Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

"เกลียดตุ๊ด...เกลียดตุ๊ด...เกลียดตุ๊ด...เกลียดตุ๊ดจริงๆ โว้ย..ย..ย..ย..ย"

เสียงดนตรีร็อคกระแทกกระทั้น สลับกับเสียงร้องตะโกนของเพลง "เกลียดตุ๊ด" ของ Sepia - เพลงอื้อฉาวที่เคยสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในบรรดาผู้ที่ปากถือศีล (แต่มือจะถืออะไรอยู่นั้น...ก็ไม่ทราบได้) ดังออกจากลำโพงของเครื่องเล่นเทปในบ้านของผม

ได้ยินแล้วก็พาลให้คิดถึงสมัยมัธยม ที่โรงเรียนเก่าของผมก็มีเพื่อนร่วมโรงเรียนที่เป็นเพศที่สามอยู่ไม่น้อย และในงานกินเลี้ยงประจำปีของโรงเรียนทุกๆ ปี ก็จะเป็นโอกาสที่เพศที่สามเหล่านี้จะได้แสดงถึง "เพศในใจ" ของตัวเองอย่างเต็มที่

ผลที่ได้รับคือการบรรณาการด้วยนิ้วกลาง และห่าฝนน้ำแข็งก้อนจากน้ำมือของบรรดา "ชายจริง" (แต่ไม่มี "หญิงแท้" เนื่องจากโรงเรียนที่ผมอยู่เป็นโรงเรียนชายล้วนครับ) จนต้องวิ่งหลบกันแทบไม่ทัน

ผมแต่งตัว เตรียมออกจากบ้านไปยังโรงหนัง House พร้อมๆ กับเสียงตัวโน้ตสุดท้ายของเพลงๆ เดิมที่ดังไล่หลังมาว่า... "กรูจะฆ่ามึ๊ง..."

V^V^V^V^V^V

หลังจากที่งาน "สังวาสเสวนา" สองครั้งแรกพาเราไปสัมผัสมุมมองเรื่องเพศและครอบครัวในมุมที่แตกต่าง และเป็นมุมที่สร้างความเข้าในเรื่องเหล่านั้นให้มากขึ้นแล้ว มาคราวนี้ "สังวาสเสวนา" ก็กรีฑาทัพไปถึงโรงภาพยนตร์ House RCA ในหัวข้อ "เรื่องธรรมดาของเรา" โดยงานในครั้งนี้เน้นไปที่การพูดถึงเพศที่สามเป็นหลัก โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาเป็น "ผู้รู้" อย่าง เจ๊เดย์-เดชาวุฒิ ฉันทะกาโร นางโชว์และแอคติ้งโค้ชชื่อดัง, ยอด-วิทยา แสงอรุณ คอลัมน์นิสต์, เล็ก-ฉันทลักษณ์ รักษาอยู่ จากกลุ่มสะพาน-กลุ่มที่ทำหน้าที่สื่อสารเรื่องหญิงรักหญิงกับสาธารณชน, พ.ญ. อัมพร เบญจพลพิทักษ์ จิตแพทย์ โดยมี เฮนรี่ จ๋อง(พงศนรินทร์ อุลิศ) เจ้าบ้านจากโรงหนัง House ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ

งานเสวนาเริ่มต้นด้วยคำถามว่าจริงๆ แล้ว มันมีเพศอะไรอยู่บ้าง ซึ่งผู้เข้าร่วมเสวนาทุกท่านต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ถ้าแบ่งกันสภาพร่างกาย ก็แบ่งได้เป็นชาย หญิง และ Intersexual (ผู้ที่มีอวัยวะของทั้งสองเพศ) แต่สำหรับในเรื่องของจิตใจและรสนิยมทางเพศนั้นก็เป็นเรื่องที่ไม่สามารถแบ่งได้โดยง่าย แม้จะมีหลายๆ คนพยายามแบ่งประเภท เช่น เกย์, เกย์คิง, เกย์ควีน ฯลฯ แต่จริงๆ แล้วก็ไม่สามารถจะแบ่งประเภทได้ชัดเจน เพราะมันขึ้นอยู่กับทัศนคติและรสนิยมทางเพศของแต่ละคนด้วย

