Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เครือข่ายองค์กรประชาชนตรังเปิดเวทีชำแหละนโยบายทรัพยากรยุคทักษิณ ฟันธงยกประเทศให้นายทุน ใช้ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ เป็นใบผ่านทาง

เครือข่ายองค์กรประชาชนตรัง ประกอบด้วย สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้ เครือข่ายป่าชุมชนรักษ์เทือกเขาบรรทัด เครือข่ายความร่วมมือฟื้นฟูชุมชนชายฝั่งอันดามัน และองค์กรพันธมิตร นักวิชาการ นักคิด นักเขียน กว่า 200 คน ร่วมสัมมนา " แกนประชาชนตรัง กรณีวิเคราะห์นโยบาย-แผนพัฒนา และข้อตกลงระหว่างประเทศของรัฐ กับผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น " เมื่อวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2548 ที่ผ่านมา ณ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ตรัง โดยมีการวิเคราะห์และแลกเปลี่ยนร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ ข้อตกลงเขตการค้าเสรี ( FTA ) ตลอดจนนโยบายเกี่ยวกับทะเล การประมง และการจัดการทรัพยากรป่า น้ำ และเหมืองแร่

วิทยากรประกอบด้วย วงศ์พันธ์ ณ ตะกั่วทุ่ง วุฒิสมาชิกจังหวัดพังงา, ชนิดา จรรยาเพศ โครงการศึกษาและปฏิบัติการงานพัฒนา(โฟกัส), เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ วิทยาลัยการจัดการสังคม, เปลื้อง คงแก้ว ประชาคมจังหวัดตรัง, หาญณรงค์ เยาวเลิศ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพันธ์พืชแห่งประเทศไทย, ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ เลขาธิการคณะกรรการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้, ศยามล ไกรยูรวงศ์ โครงการสร้างเสริมจิตสำนึกนิเวศวิทยา และวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี กองเลขาฯ สมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านภาคใต้

จากการพูดคุยแลกเปลี่ยนได้บทสรุปว่า นโยบายต่างๆ ที่นำมาวิเคราะห์ล้วนเชื่อมโยงและส่งผลกระทบต่อคนไทยในวงกว้าง ไม่จำกัดพื้นที่เพียงแค่จังหวัดตรัง โดยจะก่อให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรซึ่งเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกในปัจจุบันทวีความรุนแรงขึ้นในอนาคต เพราะได้เปลี่ยนสิทธิในทรัพยากรจากสิทธิส่วนรวม หรือสิทธิชุมชนเป็นสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิของรัฐ ชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นจึงถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงฐานทรัพยากรในชุมชนของตนเอง ขณะที่เปิดโอกาสให้นายทุนต่างพื้นที่เข้ามาใช้ทรัพยากรได้ง่ายและไม่จำกัด เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการส่งออก

นอกจากนี้ยังยกเลิกการสงวนทรัพย์สินทางปัญญา ภูมิปัญญาท้องถิ่น และพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ของไทย เช่น ข้าวหอมมะลิ ให้ชาวต่างชาติ หากนโยบายใดไม่สามารถประกาศใช้ในพื้นที่ใดได้ ก็สามารถนำพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษไปเป็นใบผ่านทาง ซึ่งสามารถประกาศใช้ได้ทั้งกิจการอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และการเกษตร โดยคนในพื้นที่จะไม่สามารถคัดค้านได้อีก

เครือข่ายองค์กรประชาชนตรังจึงมีมติที่จะติดตามนโยบายดังกล่าวต่อไป พร้อมทั้งนำไปเผยแพร่และแลกเปลี่ยนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อหารูปธรรมการเคลื่อนไหว และดำเนินการเรียกร้องให้รัฐบาลปรับเปลี่ยนนโยบาย ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต และความต้องการของชุมชนในอนาคต

เขตเศรษฐกิจพิเศษยกประเทศให้คนคนเดียว
วงศ์พันธ์ ณ ตะกั่วทุ่ง กล่าวถึง ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ ว่าเกิดจากแนวความคิดของนักธุรกิจที่ว่าการตั้งนิคมอุตสาหกรมต้องผ่านหลายหน่วยงาน และติดกรอบกฎหมายหลายฉบับ ทำให้ล่าช้าและยุ่งยากในกระจัดการ จึงเสนอให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปรับ พ.ร.บ.การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาเป็นกฎหมายดังกล่าว โดยคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการแล้วเมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา

