Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.2548 ที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมอาคารรวมวิจัยและบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการประชุมเวทีสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดทำกรอบสำหรับการวางแผนในการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2550-2554 ใน 5 ปีข้างหน้า โดยมีนักวิชาการ องค์กรหน่วยงานภาครัฐและเอกชน พร้อมเครือข่ายประชาชนภาคเหนือเข้าร่วมและเปลี่ยนความคิดเห็นกันด้วยความคิดเห็นที่หลากหลาย

ดร.ประสิทธิ์ ลีประชา นักวิชาการ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องคนกับป่า ได้เริ่มปะทุขึ้นรุนแรงมาตั้งแต่ปี 2534 ล่าสุด การอพยพคนออกจากป่าของชาวบ้าน ที่ จ.สุพรรณบุรี ก็ยังไม่ได้มีมาตราการในการแก้ไขแต่อย่างใด และเมื่อสำรวจดูชุมชนบนพื้นที่สูง ตั้งแต่เชียงใหม่ยาวไปถึง น่าน พบว่า บางพื้นที่ เจ้าหน้าที่รัฐยังพยายามเข้าไปจัดการปลูกป่าในพื้นที่ไร่และสวนผลไม้ของชาวบ้าน ที่รุนแรงที่สุด ก็คือ มีการเข้าไปตัดโค่นไม้ผล รื้อบ้านของชาวบ้าน ซึ่งถือว่ารัฐยังใช้นโยบายวิธีคิดแบบเดิมๆ อยู่

"ขณะนี้ ก็มีหลายกลุ่มได้พยายามช่วยกันแก้ไขปัญหา พยายามมีการผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชน แต่ทุกวันนี้ ก็ยังไม่ค่อยได้รับความสนใจ จนชาวบ้านต้องหันมาจัดการดูแลกันเอง โดยนำจารีต ความเชื่อ พิธีกรรมมาปรับใช้ในการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่า จัดการดูแลป่าต้นน้ำ ปล่อยให้มีการฟื้นฟูตามธรรมชาติ เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีความหลากหลายความคิดความเชื่อกันอยู่แล้ว" ดร.ประสิทธิ์ กล่าว

ดร.ประสิทธิ์ ได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเอาไว้ คือ ต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด นโยบาย และออกกฎหมายรองรับสิทธิในการจัดการโดยชุมชน และที่อยากให้มีการนำจารีตความเชื่อ มาปรับใช้ พร้อมๆ กับมีตัวบทกฎหมาย กฎเกณฑ์ของชุมชน เพื่อคอยกำกับควบคุม โดยเน้นการสร้างเครือข่ายในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน

ในขณะที่ คุณวัฒนา วชิโรดม จากมูลนิธิธรรมนาถ กล่าวว่า เราจะอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศน์ต้นน้ำ และบริหารจัดการชุมชนในป่าต้นน้ำลำธารได้อย่างไร เพราะขณะนี้ถือว่ากำลังอยู่ในขั้นวิกฤติ และจากข้อมูล สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เมื่อปี 2545 มีจำนวนประชากรบนพื้นที่สูงทั้งหมด 1,203,149 คน จาก 252,588 ครัวเรือน ใน 4,478 หมู่บ้านและกลุ่มบ้าน

"จากสถิติพบว่า อัตราการเพิ่มประชากรบนพื้นที่สูง 3 % แต่พื้นที่ป่าต้นน้ำมีเท่าเดิม เพราะฉะนั้น หากเรามุ่งตอบสนองกลุ่มคนที่ก่อให้เกิดผลกระทบเกินพอดี เชื่อว่าในที่สุด เมื่อป่าหมด คนทุกคนต้องตายหมด และอยากบอกว่า การอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ จะต้องมองทั้งระบบ ไม่ว่า ดิน น้ำ ป่า คน และต้องมองทุกมิติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมภูมิปัญญา และ ความมั่นคง แต่ทั้งหมดต้องอยู่บนฐานความคิด เพื่อความคงอยู่อย่างยั่งยืน ของ นิเวศป่าต้นน้ำที่เป็นเช่นนั้น วัตถุประสงค์ ก็เพื่อคนทุกคน ไม่ใช่รักษาป่าเพื่อป่า แต่รักษาป่าเพื่อคนนั่นเอง" คุณวัฒนา กล่าวย้ำ

ตัวแทนมูลนิธิธรรมนาถ ยังได้เสนอแนวทางในการบริหารจัดการชุมชนในพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารเอาไว้ คือ จัดเขตที่อยู่อาศัยให้ชัดเจนให้อยู่เป็นหลักแหล่ง อยู่รวมเป็นกลุ่มไม่ให้กระจัดกระจาย
จัดเขตที่ทำกินให้ในที่เหมาะสมโดยกำหนดเขตให้ชัดเจน และจัดเขตป่าใช้สอย ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง ให้มีการรับรองสิทธิในพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และเขตป่าใช้สอย ในลักษณะที่เป็นของส่วนรวมของชุมชน (ส.ท.ก.รวม)

"ที่สำคัญ ควรมีการควบคุมการเพิ่มของประชากรไม่ควรเกิน ร้อยละ 1 และส่งเสริมให้ประชากรรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาและมีอาชีพในเมือง เพราะคนรุ่นใหม่ที่อยู่บนที่สูงส่วนใหญ่ต้องการย้ายลงมาอยู่ในเมืองกันแล้ว สำหรับพื้นที่ป่าต้นน้ำที่ถูกทำลายไปแล้ว ให้ชุมชนร่วมกันนำกลับมาดูแลและฟื้นฟูให้ทำหน้าที่ป่าต้นน้ำดังเดิม คือ ให้ป่าอยู่ในส่วนที่ควรเป็นป่า" ตัวแทนมูลนิธิธรรมนาถ กล่าวในตอนท้าย

นายประเสริฐ สุริยวงษา ประธานเครือข่ายลุ่มน้ำจาง ลุกขึ้นกล่าวว่า รู้สึกตกใจที่ทางมูลนิธิธรรมนาถ บอกว่าจะจัดการกับชุมชนบนป่าต้นน้ำกันอย่างไร ซึ่งทำไมไม่คิดว่า เราจะให้ชุมชนจัดการกันได้อย่างไร และอยากเสนอว่า จะต้องมีการฟื้นความสัมพันธ์ทางสังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชนกับธรรมชาติให้ได้อย่างไร

หลังจากนั้น มีตัวแทนชาวบ้านจาก อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ถูกอพยพเนื่องจากการสร้างเขื่อนภูมิพล ได้กล่าวถึงประเด็นที่มีการเสนอให้มีการจัดระเบียบชุมชน อพยพโยกย้ายหมู่บ้านนั้น จะต้องให้คนในชุมชนเป็นคนคิดจัดการกันเอง เพราะเรื่องดังกล่าว มีปัญหาความซับซ้อน มีความเจ็บปวดซ่อนอยู่ เพราะทำให้วิถีชีวิต อาชีพเดิมล่มสลาย เมื่อรัฐย้ายอพยพออกมาอยู่ในที่จัดสรรที่ดินให้ใหม่ก็ทำการเกษตรกรรมไม่ได้ผล จนต้องย้ายเข้ามาอยู่ในเมือง

นายสมใจ เย็นสบาย จากกรมทรัพยากรธรณี กล่าวว่า ขอให้มองวิถีชีวิตชาวบ้านในพื้นที่ด้วย ไม่ใช่จะเอาคนออกจากป่าอย่างเดียว

ในขณะที่ นายนิคม พุทธา จากโครงการจัดการลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน กล่าวว่า นโยบายรัฐในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ผ่านมา เป็นเรื่องของผลประโยชน์ และเรื่องของเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งความสัมพันธ์ของคนกับป่านั้น ไม่ใช่แค่เพียงเรื่องป่าเรื่องเดียว แต่เป็นความสัมพันธ์กันทั้งระบบ ไม่ว่า คน ดิน น้ำ ป่า ซึ่งรัฐไม่ได้นำมารองรับในการจัดการแต่อย่างใด

"ยกตัวอย่าง การจัดทำแผนจัดการลุ่มน้ำปิงที่ผ่านมา ประชาชนก็ยังไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม แต่รัฐกลับไปจ้างบริษัทที่ปรึกษา มาจัดการกันเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายรัฐว่า เป็นเรื่องผลประโยชน์ธุรกิจเข้ามาอย่างเห็นได้ชัดเจน" นายนิคม กล่าว

ด้านนายไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์ประจำวิชานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้พูดถึงกฎหมายป่าไม้ ว่า ที่ผ่านมา กฎหมายป่าไม้เดิมมีการพูดถึงการจัดการที่รัฐเข้าไปยึดพื้นที่เป็นหลัก ไม่ว่าการจัดการป่าไม้โดยรัฐ เช่นมีการสัมปทานป่า การเก็บภาษีตอไม้ มีการยึดพื้นที่ ประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ สะท้อนให้เห็นถึงความพิกลพิการของระบบกฎหมายไทย จนทำให้เกิดปัญหา

"นอกจากนั้น ยังมีการนำมาตราการกฎหมาย มาจัดการกับประชาชน มีการจับกุม คือมีการใช้อำนาจรัฐมาจัดการ ทำให้สิทธิของชุมชนถูกลิดรอน ไม่สามารถจัดการทรัพยากรในพื้นที่ได้
ขาดการประสานงานร่วมมือกัน ทำให้ต่างคนต่างคิดต่างทำ ไม่ได้นำมาจัดการแบบบูรณาการ"

นายไพสิฐ ชี้ทางออกเอาไว้ว่า ทำอย่างไร จึงจะปรับตัวบทกฎหมายป่าไม้ ให้เปลี่ยนเป็นโดยการเน้นการจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วม มีการบูรณาการ โดยเอาทรัพยากรบุคคลในพื้นที่เข้ามาร่วมกันดูแล เช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชน ที่กำลังมีการเสนอทางออกในการจัดการทรัพยากรบนความหลากหลาย และจะต้องให้กระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ แม้กระทั่งในระบบศาล ได้เข้าใจในประเด็นเรื่องการจัดการทรัพยากรอย่างถูกต้อง เข้าใจ และให้ความเป็นธรรม

"ทำอย่างไร จึงจะนำชุดองค์ความรู้ในการจัดการทรัพยากรฯที่ตรงต่อความต้องการของชุมชน ถูกถึงมาใช้ในการจัดการทรัพยากรฯ ของภาครัฐ" นายไพสิฐ กล่าวย้ำในตอนท้าย

นี่เป็นความคิดเห็นของนักวิชาการ องค์กรชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมทั้งตัวแทนชาวบ้านแต่ละชุมชน ที่ออกมานำเสนอองค์ความรู้ ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อจะนำไปเป็นข้อมูลในการจัดทำร่างแผนการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม
พ.ศ.2550-2554 เพื่อให้มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนในอีก 5 ปีข้างหน้า

องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net