เมื่อพูดถึงสาเหตุที่ทำให้คนทั่วไปตั้งแง่กับมองเพศที่สามนั้น ยอดมองว่า "เมื่อพูดถึงเพศที่สามนั้น คนมักจะพูดถึงโดยใช้อคติประกอบกันด้วย เช่น การเชื่อว่ากระเทยต้องบ้าเซ็กส์ เลสเบี้ยนต้องมีอารมณ์รุนแรง ฯลฯ ดังนั้นก็ต้องถามกันว่าถ้าจะพูดถึงเพศที่สาม จะพูดโดยใช้สิ่งที่เป็นอยู่จริงหรืออคติกันแน่"

เดย์แสดงความคิดเห็นกับเรื่องนี้ว่า "ในสังคมที่มีชายเป็นใหญ่นั้น หากมีเพศชายกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีความแปลกกว่าคนอื่นขึ้นมา ผู้ชายส่วนใหญ่จะพยายามกดคนกลุ่มนั้นลงเพื่อรักษาสถานภาพของตัวเอง ในขณะที่ผู้หญิงก็จะพยายามกดผู้ชายกลุ่มนั้นลงไปอีก เพื่อจะได้ขึ้นมามีสถานภาพที่สูงขึ้น" แต่เดย์บอกว่า เขาไม่ได้ประสบปัญหานี้สักเท่าไหร่ เพราะเขาเปิดเผยแบบนี้มาตั้งนานแล้ว จนคนรอบข้างของเขายอมรับว่ามันเป็นเรื่องปรกติไปแล้ว"

แต่ถึงกระนั้น เดย์ก็ยังพบกับปัญหาในการใช้ชีวิตอยู่บ้าง "เราจะถูกห้ามเข้าในที่ๆ เขาเปิด lady night หรือในที่ๆ ให้ผู้หญิงเต้นกับผู้ชายเท่านั้น แม้แต่การเข้าห้องน้ำ ถ้าเราห้องน้ำชาย ก็ถูกหาว่าจะเข้าไปแอบดู แต่ถ้าเราเข้าห้องน้ำหญิง มันก็ดูกระไรอยู่อีกนั่นแหละ"

เล็กมองในอีกมุมว่า "ผู้ที่เปิดตัวเองอย่างแจ่มชัดจะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ที่ไม่เปิดเผยให้คนอื่นรับรู้ อย่างในเรื่องของหน้าที่การงาน ก็มักจะมีการตั้งคำถามถึงความสามารถในการบริหารงานในระดับสูงจากเพื่อนร่วมงานเสมอๆ"

ในเรื่องของการแสดงออก ที่หลายคนมองว่าเพศที่สามมักจะแสดงออกถึงความเป็นตัวเองอย่างเด่นชัดเกินไปจนน่าเกลียดนั้น พ.ญ. อัมพรมองว่า "เด็กในวัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการความใส่ใจจากคนรอบข้าง แต่ไม่รู้ว่าจะแสดงออกอย่างไร จนทำให้พวกเขาแสดงออกมากจนกลายเป็นการเรียกร้องความสนใจ"

ยอดมองว่า "ในบางครั้ง การแสดงออกหลายๆ อย่างที่หลายคนอาจมองว่าเป็นการเรียกร้องความสนใจนั้น บางทีอาจจะเป็นสิ่งที่เขาไม่ได้ตั้งใจจะทำอย่างนั้นให้คนอื่นเห็น แต่เขาทำอย่างนั้นอยู่แล้ว อย่างการเดินตูดบิดของกระเทยที่บางคนมองว่าเขาทำเพื่อต้องการเรียกร้องความสนใจ แต่จริงๆแล้วมันเป็นสิ่งที่ติดตัวพวกเขาอยู่แล้ว"

เดย์แสดงความเห็นว่า "สังคมในตอนนี้ขาดคนที่จะคอยแนะนำให้พวกเขาเป็น "กุลเกย์" และ "เยาวตุ๊ด" ที่ดี ที่จะนำพลังที่เขามีมาใช้เพื่อพัฒนาความสามารถของตัวเอง"