ขั้นตอนการออกกฎหมายดังกล่าวไม่ชอบมาพากล เพราะนำเข้าวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีในช่วงที่รัฐบาลกำลังรักษาการณ์ อีกทั้งการร่างและพิจารณากฎหมายวนเวียนอยู่ในคนกลุ่มเล็กๆ ทั้งๆ ที่กฎหมายดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง โดยในพื้นที่พิเศษนั้นกฎหมายรัฐธรรมนูญหลายมาตรา รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ เช่น กฎหมายสิ่งแวดล้อมไม่สามารถบังคับใช้ได้ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวจะถูกยกให้ผู้ว่าการเขตเศรษฐกิจพิเศษมีอำนาจเบ็ดเสร็จด้านบริหารทั้งหมด ไม่ต้องขึ้นต่อผู้ว่าฯ ซีอีโอ หน่วยงานรัฐทุกกระทรวง รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และยึดอำนาจด้านตุลาการบางส่วน

" นอกจากนี้ยังมีอำนาจด้านเศรษฐกิจทั้งหมด ยกเว้นกิจการด้านโทรคมนาคม การจัดเก็บภาษีก็ขึ้นอยู่กับผู้ว่าการฯ จะเก็บอย่างไรหรือไม่เก็บก็ได้ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่มีสิทธิเรียกร้องรายได้ในส่วนนี้ การนำคนหรือสินค้าเข้ามาหรือเอาออกไปก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ว่าการฯ ทั้งหมด อาจมีปัญหาอพยพคนในพื้นที่ออกไป แล้วนำแรงงานต่างด้าว หรือสารพิษอันตรายเข้ามา แม้แต่ผู้ว่าการฯ เองก็อาจจะเป็นชาวต่างชาติก็ได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาว่าจ้างของคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน "

ส.ว. จ.พังงา ตั้งข้อสังเกตอีกว่าร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษไม่ได้ระบุว่าจะประกาศใช้ในพื้นที่ใด จึงเป็นกฎหมายครอบจักรวาลที่รัฐบาลจะประกาศใช้เพื่อกิจการใด ในพื้นที่ไหนก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่นโยบายที่มีกระแสคัดค้านอย่างหนัก เช่น การปลูกพันธุ์พืชตัดแต่งพันธุกรรม ( GMOs ) จึงไม่อยากให้กฎหมายนี้เข้าสู่สภา เพราะประเทศจะตกเป็นของคนๆ เดียว

ด้านศยามล ไกรยูรวงศ์ กล่าวว่า การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษจะใช้เวลาเร็วมาก เพียงแค่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี พื้นที่ภาคใต้ที่อาจจะประกาศใช้เขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น เขตเศรษฐกิจปีนัง-สงขลา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่องใน จ.สงขลา นอกจากนี้ยังมีพื้นที่โครงการสะพานเศรษฐกิจ(แลนด์บริดจ์) ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ จ.พังงา ภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช

เอ็ฟทีเอเอื้อต่างชาติ-คนไทยเสียเปรียบ
ด้านนโยบายเปิดการค้าเสรี หรือเอ็ฟทีเอ ชนิดา จรรยาเพศ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาข้ออ้างถึงผล
ประโยชน์ที่ได้ของกระทรวงพาณิชย์ 4 ข้อที่ว่า จะสร้างพันธมิตรทางเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการ ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และเพิ่มปริมาณการส่งออก พบว่าเป็นไปไม่ได้

เนื่องจากการแข่งขันของเอ็ฟทีเอจะทำลายผู้ผลิตของอีกประเทศ เช่น การเปิดการค้าเสรี ไทย-จีน ทำให้เกษตรกรไทยนับแสนราย โดยเฉพาะคนที่ปลูกหอมกระเทียม ต้องขาดทุนอย่างหนัก เรื่องการเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการก็เป็นไปได้ยาก เพราะต้องตะเกียกตะกายกันเอาเอง นอกจากนี้การเพิ่มปริมาณการส่งออกอย่างเอาเป็นเอาตายจะทำให้เกิดการแย่งชิงทรัพยากรกันอย่างรุนแรง

ทำนายอนาคตแย่งป่า-น้ำกันดุเดือด
ส่วนนโยบายการจัดการป่า เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กล่าวว่า นโยบายเกี่ยวกับป่าที่บังคับใช้ในรอบหลายปีที่ผ่านมาไม่สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้ เมื่อภาคเหนือต้องสูญเสียพื้นที่ป่าถึงปีละ 3 ล้านไร่ จึงเกิดแนวคิดฟื้นฟูสภาพป่า โดยอพยพคนออกจากป่า แม้แต่คนที่อยู่กับป่ามาหลายสิบปี ทำให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้กับชาวบ้านต้องทะเลาะกันมาตลอด

