Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประชาไท - 7 มิ.ย. 48 "ตัวแทน OICมีความสบายใจว่าที่นี่ไม่ใช่ปัญหาศาสนาอิสลาม ไม่มีการกีดกัน เขารู้สึกว่าคนไทยเปิดเผย คนไทยเอื้ออารี ไม่เห็นมีปัญหา โดยทั่วไป ผมว่า เขาได้ภาพลักษณ์ที่ดีของเมืองไทยไป" นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) กล่าว หลังจากหารือกับนาย Sayed Gasim Almasri อดีตผู้ช่วยเลขาธิการขององค์การการประชุมอิสลาม (Organization of Islamic Confer
ence) ซึ่งเข้ามาศึกษาปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะหัวหน้าคณะล่วงหน้าเลขาธิการ OIC วานนี้(7 มิ.ย.)

อย่างไรก็ตาม นายอานันท์กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่มารอฟังผลจากการที่ตัวแทนจาก OIC มาพบว่า ทาง OIC ยังมีข้อข้องใจอยู่บ้างเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคใต้

ทั้งนี้เรื่องที่ทาง OIC ยังข้องใจนั้นก็เป็นเรื่องเดียวกับที่ ทาง กอส.ข้องใจด้วย เช่น เรื่องการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ การสังหารหมู่ในมัสยิดกรือเซะ หรือการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายมุสลิมและนักสิทธิมนุษยชน ซึ่งนายอานันท์ชี้แจงว่า ไม่ใช่เรื่องแปลก

โดย นายอานันท์ได้ระบุว่า ข้อข้องใจดังกล่าวไม่ใช่ข้อติเตียน เพียงแต่ทางตัวแทนจาก OIC จำเป็นจะต้องราย งานเพื่อเสนอต่อที่ประชุมใหญ่เมื่อกลับไป ดังนั้นทาง กอส.จึงได้ชี้แจงแนวทางการทำงานของ กอส. ว่า มีการเสนอถึงรัฐบาลให้มีการปรับแก้นโยบายภาคใต้ และให้เน้นใช้แนวทางสันติวิธี ในส่วนที่ข้องใจนั้น ทาง กอส. เองได้เรียกร้องให้เปิดเผยผลการสืบสวนของกรณี กรือเซะ และตากใบขึ้น เพื่อให้ข้อเท็จจริงมีความกระจ่างขึ้นแล้ว

อย่างไรก็ตาม ประธาน กอส. ยืนยันว่า ทางตัวแทน OIC มีความพอใจหลังจากที่ได้มาคุยกับทาง กอส. และโดยแนะว่ารัฐบาลไทยไม่ควรใช้กำลังเกินขอบเขต ซึ่งแนวทางสันติวิธีของ กอส. นั้นมาถูกทางแล้วในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ในระยะยาว รวมทั้งได้ชื่นชมรัฐบาลว่ามีความใจกว้างเพราะเปิดโอกาสให้มีการลงพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบจริง ทำให้ได้พบกับผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ใช่ให้พบเพียงรายงานนำเสนอของรัฐอย่างเดียว จึงถือว่าเป็นบรรยากาศที่ดี

นายอานันท์กล่าวว่า สังคมไทยควรยอมรับเรื่องเชื้อชาติที่แตกต่างกัน โดยเปิดใจให้กว้างกว่านี้ เพราะคนมักมีอคติในเรื่องบางเรื่อง ซึ่งอาจเป็นปัญหาต่อการสร้างความสมานฉันท์ในภาคใต้ ดังนั้นคนไทยควรปรับวิธีคิดเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามส่วนตัวเข้าใจว่า คนไทยไม่ได้เกี่ยงงอนในเรื่องเชื้อชาติศาสนาอยู่แล้ว

รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ หนึ่งในคณะกรรมการกอส.ชี้แจงว่า สิ่งที่โอไอซีสนใจที่สุดคือ กรณีการสลายการชุมนุมที่สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ซึ่งทางกอส. ได้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวใน 4 ประเด็น ประการแรก กรณีตากใบมีลักษณะที่ผิด เพราะผู้มาร่วมชุมนุมไม่ได้ใช้ความรุนแรง แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับใช้ความรุนแรงในการจัดการ

ประการต่อมา แนวทางแก้ไขของกอส.จึงต้องทำการเปิดเผยความจริงให้สังคมได้รับรู้ด้วยการเปิดเผยรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว ประการที่สาม ในกรณีดังกล่าวยังมีการควบคุมผู้ต้องหาจำนวน 58 คน ดังนั้นจึงต้องชี้ให้เห็นว่าคนที่ถูกจับกุมทั้งหมด ขณะนี้อยู่ในฐานะอะไร ประการสุดท้ายคือการชี้แจงการดำเนินการในด้านการเยียวยา ซึ่งขณะนี้นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับผิดชอบอยู่

"ดังนั้น สิ่งที่กอส.พยายามอธิบายให้โอไอซีเข้าใจคือ กรณีตากใบเป็นเรื่องไม่ถูกและกำลังความพยายามในการเยียวยา ส่วนทางโอไอซีจะเข้าใจมากน้อยแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่คิดว่าเขาสามารถประมวลความจริงได้ เพราะมีการรับฟังข้อมูลที่มีความหลากหลาย และทีมของโอไอซีก็มีนักวิชาการเยี่ยมๆ หลายคน" รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากการประมวลข้อมูลของโอไอซีออกมาแตกต่างจากของผลการสอบสวนของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร รศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะเป็นการศึกษาในมุมมองที่อาจจะต่างกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดอะไร

สำหรับกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตรนั้น รศ.ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนตัวมองในด้านดี เพราะยูเอ็นจะมีการพิจารณาเรื่องการคุ้มครองผู้ที่ทำหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว และการที่มีเกณฑ์แบบนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญในระดับนานาชาติด้วย เนื่องจากทนายสมชายไม่ได้เป็นเพียงคนคนหนึ่งที่หายไปเท่านั้น แต่เป็นสัญลักษณ์ของคนที่อุทิศชีวิตเพื่อทำงานด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้กรอบกฎหมายไทย ซึ่งยูเอ็นให้ความสำคัญ

เมื่อถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ต่อเรื่องดังกล่าวในลักษณะคล้ายการละเมิดอธิปไตยของไทยนั้น รศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่นายกฯ จะมองได้ ส่วนตนมองในด้านดี

ภาพันธ์ รักษ์ศรีทอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net