มีคำถามเกิดขึ้นในวงเสวนาว่า ถ้าหากผู้ปกครองเริ่มสงสัยว่าลูกตัวเองมีแนวโน้มจะเป็นเพศที่ ๓ นั้นควรจะทำอย่างไร ซึ่ง พ.ญ. อัมพรแนะนำว่า ต้องเริ่มจากที่ผู้ปกครองต้องใจเย็นๆ ทำใจให้สงบ และควรให้ความสำคัญกับสัมพันธภาพระหว่างเรากับลูก ควรหาโอกาสสื่อสารกับลูกโดยหลีกเลี่ยงการวิจารณ์ จากนั้นควรหาต้นแบบที่ดีให้กับลูก และที่สำคัญต้องคำนึงอยู่เสมอว่าชีวิตของลูกนั้นเป็นของตัวเขาเอง

สำหรับผู้ที่กำลังสับสนว่าตัวเองเป็นหรือไม่ เดย์แนะนำว่า "ก่อนอื่นต้องถามตัวเองว่าเราต้องการอะไร โดยศึกษาจากสื่อต่างๆ ประกอบไปด้วย เมื่อพบว่าตัวเองต้องการอะไรแล้วก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ให้คนในสังคมยอมรับ"

พ.ญ. อัมพรเสริมว่า "ในช่วงแรกที่เริ่มรู้ตัวว่าเป็นจะเกิดความรู้สึกผิด ควรหาเพื่อนปรับทุกข์และหาความรู้เพื่อประกอบการตัดสินใจ รวมทั้งหากลุ่มเพื่อนที่สร้างสรรค์ด้วย"

ก่อนที่วงเสวนาในวันนั้นจะจบลง มีบทสรุปที่ทุกคนในวงนำเสนอออกมา มาแวะฟังกันก่อนแล้วกัน

ยอด-อยากให้ทุกคนใจกว้างจะยอมรับฟังพวกเรา ถ้ามีเรื่องที่สงสัย ก้ลองถามพวกเรา หรือไม่ก็ลองหาข้อมูลจากแหล่งต่างๆ และสำหรับพ่อ-แม่ที่ลูกเป็นแบบนี้ ก็อยากให้พ่อ-แม่ได้เรียนรู้พร้อมๆ กับลูกด้วย

เล็ก-เราไม่ได้ต้องการการยอมรับจากสังคมมากว่าคนอื่นเป็นพิเศษ พวกเราแค่ได้การยอมรับจากคนในสังคมทัดเทียมกับคนอื่นๆ เท่านั้น

เดย์-อยากให้พวกเรายอมรับในสิ่งที่ตัวเราเองเป็น เพราทุกวันนี้สังคมกำลังปรับตัวด้วยตัวของมันเองอยุ่

พ.ญ. อัมพร-ถ้าเราเป็นมิตรกับสังคม สังคมก็จะเป็นมิตรกับพวกเราตอบแทน

V^V^V^V^V^V

"ฉันอยากบอกรัก และฉันอยากโทรหา
อยากเดินควงแขน อยากชวนดูหนัง
อยากหอมสักครั้งจริงๆนะให้ตาย

อยากบอกความในให้รู้ทุกสิ่ง แต่เราเป็นผู้หญิงไม่ใช่ผู้ชาย
ไม่ใช่ผู้ชาย.. ไม่ใช่ผู้ชาย.."

ใครจะเชื่อว่าเพลงๆ นี้ ที่พูดถึงเพศที่สามอย่างอ้อมๆ (ลองนั่งคิดกันเล่นๆ ว่า ถ้าจะพูดถึงผู้หญิงจริงๆ ทำไมถึงเน้นคำว่า "ไม่ใช่ผู้ชาย" มากเสียขนาดนั้น) ในแง่มุมน่ารักแบบนี้ จะเป็นฝีมือการเขียนของคนๆ เดียวกับที่ทำเพลงอย่าง "เกลียดตุ๊ด"

อาจจะด้วยเวลาที่เปลี่ยนไป ทำให้การยอมรับ และความเข้าใจในเรื่องเพศที่สามนั้นมากขึ้นไปด้วย แต่ถึงกระนั้น เราก็ยังเห็นมุมมองที่เหมือนก้อนน้ำแข็งที่ขว้างใส่พวกเขา ด้วยมือของผู้ใหญ่ใจแคบผ่านทางสื่อต่างๆ ก็ยังมีให้เห็นอยู่

เสียงจากพวกเขาในครั้งนี้ จะมีใครได้ยินบ้างหนอ...

ภาณุวัฒน์ อภิวัฒนชัย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net