Skip to main content
sharethis

เชียงใหม่-12 มิ.ย.48 "เราขอเรียนว่า การแก้ไขปัญหาป่าไม้และที่ดินในเขตป่า โดยใช้มติครม.วันที่ 30 มิ.ย.2541นั้น เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการจัด
การทรัพยากรตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ อันอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งและเกิดการเผชิญ หน้าระหว่างรัฐ กับชุมชนในพื้นที่ป่าไม้และที่ดินในเขตป่าอย่างรุนแรง เหมือนกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐได้เข้าปิดล้อมจับกุมชาวบ้านปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ที่ผ่านมา" นายนิรันดร์ ลุเก ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ กล่าว

ที่ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ ได้ออกแถลงการณ์ ให้รัฐบาลถอนเรื่องการแก้ไขปัญหาการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินแบบบูรณาการออกจากวาระการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่ จ.พะเยา พร้อมกับคัดค้าน มติครม.30 มิ.ย.2541 ชี้เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐที่ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน ขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งและการเผชิญหน้าระหว่างรัฐกับชาวบ้านรุนแรงยิ่งขึ้น

นายนิรันดร์ กล่าวว่า ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จะจัดให้มีการประชุมคณะ รัฐมนตรีสัญจร ระหว่างวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้ ที่ จ.พะเยาและในการประชุมดังกล่าว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) จะมีการนำเสนอแผนการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินแบบบูรณาการ เร่งรัดให้ดำเนินการ ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 30 มิ.ย.2541 และมติ ครม. วันที่ 11 พฤษภาคม 2542 รวมถึงแนวทางการปฏิบัติตามแผนงานเข้าสู่ที่ประชุมครม.สัญจร ที่จ.พะเยา

"เราขอเรียนว่า การแก้ไขปัญหาป่าไม้และที่ดินในเขตป่า โดยใช้ มติครม.วันที่ 30 มิ.ย.2541 นั้น เป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน ในการจัดการทรัพยากรตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ อันอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งและเกิดการเผชิญหน้าระหว่างรัฐ กับชุมชนในพื้นที่ป่าไม้และที่ดินในเขตป่าอย่างรุนแรง เหมือนกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐได้เข้าปิดล้อมจับกุมชาวบ้านปางแดง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ที่ผ่านมา" นายนิรันดร์ กล่าว

นายนิรันดร์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นมติดังกล่าวยังขัดต่อผลการเจรจาระหว่างตัวแทนรัฐบาล เมื่อครั้งที่นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กับตัวแทนกลุ่มปัญหาป่าไม้ที่ดิน สกน. เมื่อวันที่ 17 และ 24 มี.ค.2545 ซึ่งได้ให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายป่าไม้ และมติครม. ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขป่าไม้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ปี 2540 รวมถึงมติ ครม.วันที่ 30 มิ.ย.2541 ด้วย โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายป่าไม้ และมติครม.ร่วมกันระหว่างฝ่ายรัฐ และประชาชนในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน

ด้านนายสมเกียรติ ใจงาม ตัวแทน สกน. กล่าวว่า มติดังกล่าว เป็นมติที่ให้ภาครัฐเป็นฝ่ายแก้ไขปัญหา แต่ชุมชนไม่ได้มีส่วนร่วม เนื่องจากรัฐยังคงมองชาวบ้านเป็นตัวการทำลายป่า แต่ไม่ได้ย้อนมองว่า ที่ผ่านมา โครงการใหญ่ๆ ของรัฐ นั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่เข้าไปทำลายป่า ซึ่งเห็นว่า มติ ครม.วันที่ 30 มิ.ย.2541 ไม่สามารถแก้ปัญหาการจัดการป่าไม้และที่ดินในเขตภาคเหนือได้เลย สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของนโยบายรัฐได้อย่างสิ้นเชิง

ในขณะที่ นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด กองเลขานุการ สกน. กล่าวว่า ที่รัฐพยายามจะนำ มติ ครม.วันที่ 30 มิ.ย.2541 มาบรรจุในวาระการประชุม ครม.สัญจร ที่ จ.พะเยา ในครั้งนี้ ก็เนื่องจากว่า รัฐยังอ้างว่าพื้นที่ป่าทั้งหมด นั้นเป็นของรัฐ และพยายามจะจำกัดคนออกจากป่าให้หมด และรัฐกำลังต้องการนำพื้นที่ป่า มาส่งเสริมให้มีการปลูกยาพารา และเลี้ยงโคเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งจัดทำเป็นป่าเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นความล้มเหลวในเชิงนโยบาย เพราะยิ่งจะทำให้มีการสร้างระบบบริโภคนิยม ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านเป็นหนี้สินเพิ่มขึ้น กลายเป็นคนยากจนมากยิ่งขึ้น

"จากเหตุผลดังกล่าว ทาง สกน.และองค์กรประชาชนภาคเหนือ จึงขอเสนอข้อเรียกร้องนี้ต่อการประชุม ครม.สัญจร ในวันที่ 13-14 มิ.ย.นี้ ที่จ.พะเยา ขอให้ถอนวาระการประชุม ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาสิทธิในที่ดินแบบบูรณาการ เร่งรัดให้ดำเนินการตามมติ ครม.วันที่ 30 มิ.ย.2541 และมติ ครม.วันที่ 11 พ.ค.2542 ออกจากการพิจารณาของ ครม.สัญจร ที่ จ.พะเยา โดยทันที" ตัวแทน สกน. กล่าว

ตัวแทนของ สกน.ยังกล่าวอีกว่า และขอให้ ครม.ยืนยันผลการแก้ไขปัญหาตามผลการเจรจาและการแก้ไขปัญหา สกน. ตามมติครม.วันที่ 9 เม.ย.2545, วันที่ 25 ก.พ.2546, วันที่ 7 เม.ย.2547 และวันที่ 29 มิ.ย.2547 เพื่อให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็ว และขอให้ดำเนินการปรับกลไกโครงสร้าง คณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว ภายใต้สัดส่วนระหว่างตัวแทน สกน.กับภาครัฐราช การที่เท่าเทียมกันภายใน 15 วัน และเร่งให้มีการจัดประชุม ภายใน 30 วัน นับจากการแต่งตั้ง อีกทั้ง ขอให้รัฐบาลเร่งประสานงานและผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

องอาจ เดชา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net