Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"ประชาธิปไตยจะไม่มีทางเป็นจริงได้เลย ตราบเท่าที่คนส่วนใหญ่ ยังไม่มีสิทธิเสรีภาพเพราะฉะนั้น ไม่ว่ารัฐ จะออกกฎหมาย ให้คำอธิบายเรื่องสิทธิมนุษยชนกันอย่างไร ถ้าไม่ได้เข้าถึงชีวิตของคนจริงๆ ก็ยากที่จะแก้ไขได้ ดังนั้นต้องเริ่มต้นที่ตัวประชาชนเองและรัฐบาลจะต้องฟังเสียงของสิทธิชุมชนด้วย ที่สำคัญ จะต้องมีเครือข่ายสิทธิมนุษยชนชุมชนที่เข้มแข็ง" ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าว

เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ ห้องวชิรธาร โรงแรมฮอลิเดย์การ์เด้น จ.เชียงใหม่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสช.) ได้มีการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม และติดตามสิทธิทางเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม โดยได้เชิญเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนในเขตภาคเหนือ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนก่อนหาแนวทางการสร้างเครือข่ายสิทธิมนุษยชนในระดับชุมชน

กลุ่มชาวบ้านที่เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการในด้านสิทธิมนุษยชนในครั้งนี้ ได้มีการแยกเป็น 5 กลุ่มประเด็นปัญหา คือกลุ่มปัญหาในด้านสัญชาติและสถานะบุคคล กลุ่มปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติ กลุ่มปัญหาสิทธิชุมชน กลุ่มปัญหาที่เกิดจากนโยบายของรัฐ และกลุ่มเครือข่ายสิทธิ

จากรายงานการศึกษา สถานการณ์สิทธิมนุษยชน จากมุมมองของประชาชน ที่ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม ได้นำเสนอต่อ คณะอนุกรรมการประสานงานด้านสังคม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้สรุปเอาไว้ว่า ปัญหาความขัดแย้งรุนแรงต่างๆ ในสังคม มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ทั้งการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐในทางที่มิชอบ

ประกอบกับอิทธิพลในระดับท้องถิ่น ได้เป็นปัญหาหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดความรุนแรงดังกล่าวในทุกพื้นที่ กระบวนการยุติธรรม ซึ่งถือว่าเป็นความหวังและที่พึ่งของประชาชน กลับไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กลับกลายเป็นปัญหาที่ฉุดรั้งการมีส่วนร่วมในกระบวนการประชาธิปไตย การกระจายทรัพยากร ความมั่งคั่ง และความเจริญสู่ท้องถิ่น

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในสังคมไทย ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีแนวโน้มที่รุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงปี 2546-2547 ที่มีอัตราการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากแนวนโยบายและการปฏิบัติการของรัฐที่พุ่งขึ้นสูงอย่างน่าหวาดหวั่น โดยเพียงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง เดือนเมษายน พ.ศ.2546 มีการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากมาตรการ "ปราบปรามยาเสพติดอย่างถอนรากถอนโคน" กว่า 2,500 ราย

โดยที่รัฐบาลเอง ก็ยังไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดตัวเลข ที่ไปที่มา สาเหตุที่ชัดแจ้ง และยังไม่มีการดำเนินการสืบสวน สอบสวนและขยายผลเป็นรูปธรรมต่อไปแต่อย่างไร

นับเป็นคำถามที่ประชาคมโลก ให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าประชาชนไทยส่วนใหญ่ ดูเหมือนเห็นดีด้วยต่อการสูญเสียจำนวนมากมายเช่นนี้ และการปราบปรามและการสูญเสียได้ผ่านพ้นไปกว่า 2 ปีแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ การสูญเสียจากกรณีความขัดแย้ง ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นับแต่ต้นปีเป็นต้นมา ได้ทวีความรุนแรงและจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐยังไม่สามารถคลี่คลายปัญหาดังกล่าวลงไปได้แต่อย่างใด กลับทวีความรุนแรงมากขึ้น

นับเป็นสถานการณ์ที่มีความขัดแย้งรุนแรงมากที่สุด ในรอบ 40 ปี ก่อให้เกิดความสะเทือนใจ สูญเสียความมั่นใจในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างกว้างขวาง

ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้กล่าวปาฐกถา ในหัวข้อ" คุณภาพชีวิตกับสิทธิมนุษยชนในการพัฒนา" เอาไว้ว่า คนทุกคนจะต้องเข้าใจปัญหาของสิทธิ เพราะปัญหานั้นมีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในด้านประวัติศาสตร์ ศาสนา ประเพณี วัฒน
ธรรม และธรรมชาติ

ดังนั้น ต้องเข้าใจในความแตกต่าง และเคารพในความแตกต่างของแต่ละคน เพราะปัญหาโลกทุกวันนี้ ยังไม่เข้าใจในเรื่องสิทธิอย่างแท้จริง คือการใช้สิทธิของตนเอง แต่กลับไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น

"ทุกวันนี้ เราอยู่ภายใต้ธรรมชาติ 2 อย่าง คือ เราอยู่ภายใต้กฎระเบียบในสังคม ทำให้ทุกคนต้องอยู่จำอยู่กับอำนาจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำอย่างไรจะให้กฎหมายกับอำนาจมีความสมดุลกัน เพราะประชาธิปไตยทุกวันนี้ เป็นประชาธิปไตยที่จอมปลอม ประชาธิปไตยที่แท้จริง จะต้องเอา สิทธิ เป็นสิ่งเบื้องต้น ไม่ใช่เอา อำนาจ เป็นใหญ่" ศ.เสน่ห์ กล่าว

ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังกล่าวอีกว่า ประวัติศาสตร์ไทยเมื่อก่อนเป็นของนายพล แต่ตอนนี้เป็นของกลุ่มนายทุน รวมทั้งนายทุนต่างชาติที่เข้ามากลุ้มรุมแย่งเอาทรัพยากร
ธรรมชาติในขณะนี้ และเวลานี้ เศรษฐกิจโลก มาถึงจุดที่ไม่ต้องมีการรีดไถ คอรัปชั่นเพียงเท่านั้น แต่เป็นยุคระบบทุนนิยมสามารถเข้ามายึดทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรท้องถิ่นของประชาชน เพราะฉะนั้น ทุกคนจะต้องเข้าใจถึงภาวะเศรษฐกิจโลกด้วย เพราะล้วนกระทบต่อชีวิต สิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น

"สิทธิท้องถิ่น สิทธิชุมชน ไม่ใช่เพียงแค่หย่อนบัตรเท่านั้น แต่ทุกคนจะต้องเรียนรู้สิทธิเพื่อตัวเอง ไม่ใช่ว่ารอให้เขามาช่วยเรา 1 บาท แต่ปล่อยให้เขามาล้วงเอาเราไป 10 บาท โดยเฉพาะนโยบายแปลงสินทรัพย์เป็นทุน มีการนำที่สาธารณะประโยชน์ มาออกโฉนด มาแปลงแบ่งขาย เป็นเรื่องน่ากลัว ระวังให้ดี อาจจะเป็นกับดัก ชาวบ้านอยู่ได้ไม่นาน นายทุนต้องเข้ามาล้วงเอาไปหมด ฉะนั้น ประชาชนอย่าเห็นแก่ได้ในวันนี้ แล้วไปสูญเสียในวันหน้า" ศ.เสน่ห์ กล่าวบอกกลุ่มชาวบ้านที่กำลังได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐ

การจัดสัมมนาในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาและยกระดับสิทธิมนุษยชน โดยการประมวลเอาปัญหา ประสบการณ์ของประชาชนในทุกกลุ่ม ทุกภูมิภาคในประเทศ มาใช้ในกระบวนการศึกษา เพื่อแสวงหาเครือข่ายพันธมิตรเพื่อการป้องกันและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เพื่อเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ และสร้างเสริมศักยภาพของชุมชน สร้างวัฒนธรรมสิทธิมนุษยชน ให้เป็นฐานสำคัญในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองในอนาคต

ศ.เสน่ห์ กล่าวอีกว่า จำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องมีเครือข่ายสิทธิที่เข้มแข็ง ซึ่งหลังจากที่มีการจัดสัมมนาระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ครบทุก 4 ภาค เสร็จสิ้นแล้ว เราจะมีการจัดเวทีกลาง ที่กรุงเทพฯ ในระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม นี้ เพื่อเสนอแลกเปลี่ยน สร้างเป็นเครือข่าย เป็นสมัชชาสิทธิมนุษยชนชุมชน ต่อไป" ศ.เสน่ห์ บอกเล่าถึงเป้าหมาย

"ปัญหาสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนี้ เป็นปัญหาที่รัฐบาลจะต้องคำนึงถึงว่า เป็นปัญหาที่สำคัญ เป็นปัญหาที่เกี่ยวโยงต่อการลงทุนทางเศรษฐกิจ การลงทุนทางสังคม ซึ่งเห็นได้ว่า หลายประเทศกำลังจ้องมองดูรัฐบาลไทยอยู่ว่า ปัญหาสิทธิมนุษยชนรุนแรงเพียงใด และอาจจะมีผลกระทบต่อการลงทุนทางเศรษฐกิจ หรืออาจถอนตัวไป" ศ.เสน่ห์ กล่าวย้ำและยืนยันในตอนท้าย

รายงานพิเศษ
องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net