Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ตอนที่ 1
เศรษฐศาสตร์-วัฒนธรรม: 2 มิติในการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น

การเดินทางของเวลาไม่เคยโดดเดี่ยว เช่นเดียวกับการเดินทางของความคิด ที่มักจะมีความแตกต่างหรือมีแนวคิดที่สวนทางเป็นเพื่อนอยู่เสมอ สำหรับการคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมพื้นบ้านของไทยก็เช่นเดียวกัน ได้ปรากฏสิ่งที่น่าสนใจบนทางคู่ขนานระหว่างเศรษฐศาสตร์กระแสหลักกับวัฒนธรรมแนวอนุรักษ์ ซึ่งกำลังร่วมทางเดินเดียวกัน

เศรษฐศาสตร์ค้ำจุนภูมิปัญญาท้องถิ่น
"บทบาททางเศรษฐศาสตร์อาจไม่เกี่ยวข้องในด้านจิตวิญญาณ แต่ด้านวัตถุ หลักเศรษฐศาสตร์อาจช่วยได้" ท่านผู้หญิง ดร.สุธาวัลย์ เสถียรไทย สถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม เกริ่นนำในการบรรยายพิเศษเรื่อง "การคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมพื้นบ้านในมิติด้านเศรษฐศาสตร์" ณ กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อเร็วๆ นี้

หลายคนคงแปลกใจว่าระหว่างเศรษฐศาสตร์กับแนวคิดคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น (Traditional Knowledge-TK) และวัฒนธรรมพื้นบ้าน (Folklore-Fl) นั้น มีส่วนเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกันอย่างไร ในเมื่อหลักคิดทั้งสองนั้นสวนทางกันมาตลอด ทั้งนี้ ดร.สุธาวัลย์ ได้นำเสนอแง่มุมในมิติที่น่าสนใจ

เมื่อเศรษฐศาสตร์กระแสหลักมีวัตถุเงินทองนำมาซึ่งความสุข แต่ในทางปรัชญามุ่งหมายถึงการมีความสุขสงบทางใจมากกว่า แล้ววิถีทางเศรษฐศาสตร์จะเข้ามาก็มีส่วนไปด้วยกันได้อย่างไร ดร.สุธาวัลย์ ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า "สุขภาพความสวยความงาม คนมีความพอใจที่จะจ่ายเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขจากสิ่งเหล่านี้ เศรษฐศาสตร์จึงนำมาเกี่ยวข้องได้"

ดร. สุธาวัลย์ อธิบายต่อว่า ตามหลักเศรษฐศาสตร์ มูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับดีมานด์ซับพลายด์ รวมถึงการเข้าถึงสินค้าหรือทรัพยากรต่างๆ ว่าง่ายหรือยาก สำหรับวัฒนธรรมท้องถิ่น (FL) และภูมิปัญญาพื้นบ้าน (TK) ถ้าอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ใครๆ ก็สามารถเข้าไปใช้ได้ ซึ่งบางครั้งทำให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจลดลง

ทั้งนี้ เป้าหมายหลักของการคุ้มครองวัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญาพื้นบ้าน คือการอนุรักษ์เพื่อให้สาธารณะเข้าถึงและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ทำอย่างไรให้ชุมชนท้องถิ่นผู้เป็นเจ้าของจะได้รับผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม บ้างเป็นเรื่องเฉพาะส่วนบุคคลหรือชุมชน บ้างก็อาจมีเฉพาะพื้นที่นั้นๆ หรือบางครั้งก็อยู่ในพื้นที่สาธารณะสามารถใช้ประโยชน์ได้ทั่วไป

นอกจากนี้ ดร.สุธาวัลย์ ยังเพิ่มเติมว่า "80%ของพืชสมุนไพรที่นำมาใช้ตรงกับท้องถิ่นที่ใช้กันอยู่แล้ว แต่ได้นำมาผลิตเป็นยาแผนปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจากการไปสืบค้นภูมิปัญญาต่างๆ แล้วมาใช้เทคโนโลยีสกัดศึกษา นั่นชี้ให้เห็นว่าเราพัฒนามาจากสิ่งที่มีอยู่แล้วไม่ใช่เริ่มจากศูนย์"

"เราจะเห็นว่าบริษัทยาต่างๆ ได้กำไรมหาศาล แต่ภูมิปัญญาท้องถิ่นกลับไม่ได้รับการตอบแทน ประโยชน์ตรงนั้นเลย ดังนั้นการเข้าถึงง่ายอาจมีการใช้ประโยชน์เกินความสามารถที่เจ้าของดั้งเดิมจะผลิตขึ้นมาได้" ประธานสถาบันธรรมรัฐฯ กล่าว

สำหรับข้อเสนอของ ดร.สุธาวัลย์ คือ จำเป็นต้องทำให้เกิดความสมดุลระหว่างผลประโยชน์กับการอนุรักษ์ ต้องมีกรอบกติกาที่เหมาะสมในการจัดการเกี่ยวกับ ทั้งที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะและในสิทธิส่วนบุคคล การมองด้านเศรษฐกิจทุกคนต่างคิดจะได้ผลประโยชน์ ซึ่งถ้าหากเปิดวัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญาพื้นบ้าน สู่พื้นที่สาธารณะทั้งหมด ก็มีโอกาสที่ทรัพยากรเหล่านั้นจะเสื่อมสลายไป

ขณะเดียวกัน ดร.สุธาวัลย์ ยกตัวอย่างข้อดีของป่าชุมชน ว่า "ชาวบ้านจะร่วมกันอนุรักษ์และแบ่งปันผลประโยชน์กันภายในชุมชน โดยจะมีวิธีการรักษาผลประโยชน์ มีกติกาที่ชัดเจน ทำให้ความรู้อยู่ในชุมชน และสามารถรักษาคุ้มครองป่าไว้ได้"

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือ การทำให้สังคมได้รับประโยชน์ โดยจำเป็นต้องหาสมดุลระหว่างการจัดการภายใน และการแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ทำลายทรัพยากร ถ้าหากจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านรายได้ก็ต้องมีการแข่งขันด้านการลงทุนทางทรัพยากรเกิดขึ้นด้วย ซึ่งผลที่ตามมาจากแนวคิดทางมิติด้านเศรษฐศาสตรนี้จะเกิดผลดีหรือไม่อย่างไร คงต้องหาคำตอบกันต่อไป

มิติการพัฒนาจากรากทางวัฒนธรรม
"ภูมิปัญญาคือเทคโนโลยีที่บรรพชนคิดค้นขึ้นมา อย่างสถาปัตยกรรมไทย ก็คือสิ่งที่เราคุ้มครอง ส่วน ข้าว ก็คือภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ในสิ่งนั้นเอง" เรวดี สุกลพาณิชย์ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม กล่าวในเวทีเดียวกัน

ทั้งนี้ เรวดี ชี้แจงว่า วัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญาพื้นบ้านก็คือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและนำไปสู่การพัฒนา เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ชีวิตจนเกิดเป็นภูมิปัญญาขึ้น ดังนั้นภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงหนีไม่พ้นมิติด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม โยงใยซึ่งกันและกัน

สำหรับมุมมองด้านวัฒนธรรม การพัฒนาเปรียบเหมือนต้นไม้ต้นหนึ่ง ซึ่งรากแก่นคือวัฒนธรรมที่มาจากบรรพบุรุษ ลำต้นคือกระบวนการศึกษาพัฒนาต่อยอดเป็นกิ่งใบ ถ้าหากมีการรักษาบำรุงอย่างดี ดอกผลที่ได้ก็จะเป็นทรัพย์สินผลประโยชน์ ซึ่งคนที่ฉกฉวยไปก็ต้องมีสิ่งตอบแทนให้

"เราคงไม่สำรวจวัฒนธรรมโดยไม่ทำอะไรเลย แต่จะใช้หลักเน้นการพัฒนาซึ่งเป็นสิ่งที่คิดขึ้นมาโดยอาศัยฐานรากเดิม ดังนั้นการอนุรักษ์จึงไม่ขัดขวางการพัฒนา ทั้งยังคุ้มครองคนไทยที่เป็นผู้คิดพัฒนาสร้างสรรค์ด้วย" เรวดี เสนอมุมมอง

อย่างไรก็ตาม ทั้งมิติด้านเศรษฐศาสตร์และมุมมองด้านวัฒนธรรม ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการพัฒนาเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งการออกกฎหมายคุ้มครองวัฒนธรรมท้องถิ่นและภูมิปัญญาพื้นบ้าน ที่หลายฝ่ายกำลังร่วมกันเสนอแนะเพื่อเป็นจุดหมายปลายทางนั้น ยังมีสิ่งที่ยากยิ่งกว่า นั่นคือเส้นทางของกระบวนการ ซึ่งต้องอาศัยแรงผลักและการสนับสนุนด้วยความจริงใจ

ธิติกมล สุขเย็น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net