ขณะเดียวกันก็มีนโยบายจัดแบ่งที่ดินทำกิน เช่น นโยบายปฏิรูปที่ดิน สทก. ทำให้มีการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้น ตอนนี้มีนโยบายหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ พิจารณาดูแล้วไม่อาจแก้ปัญหาดังกล่าวได้ และจะทำให้ชุมชนในเขตป่ากับเจ้าหน้าที่รัฐต้องทะเลาะกันหนักกว่าเดิม ทางออกของประชาชนคืออย่าหยุดผลักดันร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชน และสร้างป่าชุมชนเพิ่มขึ้น

ด้านนโยบายการจัดการน้ำ หาญณรงค์ เยาวเลิศ กล่าวว่า รัฐบาลมีแผนสร้างเขื่อนและฝายในทุกแหล่งน้ำทั่วประเทศ ในส่วนของแหล่งน้ำแหล่งเล็กๆ กำลังถูกทำลาย จากการขุดลอกห้วยหนองคลองบึง ส่งผลให้ป่าพรุ ป่าชายคลอง พืชผัก และสัตว์น้ำตาย เช่น ที่ลุ่มน้ำปากพนัง มีการขุดลอกคูคลอง และขุดป่าจากริมคลอง ทำให้กรดกำมะถันในดินปนเปื้อนในแหล่งน้ำ กุ้งหอยปูปลาในคลองต้องตาย เมื่อสูบน้ำเข้านากุ้งเกษตรกรขาดทุน

แหล่งน้ำในชุมชนจึงถูกแย่งไปใช้ในภาคธุรกิจ มีการสัมปทานแหล่งน้ำสาธารณะกันมากขึ้น ปัญหาการแย่งชิงน้ำจะดุเดือดขึ้น ชาวบ้านต้องซื้อน้ำทั้งน้ำกินน้ำใช้ แต่แม้จะได้น้ำจากชุมชนไปหลายพื้นที่ แต่น้ำก็ยังไม่พอใช้ มีนโยบายผันน้ำข้ามประเทศ เพราะการสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต้องการใช้น้ำในปริมาณมาก

ร้องรัฐเลิกมองทะเลเป็นที่จับปลา
สำหรับนโยบายเกี่ยวกับทะเล ภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ กล่าวว่า การจัดการทะเลของมีปัญหา เนื่องจากรัฐบาลมองทะเลเป็นที่จับปลา เป็นพื้นที่รองรับน้ำเสียจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเชื่อว่าปัญหาการทำลายทะเลเกิดจากมีชาวประมงจำนวนมากขึ้นแย่งกันจับสัตว์น้ำที่มีจำนวนน้อยลง โดยมักจะโทษชาวประมงพื้นบ้าน ทั้งๆ ที่พวกเขาที่มีมากถึงร้อยละ 92 จากชาวประมงทั้งหมด จับสัตว์เพียงร้อยละ 12 จากปริมาณทั้งประเทศ

การคิดให้ไกลถึงลูกหลานต้องมองทะเลเป็นทะเล ซึ่งมากด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นพื้นที่สำคัญของการรักษาสมดุลทางนิเวศวิทยาของโลก และเป็นแหล่งอาหารสำคัญของพลเมืองไทยและคนจน หากยังแก้ปัญหาโดยส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการประมงในทะเลหลวงกับทะเลของประเทศอื่น จะยิ่งทำลายทะเล

วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี กล่าวว่า จากแนวคิดแก้ปัญหาทะเลโดยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รัฐบาลได้ออกนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุนทางทะเล (ซีฟู้ดแบงค์) ซึ่งจะออกใบอนุญาตการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และนำใบอนุญาตไปกู้สถาบันการเงินเพื่อนำเงินมาลงทุนเพาะเลี้ยง การขอกู้จะถูกกำกับโดยองค์กรสะพานปลา ทำเป็นฟาร์มครบวงจร หากผู้ได้รับอนุญาตขาดทุน จะถูกประเมินสาเหตุและทรัพย์สินที่เหลือ และยึดใบอนุญาต ถ่ายโอนให้คนอื่น น่าเป็นห่วงที่แม้การถือครองพื้นที่ในทางกฎหมายจะไม่ให้มีการซื้อขาย แต่ในทางปฏิบัติจะมีผู้ถือครองรายใหญ่เหมือนกับปัญหาที่ดิน สุดท้ายก็ตกไปเป็นของนายทุนรายใหญ่

บัณฑิตา อย่างดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net