันหากเปรียบเทียบระหว่างปลาบึกและบึกหวาย ปลาสวาย พบว่าปลาบึกมีปริมาณเนื้อและไขมันมากที่สุด การศึกษาความดกของไข่ และอัตราการฟัก พบว่า แม่ปลาบึก 1 ตัว มีไข่หลายกิโลกรัม ไข่ปลาบึกมีเม็ดกลมสีเหลืองอ่อน และจะฟักเป็นตัวหมดในเวลา 43 ชั่วโมง ในบ่อฟักจะเป็นตัวเร็วกว่าในกระชัง การศึกษาด้านการพัฒนาอวัยวะสืบพันธุ์และอายุปลาบึกจากแหล่งน้ำ จะเห็นได้ว่าปลาบึกเจริญเติบโตได้ดี ปลาอายุต่ำกว่า 13 ปี ยังไม่เจริญพันธุ์ และการศึกษาพยาธิในปลาบึกนั้นไม่พบเชื้อบัคเตรีแต่พบเชื้อราและเชื้อโปโตซัว และพบพยาธิน้อยมากในปลาขนาดใหญ่แต่จะพบมากในระยะอนุบาล

นอกจากนี้การเสวนายังหาแนวทางในการพัฒนาปลาบึกต่อไปในด้านการขยายช่องทางการตลาด เช่น การเพิ่มมูลค่าจากการแปรรูป การรับรองสายพันธุ์ปลาบึก ความลับทางการค้าและลิขสิทธิ์สายพันธุ์ การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลาบึก เพื่อสร้างสายพันธุ์สำหรับการเลี้ยงเชิงอุตสาหกรรม ระบบการผลิต การท่องเที่ยวเชิงนิเวศและการพักผ่อน รวมทั้งการจัดตั้งชมรมเครือข่ายปลาบึกหรือศูนย์ปลาบึก ในการเสวนานักวิจัยมีเสนอแนะว่าในเรื่องทั้งหมดดังกล่าวนั้นควรมีผู้รับผิดชอบ มีการวางแผนงานที่ดี ตลอดจนงบประมาณที่ควรได้รับการสนับสนุนต่อไป

ทางมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นสถาบันหนึ่งที่มีคณาจารย์และนักวิชาการยินดีที่จะเผยแพร่ความรู้ด้านวิชาการเพื่อการอนุรักษ์ปลาบึก โดยท่านที่สนใจสามารถสอบถามได้ที่ภาควิชาเทคโนโลยีการประมง คณะผลิตกรรมการเกษตร
มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ต.หนองหาร อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ โทรศัพท์ 0-5387-3470-2 ต่อ 106 โทรสาร 0-5349-8178 ต่อ 130 ในวันและเวลาราชการ
********************

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท