Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 3 มิ.ย.48 การประชุมเพื่อพิจารณาการจัดซื้อเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด ซีทีเอ็กซ์ 9000 ของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องการทุจริต วุฒิสภา ได้เริ่มขึ้นตามปกติ แม้นายสุริยะ จึงรุ่งเรื่องกิจ รมว.คมนาคมจะไม่ได้เข้าร่วม โดยโทรศัพท์แจ้งว่าติดประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

นายพนัส ทัศนียานนท์ หนึ่งในกรรมาธิการฯ ตั้งข้อสังเกตว่า ในรายงานไตรมาสแรกของบ.อินวิชั่น เทคโนโลยีส์ จำกัด เจ้าของเครื่องตรวจวัตถุระเบิดซีทีเอ็กซ์ 9000 ซึ่งยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ของสหรัฐนั้นระบุชัดเจนว่ามีประสิทธิภาพสู้เครื่องตรวจวัตถุระเบิดยี่ห้อแอลสามไม่ได้ และรายงานนี้เสนอก่อนที่บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) จะทำสัญญาซื้อเครื่องและระบบสายพานกับบ.ไอทีโอ จอยเวนเจอร์ จำกัด จึงเป็นเรื่องน่าแปลกว่าทำไมไม่มีการตรวจสอบข้อมูลเสียก่อน โดยเฉพาะบริษัท เคจ อิงค์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของ บ.ไอทีโอฯ

ทั้งนี้ บทม.ได้ซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์ 9000 ของบ.อินวิชั่นฯ จำนวน 26 เครื่อง เป็นเงินราว 2,600 ล้านผ่านนายหน้าคือบ.ไอทีโอฯ ซึ่งสั่งซื้อจากผู้จัดจำหน่ายของบ.อินวิชั่น คือ บ.แพทริออต บิสซิเนส คอนเซาท์แตนท์ จำกัด อีกชั้นหนึ่ง

นายพนัสกล่าวด้วยว่า แม้แต่เครื่องซีทีเอ็กซ์ของบ.อินวิชั่นฯ เองก็มีหลายรุ่น และหลังจากบมท.อนุมัติงบประมาณเพื่อซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์ 9000 ในเดือนมิ.ย.46 เดือนถัดมาทางบ.อินวิชั่นก็ออกจดหมายข่าวระบุว่า กำลังจะผลิตเครื่องซีทีเอ็กซ์1000 ซึ่งราคาถูกกว่า ขนาดเล็กกว่า และมีข้อจำกัดน้อยกว่าเครื่องรุ่น 9000 แต่ปรากฏว่าในกระบวนการตัดสินใจจัดซื้อจัดจ้าง บ.ควอเตอร์เทค จำกัด ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของบทม. ไม่มีการนำข้อมูลใดๆ มาเปรียบเทียบ่ใดๆ เลย ซึ่งสิ่งที่จะตามมาคือค่าซ่อมบำรุงตลอดชีวิตจำนวนมหาศาล เพราะเป็นระบบเก่าที่ใหญ่โตมโหฬาร

"ตามปกติของการจัดซื้อจัดจ้าง บริษัทต้องนำเสนอเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาอยู่ด้วย เพื่อให้คนซื้อสามารถตัดสินใจได้ดีที่สุด ตอนนี้จึงกลายเป็นว่าเราได้เครื่องซีทีเอ็กซ์ที่ล้าสมัยถึง 26 เครื่อง" น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ หนึ่งในกรรมาธิการกล่าว

นายพนัสกล่าวสรุปว่า กรณีนี้เป็นการเพิ่มส่วนต่าง โดยสร้างตัวละครเป็นบริษัทต่างๆ ที่อุปโลกน์ขึ้นมา ซึ่งถ้าหาหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าเป็นเรื่องที่รู้กันวางแผนร่วมกันระหว่างแพทริออต ไอทีโอ บทม.ก็ถือว่าเป็นนิติกรรมอำพรางตกเป็นโมฆะ ซึ่งบทม.ก็ต้องเรียกคืนเงินค่าเครื่องตรวจระเบิดจากบ.ไอทีโอฯ นอกจากนั้นเป็นเรื่องที่เอกชนต้องไปไล่เบี้ยกันเอง เพียงแต่ขณะนี้ไม่มีข้อมูลว่าเงินที่บทม.จ่ายไป 2,900 ล้านบาท นำไปซื้อเครื่องหรือไม่ ถ้าไปทำอย่างอื่นในระบบติดตั้ง ที่มีสัญญาถูกต้องก็ว่ากันไป

พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ประธานกมธ.ฯ ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า บทม.ชี้แจงว่าต้องปรับขยายแผนรองรับผู้โดยสารเกี่ยวกับสถานที่อำนวยความสะดวก และเครื่องตรวจสอบวัตถุระเบิด เนื่องจากมั่นใจว่าผู้โดยสารจะเพิ่มจากเดิม 30 ล้านคน/ปี เป็น 45 ล้านคน/ปี โดยแต่เดิมนั้น
บทม.ต้องการให้บ.เมอร์ฟี่ ชาห์นแทมป์แอนด์แอค (เอ็มเจทีเอ) เป็นผู้ออกแบบระบบตรวจระเบิดในวงเงิน 1,530 ล้าน แต่ต่อมาในการประชุมคณะกรรมการบริหารกลับบอกเลิกสัญญาและเปลี่ยนมาให้บ.ไอทีโอฯ ซึ่งเสนอราคา 4,500 ล้านแทน โดยให้เหตุผลว่าการออกแบบของบ.เมอร์ฟี่ ชาห์นฯ ใช้เวลานานเกินไป อาจไม่ทันเปิดสนามบิน

"ทั้งที่เมอร์ฟี่ ชาห์นเสนอราคาต่ำกว่ามาก และเป็นมืออาชีพมีผลงานมาที่สุดในโลก อยากรู้ว่าทำไม บทม.จึงเป็นมาเป็นไอทีโอ" พล.ต.อ.ประทินกล่าว

ขณะที่คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ที่ปรึกษากมธ.เสนอว่าควรมีการตรวจสอบแผนแม่บทในการขยายการรองรับผู้โดยสารเป็น 45 ล้านคน/ปีของบทม. เพราะโดยปกติประเทศพัฒนาแล้วจะไม่ทำ นอกจากอาจจะต้องการเงินก้อนใหญ่ในการจัดซื้อ อีกทั้ง กมธ.ควรเรียกเอกสารทั้งหมดของบริษัทที่ปรึกษาของบทม.มาตรวจสอบว่ามีการดำเนินการเช่นไร เหตุใดจึงไม่ให้ข้อมูลที่รอบด้านแก่บทม.ซึ่งต้องมีทีมทำงานเฉพาะซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านนี้

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้คุณหญิงจารุวรรณ จัดตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อศึกษาด้านสัญญาต่างๆ โดยเฉพาะเพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของกมธ.ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net