Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปัญหาการว่างงานหรือภาวะการมีงานทำของคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือหนึ่งในผลกระทบที่มาจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาและเชื่อมโยงไปสู่เรื่องอื่น ๆ การดำเนินชีวิตที่ไม่ปกติ ความหวาดกลัว ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ขณะที่ความพยายามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งระบุว่ามีตำแหน่งงานว่างรองรับแต่ในการรับสมัครมักระบุข้อจำกัดในเรื่องของศาสนาและการศึกษา ข้อจำกัดดังกล่าวจึงเท่ากับกีดกันแรงงานมุสลิมไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

ทางออกหนึ่งเมื่อไม่สามารถทำงานในพื้นที่ได้นั่นคือการเดินทางไปทำงานยังประเทศมาเลเซีย โดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ซึ่งจากงานวิจัยของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นภาคใต้ ที่ได้ศึกษาและติดตามการเดินทางไปทำงานประเทศมาเลเซียของแรงงานไทยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งพบปรากฎการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในพื้นที่ นั่นคือมีคนในกลุ่มวัยรุ่นหนุ่มสาว อายุ 17-18 ปีขึ้นไปเดินทางออกไปทำงานมาเลเซียจำนวนมาก บางหมู่บ้านหายไปเกือบครึ่ง เมื่อติดตามจึงพบว่าส่วนใหญ่ไปทำงานในร้านอาหารที่เรียกว่า "ต้มยำกุ้ง" ซึ่งมีรายได้ดี มีเงินส่งกลับมาให้ครอบครัวในพื้นที่ บางคนกลับมาปลูกบ้าน ซื้อบ้านซื้อรถ จึงกลายเป็นแบบอย่างให้คนอื่นอยากทำบ้างเลยกลายเป็นคลื่นของคนที่อยากเข้าไปทำงานในมาเลเซียสูงขึ้นเรื่อย ๆ ขณะนี้คาดว่าจะมีร้านต้มยำกุ้งในมาเลเซียมากกว่า 35,000 ร้าน แต่ละร้านมีแรงงานเฉลี่ย 5-6 คน ดังนั้นแรงงานต้มยำกุ้งจึงมีมากกว่า150,000-160,000 คน

เมื่อมาดูสาเหตุของการเดินทางไปทำงานพบว่า มาจากสองส่วนสำคัญนั่นคือ การที่ฐานทรัพยากรชายฝั่งทะเลในพื้นที่ซึ่งเคยเป็นแหล่งทำมาหากินถูกทำลาย เสื่อมโทรมลงไปมากจนไม่สามารถมีรายได้ที่เพียงพอ เพราะส่วนใหญ่เคยทำอาชีพประมงมาก่อน หรือบางคนจบการศึกษาแล้วไม่สามารถหางานทำในระบบตลาดแรงงานที่เปิดรับได้ ประกอบกับการเห็นตัวอย่างจากญาติหรือเพื่อนบ้านที่เคยไปมาแล้วจึงอยากไปบ้าง ส่วนรูปแบบการเดินทางเข้าไปทำงานส่วนใหญ่จะใช้หนังสือเดินทางแบบนักท่องเที่ยวที่สามารถเข้าไปอยู่ได้ไม่เกิน 30 วันหรือบอกว่าไปเยี่ยมญาติ แล้วก็แอบมาทำงานโดยไม่มี work permit เมื่ออยู่เกิน 2 - 3 เดือน เวลาจะกลับเข้าประเทศก็จะมีคนมารับจ้างไปต่อหนังสือเดินทางย้อนหลังให้และก็จ่ายเงินกันนอกระบบ เมื่อเข้ามาทำงานเขาไม่สามารถเป็นเจ้าของร้านเองได้ ต้องใช้วิธียืมชื่อคนมาเลเซียมาจดชื่อร้าน แต่ก็ต้องเสี่ยงว่าหากกิจการดีคนมาเลเซียอาจอยากได้ร้านไปทำเองแล้วยึดไปเฉย ๆ ก็ได้ พวกเขาก็ต้องกระจัดกระจายไปหาร้านใหม่ หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือตั้งร้านโดยไม่จดทะเบียน แต่วิธีนี้ถือว่าเถื่อนทั้งร้าน เถื่อนทั้งคน เพราะร้านก็ไม่ได้จดทะเบียน และคนก็ไม่ได้เข้ามาอย่างถูกต้องเพราะไม่มี work permit ไม่มีหลักประกันอะไรเลย ต้องอยู่อย่างหลบ ๆ ซ่อน ๆ เรื่องนี้เป็นความเข้าใจผิดของฝ่ายความมั่นคงในยุคสมัยหนึ่งที่อุปโลกว่าคนพวกนี้เป็นคนสองสัญชาติ เป็นพวกกลุ่มขบวนการต้มยำ ซึ่งการศึกษาช่วยให้ข้อมูลที่อธิบายให้เขาเข้าใจว่ามันไม่ใช่ เขาเป็นคนสัญชาติไทย ถ้าเขามีสองสัญชาติเขาไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ อย่างนี้ และในที่สุดแล้วแรงงานเหล่านี้หลังจากไปทำงานเก็บเงินได้ระยะหนึ่งเขาก็ต้องการกลับบ้านกลับมาอยู่ในพื้นที่ นึ่คืออีกจุดหนึ่งที่ทำให้นายจ้างมาเลเซียชอบคนไทย

นี่คือสภาพปัญหาทั้งหมด ยิ่งในระยะหลังที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก มาตรการผลักดันแรงงานต่างด้าวของมาเลเซียจึงส่งผลกระทบต่อคนพวกนี้ด้วย เพราะถ้าเกิดมีการผลักดันคนพวกนี้กลับประเทศเขาจะอยู่ในสถานะว่างงานทันที และการที่เขาเป็นกลุ่มเยาวชนก็อาจเป็นไปได้ง่ายที่จะถูกชักจูงไปในทางไม่ดีเมื่อเขาอยู่ในประเทศท่ามกลางสถาน
การณ์ในพื้นที่ขณะนี้

ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ผอ.สกว. กล่าวว่า ข้อมูลอย่างเป็นระบบเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายของแรงงานจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปทำงานในมาเลเซีย ทำให้เห็น สถานการณ์ที่ต้นทาง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และกระทบหลายส่วน ขณะที่ใน ประเทศปลายทาง พวกเขาก็ต้องอยู่อย่างระมัดระวังเพราะส่วนใหญ่เป็นการทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต รวมทั้งมาตรการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวของมาเลเซียก็มีความเข้มงวดมาก ดังนั้นสิ่งที่น่าพิจารณาคือแรงงานไทยจะช่วยผ่อนปรนเงื่อนไขอุปสรรคต่าง ๆ นี้ได้อย่างไร และด้วยประสบการณ์ทำงานพวกเขาจะมีโอกาสนำความรู้ความสามารถที่มีไปใช้ประโยชน์เมื่อกลับไปอยู่ในพื้นที่ได้อย่างไร ซึ่งสองประเด็นนี้เชื่อมโยงกันอย่างมาก เพราะรายได้ที่คนเหล่านี้ส่งกลับไปเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงอยู่ได้ไม่แย่ไปกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้นหากสามารถเพิ่มโอกาสให้แรงงานไทยสามารถไปทำงานได้สะดวกขึ้น ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขหรือปัจจัยที่จะเสริมการพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ เศรษฐกิจ และสังคมที่นั่น ผ่านผู้ที่มาทำงานมาเลเซีย นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงมากขึ้นกับนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาลหลายเรื่อง โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ 3 จว.ภาคใต้ ยุทธศาสตร์ความยากจน ซึ่งความยากจนใน 3 จว.ชายแดนภาคใต้ส่วนหนึ่งในขณะนี้ถูกบรรเทาไว้ด้วยรายได้จากคนที่มาทำงานต่างประเทศแล้วส่งกลับไปให้ครอบครัว

"คิดง่าย ๆ ว่าถ้าคน 150,000 คน ส่งเงินกลับบ้านเดือนละ 1000 บาทต่อคน ก็จะเป็นรายได้ของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เดือนละ 150 ล้านบาท"

จากการศึกษาดังกล่าว สกว.จึงเสนอให้มีการศึกษาวิจัยในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และโอกาสการมีงานทำในมาเลเซีย โดยมีประเด็นที่ควรศึกษา ได้แก่ 1) ปัจจัยเสริมเยาวชน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อการมีงานทำ : อาชีพ : ทักษะ และโอกาสในการเพิ่มศักยภาพตนเองเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงาน กรณีศึกษาเยาวชนอายุระหว่าง 16-25 ปี 2) "เยาวชนสตรีจังหวัดชายแดนภาคใต้ : การเข้าสู่ตลาดแรงงาน : ตลาดแรงงาน : การฝึกอบรม และการศึกษาต่อ" (กรณีศึกษาจังหวัดยะลาหรือนราธิวาส สำหรับเยาวชนสตรีอายุ 15-20 ปี 3) "การทำงานในร้าน Tomyam ของแรงงานไทยในมาเลเซีย" กรณีศึกษาการเคลื่อนย้ายแรงงานนอกระบบและการทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต และ 4) "ต้นทุนและภาระภาษีสำหรับแรงงานไทยในมาเลเซีย" กรณีศึกษาร้านอาหารไทย กรณีศึกษานายจ้าง/สถานประกอบการร้านอาหาร Tomyam ในมาเลเซีย

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะ สกว.นำโดย ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง และนักวิจัยท้องถิ่นได้เข้าพบและหารือกับ ฯพณฯ อุ้ม เมาลานนท์ เอกอัครราชทูตไทยประจำมาเลเซียและคณะ ในประเด็นแรงงานร้านอาหารไทยในมาเลเซีย โดยได้นำเสนอผลการศึกษาดังกล่าว และร่วมกันประเมินสถานการณ์แรงงานร้านอาหารไทยในมาเลเซียภายใต้มาตรการผลักดันแรงงานต่างด้าวของทางการมาเลเซีย รวมทั้งร่วมกันหาทางออกและทางเลือกในการแก้ไขปัญหาแรงงานร้านอาหารไทยในมาเลเซียอย่างเป็นระบบ โดยเอกอัครราชทูตรไทยประจำมาเลเซีย เปิดเผยว่า ทางสถานทูตให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าวและมีการดูแลให้ความช่วยเหลือคุ้มครองแรงงานไทยมาอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ก็ได้เชิญนายจ้าง/สถานประกอบการที่ว่าจ้างแรงงานไทยในประเทศมาเลเซีย รวมทั้งร้านต้มยำ มาประชุมร่วมกันเป็นระยะ ๆ เพื่อรับฟังปัญหา ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะในการช่วยเหลือและให้ความเป็นธรรมกับแรงงานไทย ในส่วนของแรงงานร้านอาหารพบว่ามีความต้องการมาก ประกอบกับรายได้เมื่อเทียบกันแล้วมากกว่าการทำงานในพื้นที่จึงจูงใจให้แรงงานไทยจาก 3 จว.เดินทางมาทำงานแม้จะต้องเสี่ยงต่อการกวดขันเข้มงวดของมาตรการผลักดันแรงงานต่างด้าวของมาเลเซียก็ตาม และจากการประชุมกับนายจ้างผู้ประกอบการร้านต้มยำก็พบว่าในการนำเข้าแรงงานอย่างเป็นระบบพวกเขามีปัญหาเรื่องค่าจัดทำใบอนุญาตทำงานสำหรับร้านอาหารที่แพงเกินไป และการขอโควต้าเข้ามาทำงานซึ่งนานมากและได้น้อย ทำให้คนไทยต้องรออยู่ที่เมืองไทยทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก ซึ่งพวกเขาได้มีการทำหนังสือสะท้อนปัญหาไปยังรัฐมนตรีมหาดไทยของมาเลเซียแล้ว

นายโกวิทย์ บุรพธานินทร์ อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายแรงงาน สนร.มาเลเซีย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตลาดแรงงานไทยในมาเลเซียยังสามารถโตได้อีกมาก เพราะมาเลเซียมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานค่อนข้างมากโดยเฉพาะแรงงานระดับล่าง จึงถือเป็นโอกาสในการขยายตลาดแรงงานไทยแม้จะต้องแข่งขันกับแรงงานจากประเทศอื่น ๆ โดยในภาคก่อสร้างควรต้องเลือกนายจ้างก่อนเข้ามาจึงจะคุ้มกับรายได้ ขณะที่ในภาคบริการเช่นร้านต้มยำ นวดแผนโบราณ ฯลฯ ก็มีโอกาสที่คนไทยจะเข้ามาได้มาก สิ่งที่ต้องพิจารณาคือเมื่อเข้ามาอย่างถูกกฎหมายถูกขั้นตอนซึ่งมาเลเซียใช้ระบบนายหน้าหมดนั้น ทำให้แรงงานต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณกว่า 20,000 บาท สำหรับแรงงานที่ไปทำงานร้านต้มยำกุ้งแม้ข้อมูลในประเทศจะมีไม่มากแต่ตนยืนยันว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

"ตลาดแรงงานร้านอาหารไทยในมาเลเซียกำลังเติบโต เพราะคนมาเลเซียชอบรับประทานอาหารนอกบ้านและนิยมไปร้านต้มยำ ประกอบกับติดใจในรสชาติอาหารของคนไทยโดยเฉพาะจากภาคใต้ซึ่งมีวัฒนธรรมการกินคล้ายคลึงกัน และมั่นใจได้ว่าเป็นอาหารมุสลิมแท้ อีกทั้งยังมีให้เลือกกินได้หลากหลายทั้งรสชาติอาหารมุสลิมแถบสงขลา หาดใหญ่ หรือปัตตานี แต่การไปทำงานในมาเลเซียโดยถูกต้องตามระบบยังมีข้อติดขัดอยู่มาก ทั้งเงื่อนไขกฎระเบียบของมาเลเซีย ภาระค่าใช้จ่ายที่คนหางานต้องแบกรับ และโควต้าตำแหน่งงานที่ได้รับมีน้อยกว่าความต้องการจริงมาก"

การหารือเห็นร่วมกันว่าการจะส่งเสริมให้แรงงานไทยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปทำงานร้านอาหารไทยในมาเลเซียนั้นจำเป็นต้องศึกษาอย่างรอบด้านถึงผลดีผลเสีย รายได้ที่เป็นธรรมและคุ้มค่า รวมทั้งมาตรการรองรับเมื่อพวกเขากลับประเทศ ดังนั้นในระยะสั้น จึงควรให้นำประเด็นแรงงานที่ระบุอยู่ในเงื่อนไขข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) ซึ่ง ในกรณีที่ประเทศที่มีพรมแดนติดกัน เช่น ไทยกับมาเลเซีย ก็อาจจะตกลงกันเป็นพิเศษเพิ่มเติมได้ นั่นคือการเปิดโอกาสให้มีการเคลื่อนไหวแรงงานได้มากขึ้น ขณะนี้สกว.ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ กำลังทำการศึกษาความเป็นไปได้โดยคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน เพื่อจะให้แรงงานจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าไปทำงานร้านต้มยำในมาเลเซียได้มากขึ้นและเป็นไปอย่างถูกต้องโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายนอกระบบอีก.

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net